กำเนิด NLD และวิถีพม่าสู่ระบอบประชาธิปไตย (?) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

NLD (National League for Democracy) หรือสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่าในปี 1988 (พ.ศ.2531) กลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลสูงสุด และมีสมาชิกทั่วประเทศถึง 2 ล้านคนในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าความนิยม NLD เกิดขึ้นเพราะความนิยมออง ซาน ซูจี และการเป็นบุตรีของนายพลออง ซาน ความอัดอั้นตันใจของชาวพม่าที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมา 26 ปี พร้อมๆ กันกับนโยบายการเข้าถึงประชาชนของพรรคซูจี และคนของพรรค NLD เดินทางไปทั่วประเทศ และในการปราศรัยแต่ละครั้งก็จะมีผู้คนมารอฟังเธอนับพันหรือนับหมื่นคน ออง ซาน ซูจี กลายเป็น “ขวัญใจ” ของชาวพม่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทำให้ต่อจากนี้เป็นต้นไป ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ออง ซาน ซูจี เป็นสำคัญ ความโด่งดังของซูจีสร้างความไม่พอใจให้กับคนในกองทัพ ทำให้ฝ่ายหลังมีคำสั่งจับกุมซูจี และควบคุมตัวไว้ในบ้านพักของเธอริมทะเลสาบอินยาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1989 (พ.ศ.2532)

พรรค NLD ตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปที่ SLORC สัญญาว่าจะจัดขึ้นในปี 1990 (พ.ศ.2533) การควบคุมตัวออง ซาน ซูจี ไว้ในบ้านพัก พร้อมๆ กับผู้นำพรรคอีกหลายคนยิ่งทำให้ NLD ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ตลอดปี 1989 และต้น 1990 รัฐบาล SLORC พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของ NLD มาโดยตลอด ผลการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 1990 ซึ่งมีพรรคการเมืองกว่า 90 พรรคเข้าร่วม ปรากฏว่าพรรค NLD ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นคิดเป็นร้อยละ 58.7 นำห่างพรรค NUP พรรคนอมินีที่กองทัพตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับ NLD โดยเฉพาะ ที่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 21.2 ความนิยมใน NLD และออง ซาน ซูจี ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนในกองทัพ เห็นได้จากการออกมาประกาศให้การเลือกตั้งปี 1990 เป็นโมฆะ

NLD ตอบโต้มติของกองทัพได้ไม่มากนัก แต่ก็นัดประชุมสมาชิกพรรคและมีมติเรียกร้องให้ SLORC มอบอำนาจคืนให้กับประชาชนและยอมรับผลการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่กระบวนการเจรจาที่ยุติธรรมและบริสุทธิ์ใจระหว่าง NLD และ SLORC ต่อไป แต่ฝ่ายหลังไม่ต้องการการเจรจา ใน
วันที่ 8 สิงหาคม 1990 อันเป็นวันครบรอบ 2 ปีของเหตุการณ์ 8888 พระสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินขบวนประท้วง SLORC ที่มัณฑะเลย์ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนับพันคน แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเหมือนเคย พระสงฆ์จำนวนหนึ่งถูกยิงและถูกทุบตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส การประท้วงขยายมาถึงย่างกุ้ง สมาคมสงฆ์มีมติคว่ำบาตรคนในกองทัพ พระสงฆ์ทั่วประเทศจะไม่ยอมรับบาตรและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใดๆ ให้กับคนในกองทัพและครอบครัว SLORC ที่ในเวลานั้นมีนายพลซอ หม่อง เป็นประธานสั่งจับกุมแกนนำพรรค NLD รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในปี 1990 จำนวน 65 คน และประกาศยุบองค์กรสงฆ์ที่ยังดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยขู่ว่าหากไม่ทำตาม พระสงฆ์จะถูกจับสึกทันที นอกจากนี้ วัดนับร้อยวัดทั่วประเทศก็ถูกบุกยึด พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปถูกจับกุม

ออง ซาน ซูจี มิได้เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน แต่เมื่อสถานการณ์บีบคั้น ทำให้เธอจำต้องกลายเป็นผู้นำขบวนการประชาธิปไตยในพม่าโดยไม่รู้ตัว ระหว่างปี 1988-1990 ซูจีเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวพม่าผู้รักประชาธิปไตยภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปลายปี 1991 ด้วยการผลักดันของไมเคิล แอริส สามีของเธอเอง เธอกลายเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในสังคม หลายคนนำเธอไปเปรียบเทียบกับเนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีคนแรกและผู้เรียกร้องให้โค่นล้มระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) ในแอฟริกาใต้ และทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ในเวลานั้น ซูจีถูกคุมตัวอยู่ในบ้านพัก อเล็กซานเดอร์ แอริส บุตรชายคนโตจึงเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อสดุดีออง ซาน ซูจี อาจกล่าวได้ว่าออง ซาน ซูจี และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าถูกกดดันมากขึ้นโดยรัฐบาล SLORC ภายหลังซูจีได้รับรางวัลโนเบล องค์กรระดับโลกหลายแห่ง เช่น สหประชาชาติ จับตามองสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าเพิ่มขึ้น และพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหันมาเจรจากับ NLD ตลอดจนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ยังทำสงครามกับกองทัพพม่าอยู่ แต่ข้อเสนอเหล่านี้ก็ถูกคนในกองทัพพม่าปฏิเสธมาโดยตลอด

Advertisement

ในวันที่ 10 กรกฎาคม 1995 (พ.ศ.2538) ซูจีได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกควบคุมในบ้านพักของเธอมาตั้งแต่กลางปี 1989 แม้จะถูกจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ซูจีและคนในพรรค NLD ก็เดินสายพบปะประชาชนทั่วประเทศอีกครั้ง เธอถูกกักบริเวณในบ้านพักอีกครั้งในปี 2000 (พ.ศ.2543) กองทัพอ้างว่าเธอละเมิดข้อตกลงเพื่อเดินทางไปมัณฑะเลย์ ก่อนหน้านั้นเพียง 1 ปี SLORC ยื่นข้อเสนอให้เธอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเยี่ยมสามี ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้ายได้ แต่เธอไม่รับข้อเสนอนั้น เพราะมองว่าหากตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ จะไม่สามารถกลับเข้ามาพม่าได้อีก เธอถูกปล่อยตัวอีกครั้งในปี 2002 (พ.ศ.2545) แต่ก็ถูกตัดสินจำคุกในระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2003 ภายหลังมีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุน NLD และผู้สนับสนุนรัฐบาล SLORC ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การสังหารหมู่ที่เดปายิน” (Depayin Massacre) หลังจากนี้ ซูจีจะถูกควบคุมตัวในบ้านพักต่อไปจนถึงปลายปี 2010 (พ.ศ.2553) เมื่อเธอถูกปล่อยตัวถาวรในวันที่ 13 พฤศจิกายน

นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ที่ SPDC และนายพลขิ่น ยุ้นต์ กรุยทางมาตั้งแต่ปี 2003 (พ.ศ.2546) เมื่อแผนโรดแมป 7 ขั้นถูกนำมาใช้ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อออง ซาน ซูจีและนักโทษการเมืองอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกพรรค NLD กลับเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัว อนึ่ง ออง ซาน ซูจีได้รับการปล่อยตัวมาภายหลังจากที่รัฐบาล SPDC จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ในปี 2008 และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 ในปี 2010 โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมถึง 40 พรรค แต่พรรค NLD มีมติคว่ำบาตรการเลือกตั้งในครั้งนี้เพราะมองว่าผู้นำพรรคของตนยังถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม การเลือกตั้งปี 2010 จะเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะทำให้เข้าใจพลวัตการเมืองพม่าสมัยใหม่ในปัจจุบัน

แม้ออง ซาน ซูจี จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปัจจุบัน ถึงกับมีเสียงเรียกร้องให้ถอดรางวัลโนเบลจากเธอ แต่ในทางประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเธอมีบทบาทสำคัญที่สร้างความตระหนักรู้ และรวบรวมสังคมพม่า (ในที่นี้คือภายในหมู่คนพม่าพุทธด้วยกันเอง) ให้เป็นปึกแผ่นและเป็นแรงเสียดทานต่ออำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหารมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี คนพม่าไม่ได้มองเธอว่าเป็นเพียงนักการเมืองธรรมดาๆ แต่ยังมองว่าเธอเป็นฮีโร่ เป็นเสมือนมารดาแห่งประชาธิปไตยพม่า และเป็นผู้นำอันมาจากการเลือกตั้งที่ชอบธรรม ยิ่งเสริมสร้างให้เธอมีสถานะประหนึ่งเทพเจ้า และจุดนี้เองที่สร้างความขัดแย้งระหว่างพม่ากับประชาคมโลก เมื่อเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออง ซาน ซูจี
มากขึ้นในปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image