วันครู รัฐบาลดูแล‘ครูเอกชน’ด้วย : โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

เจ้าของโรงเรียนเอกชนมักจะถูกมองด้วยสายตาตกเป็นจำเลยทางสังคม โดยเพ่งมองไปเห็นตรงที่ทำให้เข้าใจว่าเป็น “ธุรกิจการศึกษา” แท้ที่จริงเป็นการมองแบบให้ร้ายกันเกินไป

ความจริง ต้องมองให้ถูกต้องตามหลักการ และมองให้เห็นการบริการการศึกษาของทั้งประเทศแบบองค์รวม (Holistic) สังคมจะได้เห็นว่าเจ้าของโรงเรียนเอกชนเป็น “ผู้เสียสละ” ต่างหาก ยิ่งเจ้าของโรงเรียนเอกชนที่เป็นมูลนิธิ เป็นนักเผยแผ่ศาสนา ยิ่งเป็นผู้เสียสละ เสียสละอย่างไร ขอกล่าวเพียง 2 ประการ ดังนี้

1.แบ่งเบาภาระของรัฐ หากรัฐต้องโอบอุ้มการศึกษาของเยาวชนและประชาชนทั้งประเทศไว้แต่เพียงเจ้าเดียว ผู้เขียนมั่นใจว่าประเทศชาติเราล่มจมแน่ๆ เนื่องจากจะเอางบประมาณมาจากไหนมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งหมด โดยเฉพาะงบประมาณเรื่องที่ดินสิ่งก่อสร้าง วัสดุครุภัณฑ์ และเงินเดือนบุคลากรครู

2.สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้เขียนก็มั่นใจว่าถ้าเราขาดการจัดการศึกษาของฟากเอกชนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนดูแล คุณภาพการศึกษาของเราก็จะยิ่งต่ำกว่านี้ไปอีกหลายเท่าตัว อาจจะถึงขั้น
“ดิ่งเหว” เลยก็ว่าได้

Advertisement

สองประการข้างต้นเป็นเหตุผลได้ว่าประเทศเราขาดการบริการศึกษาที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดเพื่อบริการประชาชนไม่ได้

จากการเป็นผู้สอนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู นักศึกษาปริญญาโท และจากการพูดคุยสนทนาเมื่อไปบริการวิชาการต่างๆ ให้แก่บุคลากรครูของโรงเรียนเอกชน ทำให้ทราบว่าครูโรงเรียนเอกชนได้รับการดูแลจากรัฐน้อยมาก ทั้งในลักษณะของเงินเดือนที่รัฐสนับสนุน และสวัสดิการอื่นๆ ที่รัฐควรมีให้แก่ผู้ที่เข้ามาแบ่งเบาภาระด้านการบริการการศึกษาของชาติ

รัฐบาลไหนๆ ก็รู้ดีว่าประชาชนนิยมส่งลูกเข้าศึกษาโรงเรียนเอกชนมากกว่าโรงเรียนของรัฐบาล ยิ่งการศึกษาระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยิ่งเห็นชัดเจนมาก ยิ่งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หาดใหญ่ และในอำเภอเมืองทุกจังหวัดก็ยิ่งชัด ขนาดประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ปากกัดตีนถีบ รายได้ต่ำ จำนวนไม่น้อยก็ยัง “กระเสือกกระสน” ส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ทั้งที่ค่าใช้จ่ายสูงกว่า บางโรงเรียนสูงมาก ผู้เขียนคงไม่ต้องอธิบายซ้ำ เนื่องจากเขียนแสดงเหตุผลข้อ 2 ไว้แล้วข้างต้น พ่อแม่ไหนๆ ก็อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

Advertisement

ภายใต้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนที่สูงกว่าของรัฐนั้น เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือเจ้าของโรงเรียนเอกชนใช้หลักการบริหารการศึกษาแบบการบริหารธรุกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูก ครูเอกชนจึงทำงานหนักมาก

ครูโรงเรียนของรัฐบาลก็ทำงานหนักเช่นกันนั่นแหละ แต่ครูโรงเรียนรัฐบาลในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่มีเงินเดือนสูงกว่าครูโรงเรียนเอกชน อาจจะเท่าๆ กันช่วงเริ่มต้น แต่หลังจาก 10 ปีขึ้นไปครูโรงเรียนรัฐบาลที่เป็นข้าราชการเงินเดือนจะเริ่มสูงกว่าเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน และจากนั้นก็จะเริ่มสูงขึ้นๆ อย่างทิ้งช่วงชัดเจน และครูโรงเรียนรัฐบาลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะ คศ.3 คศ.4 ก็จะได้รับเงินประจำตำแหน่งวิทยฐานะ จึงทำให้เงินเดือนครูโรงเรียนรัฐบาล ยิ่งสูงเข้าไปอีก และมีสวัสดิการอื่นๆ ให้ ตามระบบระเบียบราชการ เช่น ที่พัก ค่าเช่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลตนเอง บุตร คู่สมรส และบุพการี ดังที่เราทราบกันอยู่

และที่สำคัญที่สุดคือครูโรงเรียนรัฐบาลได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุ ตรงนี้แหละที่ต่างกันชัดเจน และเป็นแรงจูงใจ (Motivation) ให้ครูโรงเรียนเอกชน “สมองไหล” เข้าสู่ระบบราชการ อย่างไม่มี “ห้ามล้อ” ไหนจะมาหยุดได้ เป็นปัญหาใหญ่โตให้โรงเรียนเอกชนเกิดภาวะครูลาออกบ่อยเกินไป ต้องสรรหาครูใหม่ทดแทนครูเก่าอยู่เรื่อย ทุกปีการศึกษา และบางครั้งมอบหมายให้ครูที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวุฒิเป็นผู้สอนวิชาต่างๆ

ครูโรงเรียนเอกชนที่ตัดสินใจอยู่ในระบบเอกชนตลอดไป ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองของชีวิตการทำงานด้วยเหตุผลต่างๆ หลายอย่าง จึงเป็นคนที่น่าเห็นใจมากๆ และก็ทำงานหนักตลอดชีวิตครู หากลองคลี่ข้อมูลที่ผู้เขียนได้มากล่าวให้ตรงๆ เพื่อสนับสนุนว่าครูโรงเรียนเอกชนทำงานหนักมากอย่างไร ผู้เขียนมีข้อมูล ดังนี้

1.การแข่งขัน (Competitions) ของระบบโรงเรียนเอกชนมีสูงมาก เป็นไปตามหลักการบริหารธุรกิจคือลูกค้าจะติดสินใจรับบริการจากผู้ผลิตที่สินค้ามีคุณภาพสูง และการบริการดี โรงเรียนเอกชนในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มปฐมวัย และประถมศึกษา มีการแข่งขันกันอุตลุด ตัวชี้วัดที่สำคัญคือการที่นักเรียนจบ ป.6 แล้วสามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ เรื่องการอ่านออกเขียนได้ตามหลัก 3R ที่รัฐบาลมีนโยบายนั้น เป็นจุดสตาร์ตที่โรงเรียนเอกชนผ่านมาตั้งนานแล้ว

2.การให้คุณให้โทษ และการประเมินผลการทำงานของระบบเอกชนเป็นไปตามหลักประสิทธิผลของการทำงาน (Performance) ไม่มีการ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือ “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร” และการประเมินเป็นไปตามหลักความพึงพอใจ (Satisfactions) ของผู้รับบริการ ซึ่งหมายถึงผู้ปกครอง ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนจึงต้องทำงานหนักมาก ไม่มีใครสามารถ “เช้าชามเย็นชาม” ได้

การที่ผู้เขียนเสนอให้รัฐบาล คสช. ดูแลครูเอกชนให้มากขึ้นนั้น นับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเป็นการ “ปฏิรูประบบการศึกษา” ของเรา และผู้เขียนมั่นใจว่าเรื่องนี้สำคัญมาก หากปฏิรูปเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเรื่องอื่น เช่น การยุบโรงเรียนรัฐบาลที่มีขนาดเล็กลง โรงเรียนจำนวนนักเรียนลดน้อยลงอย่างมีพัฒนาการ จนทำให้อัตราครูเกินจำนวนที่พึงมี เพื่อประหยัดงบประมาณการบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งเรื่องการลดภาระงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็นให้ครู และสถานศึกษา คืนสถานศึกษาให้เป็นของชุมชน คืน ผอ.ให้เป็นของโรงเรียน คืนครูให้เป็นของนักเรียน เป็นต้น การศึกษาของเราจะก้าวกระโดดแน่ๆ

หากครูโรงเรียนเอกชนได้รับการดูแลจากรัฐบาลให้มากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ ขวัญกำลังใจ และความมั่นคงในหน้าที่การงาน เชื่อแน่ว่าการศึกษาของโรงเรียนเอกชนจะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่พูดๆ กันจนเป็นวาทกรรม (Discourse) น่าจะศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ฉุดให้การศึกษาของเราที่ “ติดหล่ม” ให้ “ถอนล้อ” ออกมาได้แน่นอน

รัฐบาลโปรดอย่าลืมว่าครูโรงเรียนเอกชนก็เป็นครูของประเทศนี้เหมือนกัน และเขาขาดการเหลียวมองจากรัฐมานานนักแล้ว

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image