ปะทะ ความคิด : กรณี เครื่องแบบ นักเรียน : ใหม่ ปะทะ เก่า

ทําไมกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องออกมาติด “ดิสก์เบรก” ให้กับกระบวนการวิจัยของกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในเรื่อง “เครื่องแบบ”

ตั้งแต่ระดับ “กรม” กระทั่งระดับ “กระทรวง”

ทั้งๆ ที่สิ่งที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยปฏิบัติเสมอเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ “งานวิจัย” กำหนดให้เป็น 1 ใน 7 วัน

ให้ “นักเรียน” แต่งกายตามสบาย ไม่ต้องมี “เครื่องแบบ”

Advertisement

ปรากฏว่า เมื่อภาพเผยแพร่ทาง

“โซเชียลมีเดีย” และแผ่กว้างออกไปตามสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าโทรทัศน์

ผลสะเทือนทั้ง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย”

แนวโน้มที่จับกระแสได้ คือ ความตื่นเต้น ละลานตา และเห็นว่าเป็นภาพน่าทดลอง น่าให้มีอย่างกว้างขวางทำท่าจะพัฒนาขึ้นเป็นกระแสหลัก

จึงจำเป็นต้องออกมาติด “เบรก” โดยพลัน

ถามว่ากรณีของเครื่องแบบอันนำเสนอมาโดยกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเหตุใดจึงพัฒนากลายเป็น “กระแส” อย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่ง

1 เป็นเพราะเรื่องของ “วัยรุ่น”

ขณะเดียวกัน 1 เป็นเพราะว่า

“วัยรุ่น” ยุคใหม่มีสายสัมพันธ์อยู่กับออนไลน์ อินเตอร์เน็ต ไม่ว่าไลน์ ไม่ว่าเฟซบุ๊ก ไม่ว่าอินสตาแกรม อย่างแนบแน่น

ถามว่ากระแส “เลื่อนแม่ง” เริ่มต้นมาจากจุดใด

ถามว่ากระแส “ยุติธรรมแบบป้อม ป้อม” หรือแม้กระทั่งการทะยานของช่วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งชื่อพรรคดำเนินการมาอย่างไร

ตอบได้เลยว่า เริ่มต้นมาจาก “วัยรุ่น”

การที่กรณีเครื่องแบบได้ขึ้นสู่กระแสสูงด้วยอัตราเร่งอันรวดเร็วย่อมสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าความรู้สึกโดยพื้นฐานของนักเรียนเป็นอย่างไร

นี่คือ การปะทะระหว่างค่านิยม “ใหม่” กับ “เก่า” อันแหลมคมยิ่ง

ความจริง ช่องว่างระหว่างวัยอันสำแดงผ่านการปะทะในทางความคิด ในทางการปฏิบัติดำรงอยู่อย่างยาวนานแล้วเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ความเป็น “สมัยใหม่”

แต่รู้สึกหรือไม่ว่า 5 ปีใต้ยุค “คสช.” มีความร้อนแรงอย่างเป็นพิเศษ

ด้านหนึ่ง เป็นเพราะ คสช.นำเอาระบอบเผด็จการโดยทหารย้อนกลับมาหลังจากเกิดกระแสต้านตั้งแต่ยุคเดือนตุลาคม 2516 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2535

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เป็นเพราะ คสช.คือตัวแทนแห่ง “ยุคเก่า”

ไม่เพียงแต่ใช้กระบวนการ “รัฐประหาร” มาเป็นฐานแห่งอำนาจ หากแต่สิ่งที่พยายามโฆษณาอย่างต่อเนื่องอย่างเช่น “ค่านิยม 12 ประการ”

ดำเนินไปในลักษณะ “ย้อนยุค” เหมือนละคร “พีเรียด”

พลันที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยวิจัยโดยผ่านกระบวนการทดลองไม่แต่ง “เครื่องแบบ” เพื่อหยั่งวัดกระแสในทางสังคม เท่านั้นแหละเกิดปรากฏการณ์อย่างชนิดที่เรียกว่า “บิ๊กเปรี้ยง”

ตะกอนอันนอนก้นในกระทรวงจึงสำแดงตัวตนออกมา

กระทรวงศึกษาธิการอาจสามารถ “สกัด” การทลายกรอบแห่งเครื่องแบบด้วยการยื้อยุคเอาไว้ได้ อย่างน้อยก็ในยุคของ คสช.

แต่นั่นก็เสมอเป็นเพียง “ชั่วคราว”

ชั่วคราวเหมือนการดำรงอยู่ของรัฐบาลหลังรัฐประหาร ชั่วคราวเหมือนการปรากฏขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เมื่อถึงกาละอันเหมาะสม ความคิดใหม่อย่างนี้ก็ต้องปรากฏตัวขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image