นิยามที่ต้องช่วงชิง : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

พรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรคหาเสียงว่า นโยบายหลักอันหนึ่งของเขาคือความสงบ

ไม่แต่เพียงพรรคการเมือง คสช.ก็โฆษณาตนเองตลอดมาว่า หนึ่งในความสำเร็จของคณะทหารกลุ่มนี้ คือนำความสงบกลับมาสู่บ้านเมืองได้ และไม่แต่เพียง คสช.เท่านั้น ผลจากโพลหลายสำนักและหลายครั้ง ความสำเร็จอันดับหนึ่งที่ประชาชนยอมยกให้แก่ คสช.คือความสงบเหมือนกัน

(แต่ผลโพลภายใต้อำนาจของ คสช.จะเชื่อถือได้เพียงไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ไม่นานมานี้ ผมได้ยินนักวิชาการท่านหนึ่งเสียดสีพรรคการเมืองซึ่งหาเสียงด้วยเรื่องความสงบว่า เรื่องของความสงบไปเกี่ยวอะไรกับพรรคการเมืองเล่า ไม่ใช่เรื่องของทหารตำรวจหรอกหรือ

Advertisement

ผมคิดว่าพูดอย่างนี้ก็ลงล็อกทหาร-ตำรวจเท่านั้น แน่นอนว่าความสงบเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการปกครองบ้านเมือง แต่ความสงบน่าจะมีความหมายมากกว่ามีอำนาจทางกายภาพ ที่คอยห้ามไม่ให้คนตีกันไม่ใช่หรือ

ความสงบหมายถึงอะไรกันแน่

ผมเปิดพจนานุกรมดูคำว่า “สงบ” ตั้งแต่ฉบับ 2493 มาจนถึงฉบับหลังสุด ราชบัณฑิตฯให้ความหมายว่า ไม่กำเริบ, กลับเป็นปกติ, ระงับ, หยุดนิ่ง, ปราศจากเครื่องรบกวน, ไม่จุ้นจ้าน แล้วแจกลูกเป็นคำว่า สงบเสงี่ยม

Advertisement

กลับเป็นปกติคงหมายถึงเมื่อเราพูดว่า “พายุสงบลงแล้ว” คือกลับสู่สภาวะเดิมก่อนจะมีพายุ หากไม่นับความหมายนี้แล้ว คำภาษาไทยว่าสงบในทรรศนะของราชบัณฑิตล้วนส่อความหมายหรือส่อกิริยาไปทาง “ยอมจำนน” ทั้งนั้น ลองคิดแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษสิครับ ไม่ใช่ calm แท้ๆ ไม่ใช่ tranquil แท้ๆ แต่น่าจะแปลว่า submission มากกว่าอื่น ฉะนั้นแม้แต่ความหมายว่ากลับเป็นปกติ ก็อาจมีความหมายได้ทั้งสภาวะหลังพายุ หรือสภาวะหลังปราบกบฏเรียบร้อยแล้ว

เพราะเอาเข้าจริง สภาวะอะไรคือ “ปกติ” ระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง ก็อาจมีความหมายไม่เหมือนกันทีเดียวนัก

พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ รุ่นหลังๆ จาก 2493 ก็ให้ความหมายของคำนี้ไม่ต่างออกไป ผมจึงเข้าใจว่าอาจเป็นความหมายเก่าก็ได้ ในขณะที่ความหมายปัจจุบันของคำว่า “สงบ” อาจเคลื่อนออกไปแล้ว ผมจึงลองดูพจนานุกรมฉบับมติชน ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า ราบเรียบ, เงียบ, นิ่ง, กลับเป็นปรกติ, ระงับ ผมรู้สึกว่านัยยะของการยอมจำนนเบาลงบ้าง แต่ก็ไม่หมดไปเสียทีเดียว เพียงแต่มีบางคำที่อาจมีความหมายเป็นกลางมากขึ้นหน่อย เช่น “นิ่ง” กับ “หยุดนิ่ง” ของราชบัณฑิต เป็นต้น

ความหมายว่า “เงียบ” ของมติชนก็ไม่มีในราชบัณฑิต คำนี้ในภาษาไทยมีความหมายในเชิงจำนนก็ได้ คืออย่ามีปากมีเสียง แต่ในปัจจุบันเราใช้ในความหมายว่าปราศจากเสียง (รบกวน) มากกว่า อย่างที่บ้านจัดสรรมักโฆษณาว่าอยู่ในทำเล “สงบ” คือไม่มีเสียงและความวุ่นวายมารบกวน

แสดงว่าความหมายของคำว่า “สงบ” กำลังเคลื่อนออกไป จะเคลื่อนออกไปไกลแค่ไหนในแต่ละคนคงไม่เท่ากัน แต่เข้าใจว่าเคลื่อนไปสู่ความหมายที่ไม่เกี่ยวอะไรกับยอมจำนนมากขึ้น

และผมขออนุญาตใช้บรรทัดฐานจากความเข้าใจของตนเอง ซึ่งอาจสุดโต่งเกินไปเพราะเจ้าของภาษาไทยคนอื่นอาจไม่ได้ให้ความหมายไปไกลเท่านี้ แต่ผมเชื่อว่ามันชี้ไปในทิศทางที่ความหมายกำลังเคลื่อนไป อย่างน้อยเมื่ออธิบายคำว่า “สงบ” ในความหมายนี้ คนอื่นก็คงเข้าใจได้ทันทีไม่ยาก (เพียงแต่อาจไม่เห็นด้วยก็ได้)

เมื่อ คสช.กล่าวว่า การทำรัฐประหารของพวกเขาเป็นผลให้เกิดความสงบขึ้น นอกจากผมแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ยอมรับ สิ่งที่เกิดขึ้นจากอำนาจบังคับของ คสช.ก็คือ ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันต้องจำนนต่ออำนาจนั้น ด้วยการไม่เคลื่อนไหวใดๆ อีกเลย เพราะอาจถูกจับกุมคุมขัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อใดเลย นอกจากคำสั่งของ คสช.

แต่ความขัดแย้งไม่ใช่ความไม่สงบ เพราะในทุกสังคมและทุกสมัย มนุษย์ย่อมมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ ความขัดแย้งจะทำลายความสงบลงได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ใช้วิธีการนอกกฎหมาย, ระเบียบประเพณี, หรือความสมควรแก่เหตุในการต่อสู้กันต่างหาก หลังการยึดอำนาจของ คสช. ความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม (หรือยิ่งกว่าเดิม) เพียงแต่มีอำนาจบังคับอันหนึ่งที่ระงับการเคลื่อนไหวทุกอย่าง (ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กฎหมาย, ระเบียบประเพณี, หรือความสมควรแก่เหตุหรือไม่) ลงโดยสิ้นเชิงต่างหาก ถ้าเรียกสภาวะเช่นนี้ว่าคือความสงบ พัฒนาการของคนไทยกับฝูงสัตว์ในโรงละครสัตว์จะต่างกันตรงไหน

ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องไม่ถูกทำลาย ด้วยเหตุดังนั้นสังคมที่มีความสงบ ต้องให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพอย่างมั่นคง โดยไม่มีเงื่อนไขพิเศษชนิดใด เช่น ม.44 ที่อาจยกเว้นหลักประกันนั้นได้ตามใจชอบของผู้มีอำนาจ เพราะถ้าเรายอมรับเงื่อนไขพิเศษเช่นนี้ หลักประกันทั้งหมดในกฎหมาย, ระเบียบประเพณี และความสมควรแก่เหตุก็ไร้ความหมาย

นอกจากสิทธิเสรีภาพทางสังคมและการเมืองแล้ว สิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ “พื้นฐาน” เหมือนกัน จะให้คนสิบกว่าล้านคนที่ไปขอขึ้นทะเบียนเป็นคนจน มีสิทธิเสรีภาพทางสังคมและการเมืองเท่าคนอื่นจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอย่างไร ในสังคมที่คนจำนวนมากไม่มีรายได้พอแก่การบริโภค และ/หรือ พอแก่การสร้างอนาคตที่มั่นคงให้แก่ลูกหลาน จะเรียกว่าสังคมนั้นเป็นสังคมสงบ (สุข) ได้อย่างไร

ความสงบในสังคมใด ควรหมายถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนยอมรับได้อย่างถ้วนหน้าด้วย 4-5 ปี ภายใต้ คสช.กระบวนการยุติธรรมของไทยใกล้กับบรรทัดฐานอุดมคตินั้นมากขึ้น หรือน้อยลงกว่าเมื่อก่อนรัฐประหาร สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาหลายคดีหายไป เมื่อถูกบังคับให้นำคดีขึ้นสู่ศาลทหาร คนจำนวนอีกไม่น้อยถูกกักตัวในค่ายทหาร โดยไม่มีการแจ้งข้อหา

ความสงบภายใต้ คสช.จะมีความหมายต่อชีวิตคนได้อย่างไร หากสิ่งที่กล่าวข้างต้นไม่ถูกนับรวมอยู่ในความหมายของความสงบ

ผมคิดว่า ความหมายของ “สงบ” ดังที่กล่าวนี้ ไม่ใช่ความหมายที่เคลื่อนไปไกลเกินกว่าที่เจ้าของภาษาไทยจะตามไม่ทัน ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ แม้ไม่ได้อธิบายด้วยวาจาโดยตรง แต่ความเข้าใจโดยรวมก็มีอยู่กับคนไทยจำนวนมาก

ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ความหมายถูกช่วงชิงนิยามจากคนหลายฝ่าย ไม่เฉพาะแต่ความหมายของถ้อยคำภาษาเท่านั้น อาคาร, อนุสาวรีย์, ประวัติศาสตร์, ศิลปกรรม, ฯลฯ ล้วนถูกนิยามความหมายใหม่ ซึ่งอาจไม่ตรงกันในหมู่คนที่หลากหลายกลุ่ม

การตั้งชื่ออาคารรัฐสภาว่า สัปปายะสถาน ทำให้รัฐสภากลายเป็นที่ประชุมของคนดี ที่มุ่งจะเอื้อเฟื้อกันให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นคำตอบ “สุดท้าย” คือถูกต้องและดีงามซึ่งมีอยู่อันเดียว หน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำให้คนหลากหลายกลุ่มได้ต่อรองกัน เพื่อได้คำตอบที่พอรับได้แก่ทุกฝ่ายจึงหายไป (ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยสมมุติฐานว่า สังคมไม่มีคำตอบ “สุดท้าย” ที่ถูกต้องดีงามเพียงอันเดียว) และอาจโดยไม่เจตนา ก็เท่ากับยกอำนาจให้แก่คนที่อ้างว่าได้ครอบครองคำตอบ “สุดท้าย” ไว้แล้ว อาจเป็นทหาร, เป็นหมอ, เป็นผู้ดี, เป็นอดีตข้าราชการ, เป็นนายทุน ดังนั้น “สัปปายะสถาน” จึงกีดกันคนอื่นที่ไม่ใช่คนประเภทนี้ออกไปโดยปริยาย

ยกเอาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตั้งที่อื่น การเคลื่อนไหวทั้งหมดของประชาชนจำนวนมหึมา นับตั้งแต่ 14 ตุลา, พฤษภาคม 2535, และเมษายน 2553 ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตยอีกต่อไป ทำให้ประชาธิปไตยไทยกลวงเปล่าเท่ากับซากอิฐปูนที่ถูกยกออกไป

เช่นเดียวกับธรรมศาสตร์ อาจจะถึงครึ่งหรือเกินครึ่งของความหมาย “ธรรมศาสตร์” ในใจคนไทย อยู่ที่สิ่งซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ท่าพระจันทร์

ความหมายทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนถูกสร้างขึ้นทั้งนั้น แต่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากสูตรสำเร็จอันใดอันหนึ่ง แต่เมื่อสร้างขึ้นแล้ว กลับเป็นผลให้คนอื่นคิดอย่างไร และรู้สึกอย่างไร ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ความหมายเดิมกำลังไม่เป็นที่เข้าใจหรือยอมรับของผู้คนมากขึ้น จึงมีความพยายามนิยามความหมายกันใหม่หลายอย่าง ตอกย้ำความหมายเดิมบ้าง, ปรับความหมายเดิมให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปบ้าง, และพลิกความหมายเดิมไปสู่ความหมายใหม่บ้าง, ฯลฯ

เราทุกคนต่างอยู่ในสงครามนิยามความหมาย คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเชลย แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่สู้อย่างไม่ลดละต่อไป ในบรรดาคนที่สู้เหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่สู้โดยไม่รู้ตัว แต่สู้โดยรู้ตัวด้วยไม่ดีกว่าหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image