น.3คอลัมน์ : ปมลึก เลือกตั้ง ปัญหา บริหาร จัดการ คสช. กับ กกต.

นับแต่เกิดสถานการณ์ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งตามที่รัฐบาลเคยบอกว่าน่าจะเป็นภายในวันที่ 2 มกราคม

ก็นำไปสู่สถานการณ์สับสนของ “วันเลือกตั้ง”

พลันที่ นายวิษณุ เครืองาม นำเอาสารทั้งจาก 1 คสช. และ 1 รัฐบาลไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 3 มกราคม

ก็ยิ่งทำให้ความสับสนของ “วันเลือกตั้ง” อยู่ในสถานการณ์ โก โซ บิ๊ก

Advertisement

1 หากไม่เลือกตั้งภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็ไม่ควรจะเกินวันที่ 10 มีนาคม ขณะเดียวกัน 1 มีข้อเสนอว่าจะต้องเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม โดยทั้งหมดนี้มีความเห็นร่วมเพียงประการเดียว คือ จะต้องเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนงานพระราชพิธีในเดือนพฤษภาคม

กระนั้น ข้อมูล 1 ซึ่งมิอาจปฏิเสธได้ก็คือ กกต.มีความพร้อมในการจัดเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือในวันที่ 10 มีนาคม ก็ตาม

ความพร้อมของ กกต.นี้สำคัญ

Advertisement

หากนับจากที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งจากที่เคยปรากฏผ่าน “ปฏิญญาโตเกียว” มาเป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” ก็เกิดความรู้สึกร่วมว่า

ทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของ “คสช.”

เพราะคนที่ประกาศต่อ ชินโสะ อาเบะ เพราะคนที่ประกาศในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติก็มาจากคนคนเดียวกัน

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หัวหน้ารัฐบาล

ยิ่งเมื่อมีการเลื่อนจาก “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ไปสู่ “ปฏิญญาทำเนียบขาว” และ “ปฏิญญาลอนดอน” ก็ยังเป็นคนคนเดียวกัน

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หัวหน้ารัฐบาล

แม้คนที่แสดงบทบาทเป็นกองหน้าในการเลื่อนวันเลือกตั้งหลังสุดจะเป็น นายวิษณุ เครืองาม แต่ก็เป็นการสำแดงบทบาทในฐานะตัวแทนของคนสำคัญคนอื่นอยู่นั่นเอง

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หัวหน้ารัฐบาล

ในเมื่อไม่ว่า กกต. ไม่ว่าพรรคการเมืองล้วนมีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะจัดการเลือกตั้ง ที่จะเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง

คำถามที่ว่าความไม่พร้อมอยู่ที่ใด จึงมีคำตอบแจ่มชัด

ผลก็คือ หลายคนหวนนึกไปถึงยุทธการคว่ำยกร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุม สปช. เมื่อเดือนกันยายน 2558 อันเป็นรากฐานที่มาของบทสรุปที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

เพราะการแสดงบทบาทนำในเรื่องนี้คือ คสช. คือ รัฐบาล

แม้จะมีวิวาทะหลากหลายเป็นอย่างยิ่งในเรื่องผลสะเทือนอันเนื่องจากการเลื่อนวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะในด้านดี ไม่ว่าจะในด้านร้าย

แต่บทสรุปก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือ บ่งชี้ความไม่พร้อมของ คสช. ความไม่พร้อมของรัฐบาล

เท่ากับสะท้อนสถานการณ์พิเศษของการเลือกตั้ง ที่ คสช.และรัฐบาลยังไม่ปล่อยให้ กกต.ดำเนินการไปได้อย่างเป็นอิสระให้สมกับได้ชื่อว่าเป็น “องค์กรอิสระ”

เท่ากับสะท้อนให้เห็นปัญหาจากการบริหารจัดการอย่างเป็นด้านหลัก

หาก กกต.ดำรงสถานะแห่ง “องค์กรอิสระ” อย่างแท้จริง โดย คสช.และรัฐบาลไม่พยายามเข้าไปครอบงำหรือบงการ ปัญหาการเลือกตั้งก็จะดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน

เมื่อมี 1 รัฐธรรมนูญ และเมื่อมี 1 พ.ร.ป.อันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

นั่นหมายถึง รัฐบาลก็หวนกลับไปทำหน้าที่บริหารตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ นั่นหมายถึง กกต.ก็เดินหน้าทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ

ความไม่เป็นธรรมชาติ ความไม่เป็นปกติ นั่นเองคือปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image