ฝุ่นพิษคุกคาม ชีวิตชาวบ้าน อนาคตผู้นำ

สถานการณ์ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่เกินมาตรฐาน คือมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม ตรวจพบค่าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 50 ไมครอนอยู่ที่ 61-98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

14 มกราคม อยู่ที่ 60-81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เมื่อวันที่ 15 มกราคม ว่า

Advertisement

คุณภาพอากาศโดยรวมยังคงอยู่ในระดับ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ”

โดยสถานีวัดคุณภาพอากาศแสดงผลค่าฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐาน 22 พื้นที่

และคาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศในวันที่ 16 มกราคม จะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

Advertisement

14 มกราคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

ให้มีการฉีดน้ำ รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสวมหน้ากาก และให้สำรวจว่าต้นตอมาจากไหน นอกจากนี้ ในเรื่องของฝนหลวงก็ได้มีการเตรียมการแต่ก็ต้องใช้เวลา

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ได้ประสานงานเพื่อบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. บก.จร. ขนส่ง กองทัพ กรมอุตุนิยมวิทยา ผวจ.ปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัด อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1.เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศ 2.แจกหน้ากากอนามัย N95 ในพื้นที่งานอุ่นไอรัก สวนลุมพินี บางคอแหลม จตุจักร บางกะปิ บางขุนเทียน

3.เข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 4.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า

5.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูงและระบบสาธารณูปโภค 6.การแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด เข้มงวดมิให้มีการจอดรถริมถนนสายหลัก 7.เข้มงวดการเผาขยะ 8.รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอด

9.การทำฝนเทียม

ประเด็นที่เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้นแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่

ประเด็นแรกคือต้นตอที่มาของปัญหา ที่ระบุว่ารัฐบาลมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้

กรีนพีซ ไทยแลนด์ ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ทำให้ผังเมืองถูก “ฉีก” เป็นการชั่วคราว

เปิดทางให้ประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือหลุมฝังกลบขยะ

โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกำหนดโซนผังเมืองก่อนหน้าจะมีคำสั่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี

ทำให้การขออนุญาตและอนุมัติการตั้งโรงไฟฟ้าขยะหรือเตาเผาขยะสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในระยะเวลา 1 ปี

โดยโรงงานเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่สามารถเพิกถอนใบขออนุญาตได้

แม้จะไม่ถูกต้องตามผังเมือง

รวมไปถึงการขาดการวางแผนเรื่องการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นพร้อมกันแทบทุกจุดทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับความไม่เอาจริงเอาจังในการดูแล อาทิ ไม่สั่งการให้มีการปกปิดพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งรถไฟฟ้าและอาคารสูง

ปริมาณฝุ่นละอองมลพิษย่อมเพิ่มขึ้น

ประเด็นต่อมา คือความเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา

ไม่มีภาพของผู้ใหญ่ “ถกข้อ” ลงมาทำงาน

มีแต่สั่งการด้วยวาจา

ในขณะที่เสียงเรียกร้องและความต้องการของประชาชนผู้เดือดร้อนจากปัญหา

ทั้งมากและเร่งด่วนกว่านั้น

เมื่อภาพที่ปรากฏคือไม่ได้ “ทุ่มใจ”

โอกาสที่จะ “ได้ใจ” ก็ลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image