วิปัสสนากรรมฐาน : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“การส่งเสริมสุขภาพ” เป็นมาตรการสำคัญของการดูแลสุขภาพของร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงสม่ำเสมอ กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ดำเนินการรณรงค์ “สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ” โดยเฉพาะเรื่อง 3อ : ออกกำลังกาย วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน อาหาร ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อารมณ์ การมีสุขภาพจิตที่ดี 3 ลด :ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่ เป็นต้น และเป็นที่ทราบแล้วหากป่วยทางกายก็มักจะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้หมอหรือนายแพทย์ทำการรักษา ส่งเสริม ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพ แต่สำหรับ “จิตใจ” นอกจากเราจะมีจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาแล้วก็ตาม แต่ “การทำจิตให้ใจบริสุทธิ์” นั้นเราต้องอาศัยทางพุทธศาสนาที่เราเรียกว่าการเจริญ “กรรมฐาน” มี 2 ประเภท คือ “กรรม” แปลว่าการกระทำ “ฐาน” แปลว่า ที่ตั้งของสติ

1.สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายที่ให้ใจสงบ จิตสงบ บริสุทธิ์ชั่วขณะ คือ ใจที่อบรมในทางสมถะแล้ว จะเกิดนิ่ง และเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น การสวดมนต์ การไหว้พระ การนั่ง การเดินจงกรม เป็นต้น มี 7 หมวด ได้แก่ อสุภะ 10 อนุสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปธรรม เป็นต้น

2.วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้เกิดปัญญา เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้จิตบริสุทธิ์ตลอดไป หมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์และเห็นมรรคผล นิพพาน มีอารมณ์อยู่กับวิปัสสนาภูมิ 6 อย่าง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจจ์ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12

กรรมฐาน 2 อย่างนี้ต่างกันตรงที่ “อารมณ์สมถกรรมฐาน” เอา “บัญญัติ” เป็นอารมณ์ ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน เอา “รูปนาม” เป็นอารมณ์

Advertisement

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า…ชีวิตมันคืออะไรแน่? ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมัน ปีแล้วปีเล่ามันมีแต่ความมืดบอด หรือเป็นเรื่องของการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชินในตัวเรานั้น เรามี “ของดี” ที่มี “คุณค่า” อยู่แล้ว คือ “สติ สัมปชัญญะ” แต่เรานำออกมาใช้น้อยมาก ทั้งที่เป็นของคุณค่าแก่ชีวิต หาประมาณมิได้เป็นการระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์…หรือเป็น…การเชิญเอา “สติ” ที่ถูกทอดทิ้งมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อ “สติ” ขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว “จิต” ก็จะคลานมาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้า “สติ”… “สติ” จะควบคุม “จิต” ไม่ให้แส่ออกไปจนอารมณ์ (ที่เกิดจาก…ใจ) ต่างๆ ภายนอกในที่สุด “จิต” ก็จะค่อยๆ คุ้นเคยกับ… “การสงบอยู่อารมณ์เดียว”… “อารมณ์หนึ่งเดียว”… “อารมณ์นิ่ง”…ไม่วอกแวก เมื่อ “จิต” สงบตั้งมั่นดีแล้ว (แปลว่าข้อมูลเปรอะๆ ของซอฟต์แวร์ ถูกลบทิ้งจนว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่า การรู้ตามความเป็น “จริง” ก็จะเป็นผลผลิตตามมา เมื่อนั้นแหละ เราก็จะทราบได้ว่า “ความทุกข์มันมาจากไหน?” เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละ คือ…ผลงานของ “สติ”

ภายหลังการได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว “จิตใจ” ของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับ “สัจจะ” แห่งสภาวธรรมต่างๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันล้ำค่าของ “สติสัมปชัญญะ” จะทำให้เราเห็นอย่างชัดแจ๋ว ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราของท่านทางช่องทวาร 6 ช่องทวาร 6 นั้น

นั่นแหละที่เป็น “ต้นตอ ท่อต่อ” หรือ “บ่อเกิด” สิ่งเหล่านั้นคือ “ขันธ์ 5 จิต กิเลส”

Advertisement

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือ “วิปัสสนากรรมฐาน”เปลี่ยนชีวิตของ “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม” วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ทรงคุณค่าแก่การเผยแพร่ ความว่า ช่องทวาร 6 นี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า “อายตนะ” มีอายตนะ ภายใน 6 ภายนอก 6 ดังนี้ อายตนะภายในมี :ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมี :รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กายถูกต้องสัมผัส) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) รวม 6 คู่ 12 อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันเป็นคู่ๆ คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการสัมผัสถูกต้อง ใจคู่กับอารมณ์ที่เกิดกับใจเมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่งต่อถึงกันเข้า “จิต” ก็จะ “เกิดขึ้น” ณ ที่นั่นเอง และจะ “ดับ” ลงไป ณ ที่นั้นเอง จึงเห็นได้ว่า “จิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” การที่เราเห็นจิตว่าเป็นตัวตนกันเพราะว่า… การเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก การเกิดดับของ “จิต” เป็น “สันตติ” คือ… เกิดดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย เราจึงไม่มีทางทราบได้ถึงความ… “ไม่ตัวตน” ของจิต ต่อเมื่อเราทำการกำหนด… “รูป-นาม” เป็นอารมณ์ตามระบบ “วิปัสสนากรรมฐาน” ทำการสำรวมสติสัมปชัญญะอย่างมั่นคงจน “จิต” ตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นการเกิดดับของ “จิต” รวมทั้งสภาวธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง

การที่ “จิต” เกิดทางอายตนะต่างๆ นั้น มันเป็นการทำงานร่วมกันของขันธ์ 5 เช่น “ตา” กระทบ “รูป” เจตสิกต่างๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกัน คือ “เวทนา”…เสวยอารมณ์สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ “สัญญา”…จำได้ว่ารูปอะไร “สังขาร”…ทำหน้าที่ปรุงแต่ง “วิญญาณ”…ทำหน้าที่รู้ว่ารูปนี้ดีหรือไม่ดี หรือเฉยๆ ต่อมา “กิเลส” ต่างๆ ก็จะตามเข้ามา คือ ดี ชอบ… “โลภะ” “ไม่มีไม่ชอบ”…เป็น “โทสะ”…เฉยๆ ขาดสติกำหนดเป็นโมหะ อันนี้พอจะบันดาลให้อกุศลกรรมต่างๆ เกิดตามมาความประพฤติชั่วร้าย…ก็จะเกิดแสดง ณ ตรงนี้เอง

การปฏิบัติวิปัสสนา-กรรมฐาน เป็นกระบวนการโดยเอา “สติ” เข้าไปตั้งกำกับ “จิต” ตามช่องทวารทั้ง 6 เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดต่ออายตนะ ทั้ง 6 คู่นั้นไม่ให้ติดต่อกัน โดยจะเห็นตามความเป็นจริงว่า… “เมื่อตากระทบรูปก็เห็นว่าสักแต่จะว่าเป็นแค่รูป ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขาไม่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ หรือไม่พอใจเกิดขึ้น รูปก็จะดับลงอยู่ ณ ตรงนั้นเอง ไม่ไหลเข้ามาสู่ภายในจิตได้ อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะไม่ตามเข้ามา”

“สติ” ที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้น (หรือตัวเบรกชีวิต) ไม่ให้เข้ามาทางอายตนะแล้ว ยังเพ่งเล็งอยู่ที่รูปกับนาม เมื่อเพ่งอยู่ก็จะเห็นความเกิดดับของ “รูป” กับ “นาม” นั้นๆ จักนำไปสู่การเห็น “พระไตรลักษณ์” คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ของสังขารหรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง

การเจริญวิปัสสนากรรม ตามสติปัฏฐาน 4…ที่ตั้งของการกระทำเพื่อเกิดการรู้แจ้งปัญญา (มีภูมิรองรับ) สำหรับผู้ปฏิบัติมี 4 ฐาน คือ

1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน : ตั้งสติไว้ตรงรูปเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถน้อยใหญ่

2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน : ทุกข์ สุข เกิดขึ้นแล้วดับไป ตั้งสติไว้ตรงที่สภาวะที่เกิด

3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน : เวลาจิตนึกคิด ตั้งสติไว้ตรงหัวใจ กำหนดว่าคิดหนอ คิดหนอ

4.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน : ธรรมะที่เกิดขึ้นทั้ง 6 ทาง ตั้งสติไว้ตรงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นทั้งหกทาง (ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต) เป็น “ภูมิฐาน” ของ วิปัสสนา (ภูมิฐานที่ตั้งของสติที่เกิดของการรู้แห่งปัญญา)

สรุปได้ว่า : คำสอนของ “พระพุทธเจ้า” ย่อลงมาจากขันธ์ 5 เหลือเพียง “รูปกับนาม” เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน… เกิดขึ้น…ตั้งอยู่…ดับไป ทุกอิริยาบทน้อยใหญ่

ธรรมะหลักๆ ของพระพุทธเจ้ามี 3 ข้อ

1.รูปธรรม เกิดขึ้นแล้วมีหน้าที่เสื่อมไป ที่สุดแตกสลายในกองรูป
2.นามธรรม นึกคิดเรื่อราวต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี คิดแล้วดับไป
3.สภาวธรรม เกิดขึ้นทั้ง 6 ทาง เกิดแล้วก็ดับไป

“รูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส จิต” รวมความแล้วเป็นหลักธรรมะเพราะการเกิดดับของสภาวธรรมจึงเรียกว่า “ธรรมะ”

“ภูมิ” แปลว่า ที่เกิด

“ฐาน” แปลว่า ที่ตั้งของสติ

เรียกว่า เรียนรู้ธรรมชาติของรูปและนาม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงที่ รูป นาม รู้ว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตน

วิ แปลว่า แจ้ง ปัสสนา แปลว่า ปัญญา

1.เห็นว่ารูปนามเป็นคนละอันอาศัยกันอยู่
2.เห็นว่ารูปนามเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน
3.เห็นว่ารูปนามเกิดพร้อมกันดับไปพร้อมกัน

ปัญญา คำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมาจากขันธ์ 5 เหลือเพียงรูปกับนาม เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน รูปกับนามเกิดดับไปพร้อมกัน

ตัวปัญญา เห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วทั้งดีและไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปัญญาเห็นแจ้งแล้วก็ปล่อยวาง ทั้งความรักความชัง

ก็คือ “ทุกข์” ตัวปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเป็นความจริง

อวิชชา ไม่รู้ความจริงว่ารูปนาม ขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอัตตา จึงได้หลงถ้าผู้ใดปฏิบัติให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งจริงผู้นั้น… “จิตจะอยู่เหนือทุกข์”

เพราะฉะนั้น คำอธิษฐานการปฏิบัติควรกล่าวว่า ข้าพเจ้าของปฏิบัติบูชา พระสัมมา สัมพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า เพื่อให้ข้าพเจ้า “เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา
รู้แจ้งเห็นจริง” “รูปนาม ขันธ์ 5” เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ เป็นสิงปฏิกูล มิควรเข้าไปยึด ขอให้ข้าพเจ้าเกิด “วิปัสสนาญาณ” ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเทอญ

ประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดย พท.วิง รอดเฉย ปี พ.ศ.2529 ได้กล่าวไว้ว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีประโยชน์มากมายเหลือที่จะนับประมาณได้ จะยกมาแสดงตามที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก สักเล็กน้อย ดังนี้ คือ

1.สัตตานัง วิสุทธิยา : ทำกายวาจาใจ ของสรรพสัตว์ให้บริสุทธิ์
2.โสกะปะสิเทวานัง สะมะติกกะมายะ : ดับความเศร้าโศก ปริเทวนาการต่างๆ
3.ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ : ดับความทุกข์กาย ดับความทุกข์ใจ
4.ญาณัสสะ อะธิคะมายะ : เพื่อบรรลุมรรคผล
5.นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ : เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง และยังมีอื่นๆ อีกมาก เช่นตัวอย่าง 16 ข้อ ดังนี้

1.ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท 2.ชื่อว่าเป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิทั้งสี่ 3.ชื่อว่าได้บำเพ็ญไตรสิกขา 4.ชื่อว่าได้เดินสายกลาง คือ มรรค 8 5.ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอย่างสูงสุด 6.ชื่อว่าได้บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยในภายหน้า 7.ชื่อว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกโดยแท้จริง 8.ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิต ไม่เปล่าประโยชน์ทั้งสาม

9.ชื่อว่าได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง10.ชื่อว่าได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ 16 11.ชื่อว่าได้สั่งสมอริยทรัพย์ไว้ในภายใน 12.ชื่อว่าเป็นผู้มาดีไปดีอยู่ดีกินดีไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา 13.ชื่อว่าได้รักษาอมตมรดก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นอย่างดี 14.ชื่อว่าได้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งยิ่งขึ้นไปอีก 15.ชื่อว่าได้เป็นตัวอย่างอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลัง

16.ชื่อว่าตนเองได้มีธนาคารบุญติดตัวไปทุกฝีก้าว….

หากจะสรุปให้เห็นเป็นรูปธรรมในความเป็นจริงทั่วๆ ไป ที่เราทราบๆ กันว่า “จิต” เป็น “นาย” “กาย” เป็น “บ่าว” แต่การปฏิบัติธรรมภาวนาจิตใน “วิปัสสนากรรมฐาน” ถือเป็นการฝึกปฏิบัติให้ “สติ” เป็น “นาย” “จิต” (ความคิด) เป็น “บ่าว” เพื่อให้ “สติ” ควบคุม “จิต” ให้ตั้งมั่นนิ่งสงบไม่ได้แส่ออกภายนอกไปจน “อารมณ์” (ที่เกิดจากใจ) เกิด…การสงบอยู่อารมณ์เดียว เกิด “อารมณ์เป็นหนึ่งเดียว” หรืออารมณ์นิ่ง เกิด “สมาธิ” นั่งเอง หรือที่เราคุ้นกับคำว่า “ระลึกรู้สึกลมหายใจเข้า-ออก” หรือ “อานาปนสติ” และก็จะเกิด “ปัญญา” ในที่สุดนั่นเองไงเล่าครับ

ท้ายสุดนี้ขอฝาก “คติธรรม” ของหลวงพ่อจรัญฯ วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ความว่า…

พุทธศาสนา ค่าล้ำเลิศ ประเสริฐยิ่ง
เป็นสัจจริง ทุกอย่าง อย่าวางเฉย
เมื่อพบแล้ว รัตนะ อย่าละเลย
มัวเฉยเมย หมดโอกาส พลาดของดี

ประพฤติธรรม สำคัญ อยู่ที่ “จิต”
ถ้าตั้งผิด มัวหมอง ไม่ผ่องใส
ถ้าตั้งถูก ผุดผ่อง ไม่หมองใจ
ตั้ง “สติ” ไว้ ให้คุม “จิต” ไม่ผิดธรรม

เราจะสุข หรือทุกข์ เพราะเราสร้าง
“กรรม” ต่างหาก ที่เราทำ นำสนอง
เราทำดี มีสุขได้ สมใจปอง ทำชั่วต้อง
ได้ทุกข์แท้ แน่นอนเอย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image