Podcaster หน้าใหม่ที่ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ : โดย กล้า สมุทวณิช

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือแม้ว่าฝ่ายที่ชิงชังจะพยายามกำจัดอย่างไร และแม้ว่าเขาจะรอนแรมพ้นประเทศไทยไปเป็นเวลากว่าสิบปี แต่เมื่อใดก็ตามที่อดีตนายกฯทักษิณขยับตัวเชิงรุก ทุกครั้งย่อมจะเกิดแรงกระเพื่อมสั่นไหว

กระนั้นการเคลื่อนขยับครั้งล่าสุดเมื่อปลายถึงต้นปีนี้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาอันสุกงอมของการจะมี (หรือไม่มี) การเลือกตั้ง แต่การขยับตัวของผู้ที่เหมือนฐานรากสุดฝ่ายหนึ่งของขั้วความขัดแย้งในสังคมไทยนั้น กลับออกมาเป็นการจัดรายการพูดคุยทางอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า “Podcast”

คุณทักษิณเลือกที่จะถ่ายทอดเฉพาะ “เสียง” ของตัวเองในลักษณะพูดคุยกันในลักษณะ Podcast ที่มีเว็บไซต์ Thaksin Official เป็นแม่ข่าย และสามารถรับฟังได้ผ่าน Apple Podcast ซึ่งเป็น Application รับฟังรายการ Podcast ของทุกระบบในเครือข่าย Apple และอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่องทางรับฟัง Podcast ที่แพร่หลายที่สุด

เพียงวันเดียว Podcast ช่อง Good Monday ของคุณทักษิณเบียดขึ้นอันดับหนึ่งของ Podcast ไทยไปได้แบบที่ไม่น่าแปลกใจ

Advertisement

ที่เป็นเรื่องคาดไม่ถึงนั้นก็เพราะ Podcast คือช่องทางสื่อที่มีลักษณะบางอย่างที่ออกจะเฉพาะทางรวมถึง “กลุ่มเป้าหมาย” ของมันที่จำเพาะเจาะจง

ด้วย Podcast นั้นคือรูปแบบการถ่ายทอดเสียงผ่านเครือข่าย Internet ชื่อของมันเกิดจากการผสมกันของคำว่า iPod ที่เป็นเครื่องเล่นเพลงของ Apple กับคำว่า Broadcast ดังนั้นมันจึงกำเนิดมาตั้งแต่ยุคแพร่หลายของ iPod ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ราวปี 2003 ที่ในตอนแรกนั้นสามารถรับฟังได้ก็บน iPod และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลงโปรแกรม iTunes เอาไว้

ผมเองก็รู้จัก Podcast ในช่วงนั้น ที่เริ่มมีคนไทยจัดรายการ Podcast บ้างแล้วแต่ก็ถือว่าน้อยอยู่ คนไทยที่ฟัง Podcast ก็จะฟังรายการของต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า ก่อนที่มันจะกลับมาได้รับความนิยมในประเทศไทยอีกครั้งในราวต้นปีที่แล้ว (พ.ศ.2561) นี่เอง จากที่บรรดาผู้สร้างสรรค์เนื้อหา (Content) ออนไลน์ของไทยเริ่มหาช่องทางอื่น นอกจากข้อความตัวอักษรและคลิปวิดีโอ ช่องทางที่มีแต่เสียงของ Podcast จึงเหมือนแผ่นดินใหม่ โดยมีหัวหอกเป็นสื่อออนไลน์สำนักข่าวใหญ่อย่าง The Standard ที่มีช่องย่อยและรายการของตัวเองอยู่มาก

Advertisement

แต่ในความเห็นส่วนตัว ย้ำว่าส่วนตัวจริงๆ ของผม ความเติบโตของวงการ Podcast ไทยนั้นเริ่มต้นจากการจัดรายการช่อง Mission to the Moon ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัทศรีจันทร์สหโอสถ ตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งเขาจัดรายการทุกวันไม่เคยขาด ซึ่งแตกต่างจาก Podcaster รายก่อนหน้า ที่จะมากันแบบรายสะดวก หรือที่มีวินัยหน่อยก็กำหนดไว้หลวมๆ คือรายสัปดาห์บ้าง

อันนี้แม้แต่ของ The Standard เองในยุคแรกๆ ก็ยังเป็นอย่างนี้

การจัด Mission to the Moon ของคุณรวิศนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการ Podcast ไทย ก็เพราะว่าผู้ฟัง Podcast จะมั่นใจได้ว่าเมื่อเปิด App Podcast มาในแต่ละวันจะต้องมี Mission to the Moon ตอนใหม่ให้ฟังแน่นอน ทำให้การเปิด App Podcast ทุกวันเป็นกิจวัตรและความเคยชินของผู้ฟัง ดังนั้นเมื่อฟังรายการของ
คุณรวิศจบแล้วก็จะเริ่มหันไปจูนหรือค้นหารายการ Podcast ช่องอื่นหรือรายการอื่นฟังบ้าง และทำให้มีผู้หันมาจัด Podcast ตามคุณรวิศอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งทำให้เจ้าของ Podcast รายเดิมๆ เริ่มปัดฝุ่นปรับรายการของ
ตัวเองให้มีลักษณะของ “รายการประจำ” มากขึ้น

จนกระทั่งอดีตนายกฯผู้มีทั้งคนชอบและชังตัดสินใจออกมาจัด Podcast กับเขาบ้างนั่นแหละ

แล้วคุณทักษิณพูดอะไรใน Podcast ตอนแรก? ถ้าใครคาดหวังว่าจะได้ฟังเรื่องการเมืองหรือการเสียดสีแบบแสบคันเช่นที่เคยได้ผ่านหูผ่านตาจาก Twitter หรือ Instagram ของเขาเห็นจะผิดหวัง เพราะรายการ Good Monday ของคุณทักษิณนั้นออกจะเรียกได้ว่า “ปลอดการเมือง” โดยแท้จริง

ที่รู้สึกว่า “แฟร์มากๆ” อย่างหนึ่งคือคุณทักษิณแสดงความเป็นห่วงในสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอีกครั้ง แต่เขาไม่ได้กล่าวโทษ คสช.หรือรัฐบาลปัจจุบันเลย หากบอกว่ามันเป็นไปตามวงรอบวัฏจักรการเงินโลก และจากนั้นก็เป็นเรื่องของหุ่นยนต์ และ AI จะมาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ กับความก้าวหน้าทางการแพทย์ของโลกยุคต่อไป รายการ EP แรกจบลงด้วยการที่คุณทักษิณออกตัวว่า เขาจะมาจัด Podcast พูดคุยกันนี้ในวันจันทร์ตามชื่อรายการ แต่ไม่ใช่ “ทุกวันจันทร์” แต่จะเป็นวันจันทร์ที่สะดวก

ซึ่งเรื่องนี้โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าออกจะเป็นจุดแข็งที่ไปไม่สุด เพราะอย่างที่บอก คือการจัด Podcast ที่จะติดตลาดได้นั้นจะต้องจัดเป็นประจำ หรืออย่างน้อยก็มีกำหนดนัดชัดเจนกับผู้ฟัง อย่างหลวมๆ คือในวันไหนก็ได้ของทุกสัปดาห์ก็ยังดี (มิตรสหายท่านหนึ่งของผมจัด Podcast เกี่ยวกับหนังสือของเขาทุกวันหวยออก แม้จะดูแปลกและค่อนข้างทอดเวลานาน แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ของการคาดหวังได้)

อันนี้เลยฝากไปยังเจ้าตัวและทีมงานว่า หากอยากจะเอาจริงเอาจังในทาง Podcast อยากให้ลองหาวิธีจัดทุกวันจันทร์ดู จะสั้นจะยาวก็ได้ (เอาเข้าจริงๆ EP แรก 15 นาที ก็ถือว่าไม่ยาวนัก) แต่ถ้าแบบจันทร์ที่แล้วมี จันทร์นี้ก็มี จันทร์หน้าหายไป โผล่อีกจันทร์และหายไปสองจันทร์ อันนี้คนฟังอาจจะหายตาม

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่เพิ่งผ่านมานี้ (21 ม.ค.62) คุณทักษิณก็จัด Good Monday EP2 ที่พูดถึงปัญหาฝุ่นควันและการจัดการในประเทศจีน ซึ่งก็เป็นไปตามแนวเดิม คือพูดถึงความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและการแก้ปัญหา โดยไม่แตะมาถึงเรื่องการเมือง

แล้วทำไมการจัด Podcast ของคุณทักษิณจึงน่าสนใจนัก?

เพราะโดยส่วนตัวแล้วกลุ่มผู้ฟัง Podcast นั้นมีลักษณะพิเศษบางอย่าง ที่อาจจะกล่าวตรงๆ ได้ว่า ไม่น่าจะใช่ “กลุ่มเป้าหมาย” หรือผู้นิยมคุณทักษิณเท่าไรนัก เพราะคนฟัง Podcast ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 25-45 ปี คือคนทำงานระดับเริ่มต้นถึงอาวุโสระดับกลาง ที่มีจุดร่วมกันคือ เข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เกินระดับมาตรฐานขึ้นไป รู้จักใช้ Application กลุ่มอื่นๆ นอกจากตัวพื้นฐานที่มีติดโทรศัพท์

เป็นผู้ฟังกลุ่มที่ชอบฟังเนื้อหาที่ทันสมัย เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและอนาคต ตลอดจนการพัฒนาตัวเองในแง่ต่างๆ หรือมุมมองใหม่ๆ ในการทำกิจการหรือดำเนินธุรกิจต่อไป ที่ไม่ใช่ “สายการเมือง” เข้มข้นอะไรเท่าไรนัก

ในขณะที่ผู้นิยมฟังสื่อสายวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง จะไปอาศัยช่องทางของ YouTube และ Facebook live จะถูกใจกว่า

และเรื่องหนึ่งที่เราต้องยอมรับ คือผู้รับสื่อของเมืองไทยนั้น หากเป็นสื่อประเภทภาพและเสียง (หรือเฉพาะเสียง) ทะเลหลวงยังเป็น YouTube เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้จัดเฉพาะรายการเสียงที่ไม่ใช่ Podcast ลงใน YouTube อยู่มาก หรือแม้แต่ผู้จัด Podcast เองหากต้องการขยายฐานกลุ่มผู้ฟังก็ยังต้องเอาไฟล์เสียงไปลงไว้ใน YouTube ด้วย สำหรับคนที่เคยชินกับการ “ฟัง” ช่องทางนี้

จึงเป็นเรื่องที่ยังมองไม่ออก แต่เชื่อแน่ว่าต้องมีความหมายบางอย่างที่ทำให้คุณทักษิณเลือกช่องทางกระจายเสียงเฉพาะช่องทาง Podcast ในขณะนี้

และก็คงจะอดไม่ได้ที่จะมีคนเอาไปเปรียบเทียบภาพต่างกับ “ลุง” อีกคนหนึ่ง ที่ยังคงอาศัยช่องทางแบบ “สื่อเก่า” ที่ “บังคับ” ให้ผู้คนฟังตัวเองพูดในรูปแบบของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจทุกเย็นวันศุกร์ (ที่มีคนปากร้ายเรียกว่ารายการ Bad Friday) ช่องทางบังคับผ่านทางสื่อโทรทัศน์ที่คนทางบ้านจะกดปิดได้ทันทีแล้วเปิดมือถือหรือแท็บเล็ต จนลุงแกน้อยใจว่าพูดไปก็ไม่มีคนฟัง

ไหนๆ ก็ไหนๆ การที่คุณทักษิณออกมาจัด Podcast ก็เป็นการปลุกวงการ Podcast ให้เป็นกระแสแรงขึ้นไปอีกจากที่เริ่มติดลมแล้ว และน่าจะมีผู้ฟังรายใหม่ๆ ที่ไหนๆ อาจจะเปิด App Podcast ในโทรศัพท์เป็นครั้งแรกเพื่อฟังว่าท่านจะพูดอะไร ก็ขออนุญาตแนะนำรายการช่อง Podcast ของคนไทยที่น่าสนใจดังนี้

เจ้าแรกที่ขอแนะนำคือ Podcast ของสื่อออนไลน์ The Standard ซึ่งมีรายการใหม่มาทุกวัน อย่างรายการ “คำนี้ดี” ซึ่งเป็นรายการสอนศัพท์ภาษาอังกฤษของคุณภูมิชาย บุญสินสุข (บิ๊กบุญ) ที่จัดทุกวันทำงาน รายการจิตวิทยาน่ารู้ “RU OK” ของคุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ และคุณปอนด์ ยาคอปเซ่น รายการเกี่ยวกับเคล็ดลับทางธุรกิจของบุคคลและองค์กรต่างๆ “The Secret Sauce” โดยคุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการสำนักข่าว The Standard นั่นเอง และในปีนี้ก็เริ่มมีรายการใหม่มาเสริมทัพอีก ที่เห็นในตอนนี้ก็คือ Readery Podcast ที่เกิดจากความร่วมมือกับร้านหนังสือออนไลน์ Readery โดยรวมแล้ว The Standard Podcast เป็นช่องที่จะมีเนื้อหาใหม่ๆ ให้ฟังทุกวัน วันละตอนสองตอนแน่นอน

และที่กล่าวถึงไปแล้ว ที่เคยเป็นอันดับหนึ่งของวงการ Podcast เมืองไทย (ก่อนที่จะถูกคุณทักษิณแซงไปชั่วคราว) คือ Mission to the Moon ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง เช่น การจัดการเวลา การบริหารงานที่เป็นโปรเจ็กต์ รวมถึงความรู้ด้านการตลาดและการบริหารธุรกิจที่คุณรวิศทั้งค้นคว้ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่าง Harvard Business Review และ McKinsey ประกอบกับประสบการณ์ในสนามธุรกิจจริงของคุณรวิศเอง การอัพเดตเรื่องเทคโนโลยีในทุกวันจันทร์ร่วมกับคุณแม็ก CTO ของศรีจันทร์ และเรื่องน่ารู้อื่นๆ เช่น เรื่องจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์นี้เอง ทำให้ Mission to the Moon ได้เป็นเบอร์หนึ่งของ Podcast ไทยมายาวนาน

อีก Podcast ที่อยากจะกล่าวถึงจัดโดยนักวิชาการด้านการวัดผลองค์กรคนสำคัญ ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ กับ Podcast Nopadol’s Story ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า เรื่องวิชาการอย่างการวัดผล (Performance Measurement) นั้นมีอะไรน่าสนใจจนขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของวงการได้ ก็อาจจะต้องแนะนำให้ลองฟังดูสักสองสามตอน แล้วจะรู้ว่าการ “วัดผล” นั้นอาจจะเป็น “จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของความสำเร็จ” ที่เรารอเอามาประกอบกับภาพใหญ่ของเราอยู่ก็ได้

นอกนั้นก็มีรายการของคุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ Boy’s thought Podcast ที่จัดทุกสัปดาห์ในวันที่สะดวก ก็เป็นรายการที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในหลายแง่มุมได้อย่างร่วมสมัย

กับสุดท้ายที่จะต้องกล่าวถึง คือช่อง “โลกไปไกลแล้ว” ที่ร่วมกันจัดหลายคน ทั้งนักเขียนและวิทยากรเรื่องภาษีชื่อดังของวงการอย่าง “พรี่หนอม” ถนอม เกตุเอม รายการรีวิวหนังสือที่มาทุกวันหวยออกของคุณอติพงษ์ ศรนารา

นอกจากนี้ผมเองก็จัดรายการ Podcast ชื่อเดียวกับคอลัมน์นี้ “คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง” ในช่องนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นแง่มุมที่ขยายความหรือไม่ได้เขียนไว้ในคอลัมน์ หรือการคุยประเด็นทางกฎหมาย สังคมและความสนใจอื่นๆ

แม้ว่าช่วงนี้จะเว้นวรรคไปเพื่อวางแนวทางใหม่สำหรับปีที่สอง แต่ก็รับรองว่าจะกลับมาจัดเป็นประจำตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image