ปริศนาและความย้อนแย้งความสุขของมนุษย์ : โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

นักเศรษฐศาสตร์มักใช้คำว่า happiness ความสุข ความพอใจในชีวิตแทนกันไปมากับคำว่า well being แต่นักจิตวิทยาจะถือว่า happiness เป็นคำที่แคบกว่าหรือเป็น subset ของ well being ซึ่งมีทั้งที่เป็นอัตตะวิสัย subjective well being (SWB) เช่น ไปถามคนว่าโดยรวมคุณมีความสุขความพอใจในชีวิตไหมที่ผ่านมาหรือทั้งชีวิต ส่วน objective well being เป็นความสุขแบบวัตถุวิสัย เช่น วัดสภาวะทางอารมณ์ในชีวิตประจำวันตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงเวลาหนึ่ง

ในที่นี้เราจะไม่เข้มงวดนักกับความหมายของคำต่างๆ จะใช้ happiness หรือ subjective well being แทนกัน

การวัดคุณภาพชีวิตโดยดูจากตัวแปรต่างๆ ของบุคคลหรือประเทศในหลายสิบปีนี้มีพัฒนาการไปมากเป็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น จาก GDP ไปสู่การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุณภาพสถาบันต่างๆ แต่การวัดความสุขความพอใจของคนมักใช้วิธีถามความรู้สึกซึ่งโดยผิวเผินดูเหมือนใช้ได้ แต่จริงๆ มีความกำกวมเป็นนามธรรมที่ซับซ้อน มีข้อจำกัดในเรื่องความน่าเชื่อถือ การตีความ ทำให้การนำนโยบายโดยใช้ข้อมูลความสุขต้องทำด้วยความรอบคอบ ความเข้าใจ

กระนั้นก็ตามในรอบประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาในสายสังคมศาสตร์ การศึกษาวิจัยในเรื่องความสุข (โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา) ได้ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เราค่อนข้างมากเกี่ยวกับการมองชีวิต ความคาดหวัง ความต้องการ บอกถึงพฤติกรรมมนุษย์ในมิติต่างๆ มากมาย เช่น

Advertisement

1.อะไรคือวัตถุประสงค์หลักของชีวิต

1.1 ความสุขควรเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายหรือหลักของชีวิตหรือไม่ เมื่อเทียบกับเป้าหมายอื่นๆ เช่น การมีเสรีภาพ ความเป็นอิสระหรือเป็นตัวของตัวเองหรือ autonomy ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเสมอภาค การมีเมตตาธรรมเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ การมีขีดความสามารถและโอกาสในการบรรลุสิ่งที่ตนให้คุณค่าในชีวิต การปลูกฝังพัฒนาตนเอง การมีศักดิ์มีศรี ความหลากหลายในชีวิต รวมทั้งความงามในมิติต่างๆ คำถามที่สำคัญที่ละเลยไม่ได้ คือ ความสุขซึ่งมีที่มาต่างกันสำคัญแค่ไหน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ต่างกันในระยะยาวอย่างไร

1.2 ประวัติศาสตร์ความคิดเรื่องที่มาของความสุข มีตั้งแต่ความคิดสุดขั้วที่มองว่ากายหรือสัมผัสสะ รูป รส กลิ่น เสียง เท่านั้นที่เป็นแหล่งที่บอกความสุขของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่อย่างอื่น มีนักคิดที่เคยแยกความแตกต่าง ความพอใจที่มีลักษณะเป็นประเภทที่เรียกว่า pleasure ที่เป็นความสุขแบบชั่วครู่ชั่วยามไม่ถาวร เพราะมีลักษณะเป็นเพียงการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายต่างกับความสุขแบบ flow ที่เกิดจากการที่มีเป้าหมาย ความหลงใหลและรักในกิจกรรมที่ทำมีการทุ่มเทมุ่งมั่นทางจิตใจ ซึ่งให้ความสุขที่ถาวรเปี่ยมล้นเป็น enjoyment นักคิด เช่น J.S. Mill หรือ Freud ให้ระวังความขัดแย้งระหว่างความสุขของส่วนรวมกับความสุขที่มีต่อปัจเจกบุคคลหรือเอกชนที่เป็นความสุขแบบหยาบๆ และเลยเทิดล้นเกิน J.S. Mill เชื่อว่าความสุขที่สูงส่งจากงานศิลปะ เช่น ภาพวาด ดนตรี บทกวี เป็นความสุขที่ลุ่มลึกกว่าเพียงแค่การเสพ กินหรือดื่มของอร่อย หลายคนอาจไม่เห็นด้วย นักคิดสมัยกรีก สำนัก stoicism เน้นความสุขที่เกิดจากการไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผู้อื่นหรือ altruism นักคิดในยุคกรีกทั้ง Socrates Plato Aristotle ล้วนให้ความสุขเป็น
เป้าหมายที่สูงสุดและความสุขเป็นอะไรที่สูงส่งให้ความสำคัญแก่ด้านจิตวิญญาณมากกว่าเรื่องการเสพทางวัตถุ ความสุขเป็นมิติหรือมุมมองทางศีลธรรม ความดีกับความสุขคือสิ่งเดียวกัน คนดีเหมือนความคิดเชิงพุทธ คนดีคือคนที่คิดดี ประพฤติดี จิตใจดี กับคนที่มีความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน สังคมกรีกยุคโบราณยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสำคัญเรื่องความเสมอภาค ความดี ความฉลาด ความงามเป็นอะไรที่มวลชนเข้าไม่ถึงในฐานะแหล่งของความสุขเท่ากับชนชั้นนำ ความคิดเรื่องความสุขของนักคิดกลุ่มนี้จึงมีลักษณะมีอคติเข้าข้างชนชั้นนำนักปรัชญาซึ่งควรเป็นนักปกครอง ไม่ให้ความสำคัญและไม่ไว้ใจประชาธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจของมวลชน

ในศตวรรษที่ 18 สำนักอรรถประโยชน์นิยมของ Bentham ยุคแสงสว่างทางปัญญา เป็นความคิดปฏิวัติที่ radical ให้ความสำคัญกับความสุขของคนในสังคมจำนวนมากที่สุด (ความสุข คือส่วนเกินหรือส่วนต่างของ pleasure ที่มากกว่าความเจ็บปวด ความทุกข์หรือ pain) ที่ radical หรือถอนรากถอนโคน เพราะความสุขรวมที่เกิดขึ้นอาจจะไปลิดรอนสิทธิคนอื่น เช่น เมื่อต้องมีการกระจายรายได้หรือความมั่งคั่งจากคนรวยมาสู่คนจนส่วนใหญ่ คนจนและฝ่ายซ้ายจะชอบ แต่คนรวยหรือฝ่ายขวาจะเกลียดชัง หลักคิดต่างของ J.S. Mill ในกลางศตวรรษที่ 19 แม้จะเป็นนักอรรถประโยชน์นิยมเช่นกัน ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพมากเป็นพิเศษ มากกว่าความสุขซึ่งควรได้มาโดยทางอ้อม “เป็นโสคราติสที่ไม่พอใจ ดีกว่าเป็นหมูที่พอใจ” Mill เข้าใจและเห็นใจสังคมนิยมความเสมอภาค เขาคิดว่าสังคมที่มีเสรีภาพ (คล้ายกับ Sen และ Nussbuam ในยุคนี้) จะเป็นสังคมที่ดีกว่า แต่จะเป็นสังคมที่ทำให้คนมีความสุขหรือไม่เขาไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามการศึกษาของ Veenhowen ในปี ค.ศ.2000 พบว่าในประเทศที่เจริญแล้วเสรีภาพกับความสุขไปด้วยกันได้ดี สุดขั้วอีกแนวแต่ไม่เหมือน Benham คือ Marx เขาคิดว่าความสุขที่แท้จริงของมนุษย์คือการที่มนุษย์จะมีตัวตนเป็นของตนเองปลอดจากภาวะแปลกแยกหรือ alienation หรือถูกขูดรีดก็ต่อเมื่อระบบทุนนิยมมี transformation เป็นระบบคอมมิวนิสต์ซึ่ง Hegel ที่มาก่อนหน้าเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของมนุษย์ จะทำให้เขาบรรลุความสุขได้อย่างถาวรในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความดีหรือศีลธรรมของระบบทุนนิยมมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงมาตลอด ในยุคก่อนสมัยใหม่ศาสนาเกือบทุกศาสนามักมองการหาเงิน การทำกำไร การปล่อยกู้ ความมั่งคั่ง ล้วนเป็นเรื่องชั่วร้ายผิดศีลธรรม พระผู้เป็นเจ้าไม่สนับสนุน ยกเว้นมันทำให้คนอื่นหรือส่วนรวมดีขึ้นหรือได้ประโยชน์ เช่น ลัทธิ Janism ในศตวรรษที่ 6 ของอินเดีย หรือเป็นสิ่งที่ดีเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า ถ้ามาจากการประหยัด อดออม เพื่อความมั่งคั่งในอนาคตจากการทำธุรกิจเหมือนที่ลัทธิ Protestant เมื่อยุโรปเหนือเข้าสู่ยุคใหม่ ปลายศตวรรษที่ 19 นักปรัชญา นิทเช่ พูดไว้ว่าตัณหาคือความดี ความโลภคือสิ่งที่ดี ทุกวันนี้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือศาสนายุคใหม่ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าความมั่งคั่งนำมาซึ่งความสุข

2.ปัญหาความสุขในความเป็นจริง

2.1 โลกยุคใหม่มีความย้อนแย้งหลายเรื่อง บางเรื่องเหมือนเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อพูดถึงเรื่องความสุขทั้งๆ ที่คนมีมาตรฐานการครองชีพโดยรวมสูงขึ้น อายุขัยสูงขึ้นทั้งโลกมาพร้อมกับรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น แต่ในประเทศที่เจริญแล้วยังพบอัตราที่สูงขึ้นของผู้ป่วยที่ป่วยทางจิตโดยเฉพาะประเภทซึมเศร้า depression การฆ่าตัวตายยังมีอยู่สูงทั่วไป งานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้นพบว่า สำหรับประเทศหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งเมื่อรายได้อยู่ในระดับหนึ่งหมื่นถึง 1.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ เส้นความสุขจะค่อนข้างแบนคือไม่เพิ่ม โดยนัยยะเงินเริ่มซื้อความสุขไม่ได้เรียกว่า Easterlin paradox นักจิตวิทยาพบว่าเมื่อคนบรรลุเป้าหมายในการมีสิ่งของสินค้าทางวัตถุที่ฟุ่มเฟือยแล้วสิ่งที่ต้องการหรือความสำเร็จเมื่อบรรลุถึงในขั้นแรกจะนำมาซึ่งความสุข แต่เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มเป็นความเคยชิน ความสุขจะกลับไปสู่สถานภาพเดิม ความสุขจะเพิ่มขึ้นใหม่จะต้องมีความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยานใหม่แล้วมุ่งไปให้ถึง เมื่อไปถึงแล้วทุกอย่างก็อาจจะจบ มนุษย์เหมือนวิ่งอยู่บนสายพานที่เรียกว่าความสุข นี่เป็นความสุขที่แท้จริงหรือ

2.2 แต่ถ้าเทียบระหว่างประเทศที่รายได้ต่อหัวสูงกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำยังพบว่าระดับความสุขของคนในประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะสูงกว่า โศกนาฏกรรมของความสุขที่ดูน่าหดหู่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่ารายได้เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนมีผลสำคัญกว่าตัวระดับรายได้ซึ่งหมายความว่าถ้าทุกคนรายได้เพิ่มขึ้นเท่าๆ กันจะไม่มีใครมีความสุขเพิ่มขึ้น คนที่มีความสุขมากขึ้นคือคนที่มีรายได้หรือความมั่งคั่งสูงกว่าคนอื่น ในกรณีของจีนก็อาจจะมองเป็นโศกนาฏกรรมได้เช่นกัน จีนไม่มีใครปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงในจีน โดยเฉพาะอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โตได้ถึง 2 หลักต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับการมีสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้น เช่น ทีวี แต่ Easterlin paradox ก็เกิดขึ้นที่จีนทั้งๆ ที่ในช่วง ค.ศ.1994-2005 รายได้ต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า แต่รายงานความสุขปรากฏว่าลดลงถึง 20 จุด จาก 80 เหลือ 60

2.3 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล George Akerlof ศึกษาในเชิงประจักษ์พบว่าการทำนายอรรถประโยชน์ของคนจะถูกต้องดีขึ้นถ้ามันมีตัวแปลพฤติกรรมที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในเรื่องคุณค่าหรือ norm หรือ value ซึ่งมันอาจจะเกิดจากบริบทของสังคม ศาสนา หลักการหรือจริยธรรม ความสุขเกิดจากการได้เป็นผู้ให้ มีความใส่ใจในผู้อื่น เป็นต้น

2.4 ในกรณีที่ระบบเศรษฐกิจต้องเลือกระหว่างการว่างงานที่สูงขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อ การว่างงานบ่งบอกถึงความทุกข์ในน้ำหนักที่สูงกว่ามาก

2.5 โดยทั่วไปคนที่แต่งงานพบว่ามีความสุขมากกว่าคนโสด ครอบครัวเมื่อมีรายได้สูงขึ้น จำกัดการมีลูก ในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบสังคมอเมริกันกับสังคมยุโรป คนอเมริกันโดยทั่วไปไม่แสดงออกถึงความไม่พอใจหรือเป็นทุกข์เป็นร้อนเหมือนคนยุโรป ซึ่งเป็นสังคมที่เน้นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจสูง อาจจะเป็นเพราะว่าคนอเมริกันเชื่อว่าตัวเองมีโอกาสที่จะไต่เต้าทางสังคม โดยทั่วไปสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกันสูง คนจะไม่มีความสุขสูงด้วยเช่นกัน ประเทศกลุ่ม Nordic ที่พบว่ามีความสุขสูงกว่าประเทศอื่นๆ พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความไม่เท่าเทียมกันในรายได้หรือการกระจุกตัวของความมั่งคั่งต่ำที่สุด

2.6 ตัวแปรทางด้านสถาบัน พบว่าสังคมที่มีเสรีภาพ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะในประเทศที่รายได้สูง สังคมที่มีทุนทางสังคมเหนียวแน่นระดับความสุขของคนจะสูงตามมาด้วย

2.7 ข้อสังเกตจากการค้นพบที่มีความสำคัญมหาศาล คือ

ก. ความเชื่อของนักจิตวิทยาที่มีมานานว่าคนจำนวนมากมีความสุข กำหนดมาให้แล้วจากบุคลิกภาพหรือยีน คนเหล่านี้เวลาเจอโชคชะตาเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเองต้องพลิกผันชีวิตมีความทุกข์ ไม่ว่าจะเรื่องอุบัติเหตุ สุขภาพ ธุรกิจ ชีวิตสมรส จะสามารถปรับตัวรับสภาพที่เป็นอยู่ได้ดี คือเป็นทุกข์แต่ก็อาจจะไม่มาก ความเชื่อนี้พบว่าเป็นความจริงเฉพาะกรณีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของรายได้ แต่ไม่ใช่สำหรับกรณีเรื่องอื่นๆ

ข. รายงานเรื่องความสุขเปรียบเทียบระหว่างประเทศของกลุ่มคนต้องตีความและใช้ด้วยความระมัดระวัง การบอกว่าตัวเองมีความสุข พอใจกับชีวิต มันอาจจะขัดกับข้อสังเกต ข้อเท็จจริงเมื่อดูปัจจัยที่เป็นวัตถุวิสัยด้านคุณภาพชีวิตหรือวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้นๆ (นอกเหนือจากความรู้สึกบิดเบือนเมื่อถูกถามเรื่องความสุขที่ผู้ตอบให้ความสำคัญมากแก่ชีวิตหรือเหตุการณ์ในบั้นปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายหรือเรื่องดี หรือใช้ peak end rule ดังที่ผู้เขียนได้เสนอไว้เมื่อครั้งที่แล้ว) เราพบข้อเท็จจริงมาก เช่น จากการศึกษาของ Angus Deaton ที่พบว่าคนจนในทวีปแอฟริกา ไม่ทุกข์ร้อนกับโรคเอดส์ HIV ที่รุมเร้า รวมทั้งข้อมูลความยากจนอื่นๆ แต่กลับรายงานระดับความพอใจในชีวิตที่ขัดกับข้อมูลข้อเท็จจริง หรือปรากฏการณ์ที่ Sen และ Nussbaum ให้ข้อสังเกตไว้ในกรณีของอินเดีย ซึ่งพบว่าคนจนผู้หญิงที่ถูกบีบรัด กดดัน จากสังคมทุกรูปแบบ เมื่อรายงานสถานการณ์ความสุขก็แสดงความพอใจในชีวิตที่รับได้ต่างกับคุณภาพชีวิตที่พวกเขาควรจะมีดีกว่าที่เป็นอยู่ นักวิชาการทั้งสองคิดว่าผู้ยากไร้แร้นแค้นนั้นได้ปรับความรู้สึกและทัศนคติต่อชีวิตให้ตรงกับสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ (บางคนมองว่าแกล้ง หรือ pretend ที่จะรู้สึกว่ามีความสุข) เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม มองอีกแง่หนึ่งก็คือ พวกเขาไม่ได้อยู่ในสังคมที่เขามีเจตจำนงเสรี เขาถูก conditioning โดยสังคม เขาจึงแสดงความรู้สึกเรื่องความสุขออกมาแบบนั้น

เพราะฉะนั้นอันตรายมากถ้าผู้ทำนโยบายจะยึดรายงานความสุขเป็นสรณะ ซึ่งโดยนัยยะอาจจะหมายความว่าสังคมดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image