13 วัน อุปสมบทหมู่ ณ แดนพุทธภูมิ ในร่มบารมีธรรม สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ได้กล่าวถึง “คติธรรม” ของเจ้าประคุณ “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” 2 ข้อ 1) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุดสำเร็จด้วย “ใจ” 2) ถึงเหน็ดเหนื่อย เพียงใด ใจไม่ท้อ หวังเพียงก่อ สร้างบุญไว้ ในพระศาสนา อุปัชฌาย์ เจ้าให้เป็น “ลูกพระศาสดา” ดำรงพระศาสนา ให้คงอยู่ ดูโลกเอย และ “วปก.20” วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร อุปสมบทหมู่ ณ แดนพุทธภูมิ “อินเดีย-เนปาล” ในร่มบารมีธรรมถวายเป็นพุทธบูชา “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” 13 วัน ระหว่างวันที่ 8-20 ธันวาคม 2561 ณ สาธารณรัฐอินเดีย ผู้เขียนขออนุญาตรายงานเล่าสู่กันฟังถึงศาสนกิจที่สำคัญๆ ในแต่ละวัน กล่าวคือ :

รายนามผู้บรรพชาอุปสมบทหมู่รุ่น วปก.20 ปีนี้มีจำนวน 95 ท่าน โดยการนำของเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี นำพาคณะผู้เข้าร่วมโครงการ เดินทางสู่ “วัดป่าพุทธคยา” โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD 8901 ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง เวลา 07.00 น. ถึงท่าอากาศยาน “คยา” เมืองพุทธคยา เวลา 09.30 น. (เวลาท้องถิ่นช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง 30 นาที)

วันแรกของโครงการ (8 ธ.ค.61) : เมื่อคณะเดินทางสู่วัดป่าพุทธคยา พิธีการบรรพชาอุปสมบท ณ เขตพัทธสีมา “อุโบสถ วัดป่าพุทธคยา” โดยเริ่มเวลา

13.00 น. : หลังจากทุกท่านได้เข้าทำพิธีผ่านบวชเณรแล้ว จะเข้าสู่พิธีการบรรพชาอุปสมบท ครั้งละ 3 ท่าน โดยมี “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” เป็นพระอุปัชฌาย์ ทั้ง 95 รูป โดยมี “พระราชกิตติมงคล” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทั้งหมดเสร็จสิ้นรูป

Advertisement

สุดท้ายเวลา 23.30 น. ของคืนวันที่ 8 ธ.ค. 2561 ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเศษ ติดต่อกันโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

วันที่ 2 (9 ธ.ค.61) พุทธคยา มหาโพธิเจดีย์ สัตตมหาสถาน

06.00 น. คณะพระนวกะ บิณฑบาต ณ Hotel Mahabodhi resort

07.00 น. ฉันภัตตาหารเช้า

08.30 น. พระนวกะพร้อมคณะ ทำวัตรเช้า เจริญพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม

11.00 น. พระนวกะ ฉันภัตตาหารเพล

13.00 น. พระนวกะและคณะเดินทางสู่ “วัดมหาโพธิมหาวิหาร” ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมกับพระพุทธองค์และเป็นสถานที่ที่… “พระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิตธัตถะ” ประทับนั่งบำเพ็ญจนบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น… “พระพุทธเจ้า” พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปองค์ประธานใน… “พระมหาโพธิเจดีย์” ที่มีอายุกว่า 1,400 ปี และเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่รอดพ้นจากการถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า ชมสัตตมหาสถาน สถานที่ ทั้ง 7 ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขแห่งการหลุดพ้น) ตลอด 7 สัปดาห์ (49 วัน) หลังการ “ตรัสรู้”

15.00 น. พระนวกะพร้อมคณะ ทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ เวียนเทียนรอบ “มหาโพธิเจดีย์” 3 รอบใหญ่

วันที่ 3 (10 ธ.ค.61) : พุทธคยา สุชาฎากุฎี แม่น้ำเนรัญชรา พระมหาโพธิเจดีย์ 06.00 น. บิณฑบาต ณ Hotel Mahabodhi resort

08.30 น. พระนวกะพร้อมคณะ ทำวัตรเช้า เจริญพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม ณ มหาโพธิเจดีย์

11.00 น. ฉันภัตตาหารเพล

13.00 น. พระนวกะพร้อมคณะ เดินทางสู่… “สถูปสุชาฎากุฎี” สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้าน…นางสุชาดา ธิดาของคหบดีผู้มั่งคั่งแห่ง… “ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม” ผู้เป็นมหาอุบาสิกา คนสำคัญที่ได้ถวายข้าวมธุปายาสพร้อมถาดทองคำ ซึ่งเป็นอาหารมื้อสำคัญก่อนที่พระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะจะได้ใช้ถาดทองคำลอยถาดอธิษฐานและได้ประทับบำเพ็ญเพียรจนได้..ตรัสรู้เป็น… “พระพุทธเจ้า”

15.00 น. พระนวกะพร้อมคณะทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ เวียนเทียนรอบพระมหาโพธิเจดีย์ 5 รอบใหญ่

วันที่ 4 (11 ธ.ค.61) พุทธคยา วัดนานาชาติ วัดไทยในพุทธคยา พระมหาโพธิเจดีย์

06.00 น. บิณฑบาต ณ Hotel Mahabodhi resort

07.00 น. ฉันภัตตาหารเช้า

08.30 น. พระนวกะและคณะทำวัตรเช้า เจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม ณ มหาโพธิเจดีย์

13.00 น. เดินทางสู่วัดนานาชาติที่ได้รับการเชิญชวนให้มาร่วมสร้างวัดขึ้นในบริเวณ… “วัดมหาโพธิมหาวิหาร” ในสมัยกึ่งพุทธกาลโดยมีรัฐบาลไทยตอบรับมาสร้างวัดเป็นประเทศแรก คือ “วัดไทยพุทธคยา” และมีประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ รัฐภูฏาน วัดทิเบต วัดญี่ปุ่น วัดจีน วัดเวียดนาม รวมทั้งวัดไทยที่มาสร้างขึ้นภายหลังอีกจำนวนมาก เช่น วัดป่าพุทธคยา วัดเนรัญชราวาส วัดเมตตาพุทธาราม วัดไทยพุทธภูมิ เป็นต้น

15.00 น. พระนวกะพร้อมคณะทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ เวียนเทียนรอบพระมหาโพธิเจดีย์ 9 รอบใหญ่

วันที่ 5 (12 ธ.ค.61) : พุทธคยา-ราชคฤห์-คิชฌกูฏ

06.00 น. คณะพระนวกะ บิณฑบาต ณ Hotel Mahabodhi resort

07.00 น. ฉันภัตตาหารเช้า

08.30 น. พระนวกะพร้อมคณะทำวัตรเช้า เจริญพระพุทธมนต์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ วัดมหาโพธิมหาวิหาร

11.00 น. ฉันภัตตาหารเพล

13.00 น. ออกเดินทางสู่เมือง “ราชคฤห์” เมืองหลวงของแคว้นมคธสมัยพุทธกาลเป็นเมืองในหุบเขาที่มีภูเขาล้อมรอบ 5 ลูก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เบญจคีรีนคร” อันได้แก่ อิสิคิรี บัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ และเวปลละ

จากนั้นพระนวกะและคณะ ขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ สถานที่เงียบสงัดเหมาะสำหรับเจริญจิตภาวนา ด้วยบรรยากาศและอากาศที่เหมาะสม เป็นที่โน้มน้าวจิตใจให้ใสสะอาดได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงมักเสด็จมาประทับที่นี่เสมอ โดยระหว่างทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ที่เป็นภูเขาที่เอียงลาดยาวขึ้นไปทางขึ้นไม่ลำบาก เมื่อจวนจะถึงยอดเขาก็จะเห็นบริเวณที่พระเทวทัตคิดทำร้ายพระพุทธเจ้า โดยพระเทวทัตแอบขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ แล้วงัดก้อนหินใหญ่ลงมา หวังจะปลงพระชนม์พระบรมศาสดา แต่กลับมีเพียงสะเก็ดหินได้กระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิตและหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าก็ถวายการรักษา

จากนั้นก็ผ่านถ้ำพระโมคคัลลานะ และถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร) ถ้ำที่พระอัครสาวกได้บรรลุธรรม

พระนวกะและคณะ ร่วมทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา ณ มูลคันธกุฏี กุฏิของพระพุทธเจ้าบนยอดเขาคิชฌกูฏ

วันที่ 6 (13 ธ.ค.61) เวฬุวัน-นาลันทา-ไวสาลี

06.00 น. พระนวกะ บิณฑบาต ณ โรงแรม Hotel indo Hokke

07.00 น. ฉันภัตตาหารเช้า

08.30 น. พระนวกะพร้อมคณะ ทำวัตรเช้า เจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือพระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี และยังเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสาวกจำนวน 1,250 รูป อันเป็นที่มีของ “วันมาฆบูชา” จากนั้นนำชม “ตโปธาราม” (บ่อน้ำร้อนโบราณ) สถานที่อาบน้ำของชาวฮินดู มาที่นี่เราจะได้เห็นการแบ่งชนชั้นวรรณะของชาวอินเดียกันอย่างชัดเจน

11.00 น. ฉันภัตตาหารเพล 12.30 น. ออกเดินทางสู่เมืองนาลันทา สักการะ “หลวงพ่อองค์ดำ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่มีพุทธลักษณ์ มีพระเกตุทรงบัวตูม ปางขัดสมาธิ พระหัตถ์ชี้แม่พระธรณีเป็นพยานหน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สร้างในสมัยพระเจ้าเทวปาล เมื่อประมาณ พ.ศ. 1353-1393 ถูกเศษอิฐและหินทับถมลงใต้แผ่นดินเป็นเวลานานเกือบ 7 ศตวรรษ ทั้งนี้ความศักดิ์สิทธ์ของหลวงพ่อ ก็คือ ตำนานแห่งการรักษาโรคโดยเชื่อว่าหากนำน้ำมันเนยไปลูบทาและชโลมให้ทั่วองค์พระแล้วนำน้ำมันเนยที่องค์หลวงพ่อนั้นมาลูบไล้บริเวณที่เจ็บป่วย ก็จะแข็งแรงหายป่วยเป็นอัศจรรย์ จากนั้นชมมหาวิทยาลัยนาลันทา เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 และมีการสร้างติดต่อกันเรื่อยมาอีกหลายยุคหลายสมัย โดยประสงค์จะให้เป็นสถานศึกษาแก่พระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาจนได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก”

15.00 น. เดินทางสู่เมืองไวสาลี

16.00 น. พระนวกะและคณะทำวัตรเย็นบนรถบัสแต่ละคัน

วันที่ 7 (14 ธ.ค.61) ป่ามหาวัน-กุสินารา-ปาวาลเจดีย์-เกสะรียา

06.00 น. พระนวกะบิณฑบาต ณ โรงแรม Hotel Vaishali

07.00 น. ฉันภัตตาหารเช้า

08.30 น. พระนวกะและคณะทำวัตรเช้า เจริญพระพุทธมนต์ ณ กูฏาคารศาลา สถานที่สำคัญแห่งกำเนิด “น้ำพระพุทธมนต์” และทางภิกษุที่กูฏาคารศาลาแปลว่า ศาลาเสียดยอด นับเป็นวัดแห่งแรกในเมืองแคว้นวัชชี อันมีเมืองหลวงชื่อว่าไพศาลี โดยสาเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองไพศาลีนั้น ที่กำลังเผชิญโรคห่าที่ทำให้มีคนตายเป็นเบือ พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ทำน้ำพระพุทธมนต์ ด้วยบทว่า “ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา ฯลฯ” พระพุทธองค์ทรงนั่งบริกรรมอยู่ที่หน้าเมืองอยู่จนสว่าง ส่วนพระอานนท์ก็ประพรมน้ำพระพุทธมนต์อยู่จนรุ่งสางเช่นกัน ครั้นวันใหม่ เมืองไพศาลีได้กลับเข้าสู่สภาพเดิม ประชาชนกลับมามีชีวิตเป็นปกติสุขอีกครั้ง

ทั้งนี้ ณ กูฏคารศาลาแห่งนี้ พระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระแม่น้าของพระบรมศาสดา เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์มาทูลขอบรรพชาเป็นพระภิกษุณี และได้รับพระบรมพุทธานุญาต ณ ที่แห่งนี้ กูฏาคารศาลาจึงเป็นสถานที่กำเนิดของ “พระภิกษุณีเป็นครั้งแรกในโลก”

11.00 น. ฉันภัตตาหารเพล

12.30 น. พระนวกะและคณะ ออกเดินทางสู่เมืองกุสินารา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ระหว่างทางจะได้สักการะปาวาลเจดีย์ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ณ บ้านเวฬุคาม นอกเมืองไวสาลี โดยตรัสขณะที่หันทอดพระเนตรเมืองไวสาลี พร้อมตรัสว่า “ไวสาลีเอ๋ย ข้าฯ มาครั้งนี้ได้มาเห็นเจ้าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จากนี้อีก 3 เดือนข้างหน้าเราจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน” จากนั้นเดินทางสู่มหาเจดีย์เกสะรียา พระมหาสถูปโบราณที่มีความกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1,400 ฟุต สูงถึง 51 ฟุต (เดิมอาจสูงถึง 70 ฟุต) ซึ่งทำให้มหาสถูปโบราณที่ค้นพบใหม่นี้กลายเป็นมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ชเวดากองและพระมหาสถูปบุโรพุทโธ ซึ่งทำให้ผู้สันนิษฐานว่ามหาสถูปแห่งเกสะริยานี้เป็นต้นแบบของมหาสถูปทั้งสอง โดยมหาสถูปแห่งเกสะรียาเป็นสถูปเดียวกับที่ปรากฏในบันทึกของพระถังซำจั๋ง ที่เคยจาริกแสวงบุญมายังสถานที่แห่งนี้ ท่านได้กล่าวไว้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของพระมหาสถูปที่ประดิษฐานบาตรของพระพุทธองค์ที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ชาววัชชีเมืองไวสาลีที่ตามมาส่งเสด็จพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเสด็จไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

16.00 น. ทำวัตรเย็น บนรถบัสแต่ละคัน

วันที่ 8 (15 ธ.ค.61) กุสินารา

06.00 น. บิณฑบาต ณ โรงแรม Lotus nikko

07.00 น. ฉันภัตตาหารเช้า

08.30 น. ทำวัตรเช้า ณ สาลวโนทยาน พุทธปรินิพพานวิหาร สาลวโนทยาน คือ ส่วนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

จากนั้นคณะพระนวกะ จะได้ร่วมกันทำวัตรเช้า เจริญพระพุทธมนต์ และเจริญภาวนา ณ สถูปปรินิพพาน ซึ่งนับเป็นพุทธสังเวชนียสถานหนึ่งในสี่ตำบลที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าอันนับเป็นบริโภคเจดีย์ คือ ที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน สถูปปรินิพพาน เป็นสถูปทรงโอคว่ำที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอดมน มีฉัตรสามชั้น

พร้อมทั้งเข้าสักการะ ภายใน “มหาปรินิพพานวิหาร” ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปไสยาสน์ตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้าง คือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อทินะ ชาวเมืองมถุราในปัจจุบัน

พระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษ คือ เหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง

11.00 น. ฉันภัตตาหารเพล

15.00 น. ทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ ณ มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระมีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ พระสถูปนี้วัดโดยรอบฐานได้ 46.14 เมตร และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 37.18 เมตร อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็น ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี ไงเล่าครับ…วันที่ 9 มีต่อฉบับหน้า

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอฝาก…“คติธรรมนำใจให้เบิกบาน” ตามแนวคิดแนวทางของท่านเจ้าประคุณ “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” ความว่า :

อันคนดี มิใช่ดี เพราะมีทรัพย์
มิใช่นับ โคตรเหง้า เผ่าพงษา

อันคนดี ดีด้วยการ งานนานา
มีวิชา และศีลธรรม ประจำใจ

พุทธศาสนา ค่าล้ำเลิศ ประเสริฐยิ่ง
เป็นสัจจริง ทุกอย่าง อย่าวางเฉย

เมื่อพบแล้ว รัตนะ อย่าละเลย
มัวเฉยเมย หมดโอกาส พลาดของดีฯ

ประพฤติธรรม สำคัญ อยู่ที่จิต
ถ้าตั้งผิด มัวหมอง ไม่ผ่องใส

ถ้าตั้งถูก ผุดผ่อง ไม่หมองใจ
ตั้งสติไว้ ให้คุมจิต ไม่ผิดธรรม

เราจะสุข หรือทุกข์ เพราะเราสร้าง
กรรมต่างหาก ที่เราทำ นำสนอง

เราทำดี มีสุขได้ สมใจปอง
ทำชั่วต้อง ได้ทุกข์แท้ แน่นอนเอย…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image