การดูแลเด็กพิเศษ ในแบบฉบับของชาวบ้าน : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ที่เรามาประชุมกันในวันนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างระบบระเบียบใหม่ของการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้หญิงชุดแดงนี่ใครกัน น่ารักเชียว และยังมีอีกหลายคน…) มีหลายประเทศมาประชุมในวันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง (เอ…เย็นนี้จะไปตีกอล์ฟที่ไหนดี…แล้วจะแวะไป…) เมื่อโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ผมอ่านถ้อยแถลงนี้ โลกก็ยังหมุนไม่หยุด (เย็นนี้มีนัดเลี้ยงรุ่น มหาวิทยาลัย…) ขอให้ทุกท่านระดมความคิดเห็นให้เต็มที่ เราจะ (ต้องโอนเงินให้ร้านซักแห้ง 2,000 บาท) เอ่อ…เราจะบันทึกข้อความของทุกคนไว้ เพื่อนำไปวิเคราะห์ (เอ…งบประมาณปีนี้จะได้เท่าปีที่แล้วหรือเปล่า…)

ข้างบนนี้คือคำพูดของประธานในที่ประชุมหนึ่ง และในวงเล็บคือความคิดภายในจิตใจของเขา เป็นสถานการณ์จำลองให้ง่ายต่อการเข้าใจว่า เวลาการกระทำและจิตใจหรือความนึกคิดของเราไม่ไปในทิศทางเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นสถาพการไม่มีสมาธิ ถ้าเป็นบ่อยๆ ในช่วงเวลาที่ใกล้ๆ กันก็คือสมาธิสั้น ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติกับคนปกติธรรมดาเราๆ นี่เอง

สมาธิสั้นในทางการแพทย์อาจจะมีนิยามต่างออกไป แต่บทความนี้ไม่เน้นนิยามทางการแพทย์ จะไม่เน้นนิยามแต่เน้นแนวทางในการเยียวยาที่มากไปกว่าการจัดอะไรให้เข้านิยามแล้วก็จ่ายๆ ยาไป เพราะบางครั้งนิยามนั้นหาข้อยุติไม่ได้แม้จะหลอกตัวเองว่ายุติ หรือยังไม่รู้ตัวว่ายังไม่ยุติหลงเข้าใจว่ายุติแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องทางจิต เช่น

1.อะไรคือการซึมเศร้า ซึมเศร้าต่างจากการโศกเศร้าปกติอย่างไร เอาอะไรวัด แน่ใจแล้วหรือว่าที่วัดนั้นถูกต้อง

Advertisement

2.อาการซึมเศร้าที่เป็นในลักษณะชั่วคราว เช่น 1-2 เดือน ต่างจากอาการเศร้าของคนปกติอย่างไร และกรณีใดต้องใช้ยา และแตกต่างจากคนอมทุกข์อย่างไร

3.คนอมทุกข์นั้นเป็นทุกข์เพราะทัศนคติของตนเองหรือทุกข์เพราะความเจ็บป่วยทางกาย หรือป่วยทางจิต

4.อาการทุกข์บางอย่างอาจเป็นเพราะสารเคมีในร่างกายหลั่งผิดปกติหรือเป็นเพราะทัศนคติการมองโลกของเขาเอง ถ้าความโลภทำให้เกิดความทุกข์สำหรับคนคนหนึ่งและเป็นทุกข์จริงๆ ที่อาจจะเข้านิยามของการซึมเศร้า เช่น การเสียสิ่งของหรือทรัพย์สินบางอย่างไปแพทย์จะแยกได้หรือไม่

และอย่างนี้ควรจะใช้ยาหรือไปปรับทรรศนะ

ผู้เขียนเห็นว่าบางทีแพทย์เองก็อาจจะแยกไม่ได้ แล้วที่แยกๆ กันอยู่นั้นคืออะไร

แต่แพทย์บางคนก็เลือกที่จะจ่ายยา เพราะถนัดในการจ่ายยา เด็กพิเศษบางคนก็ได้รับการจ่ายยาเพื่อรักษาอาการ

ความซับซ้อนอย่างนี้เป็นเช่นเดียวกันกับที่จะกล่าวถึงสติปัญญาหรือความสามารถในการคิด การรับรู้ และความจำของคน ในบทความนี้ ผู้เขียนถึงเลือกที่จะเสนอวิธีการแบบชาวบ้านที่ใช้ได้ผลจริง

จะสังเกตว่าสิ่งที่เราทำในปัจจุบัน คนที่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำจริงๆ นั้นมีน้อยมาก และมีความวอกแวกอยู่เสมอ แต่ไม่ถึงกับสมาธิสั้นแต่กระนั้นก็เรียกว่าใกล้ๆ สมาธิสั้นกันเลยทีเดียวสำหรับบางคน แต่เราก็ยังใช้ชีวิตร่วมกันได้เพราะเรายอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคลที่มีข้อดีและข้อเสียปะปนกันอยู่ แต่ละคนต้องมีข้อดีบ้าง

สำหรับผู้เขียนนั้นเห็นว่าสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น แต่บุคคลที่ไม่ค่อยมีสมาธิก็มิใช่จะทำงานไม่ได้ ผู้เขียนเคยรู้จักบุคคลหลายคนที่มีสมาธิสั้นแต่ใช้ชีวิตได้ เพราะความคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาในการทำหน้าที่นั้น อาจคิดออกได้ภายในเสี้ยววินาที นักกฎหมายที่เก่งๆ หลายคนที่ผู้เขียนได้สัมผัสคิดคำตอบของปัญหาของงานในหน้าที่ได้ในร้านกาแฟขณะเดินเล่นช้าๆ หรือในห้องน้ำ ในเวลาอาบน้ำและอื่นๆ ไม่ใช่ในที่ทำงานเสมอไป ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ว่า เขาคิดอยู่ตลอดเวลาแล้วมาคิดออกตอนที่ปล่อยตัวสบายๆ หรือเขาไม่คิดอะไรเลยปล่อยให้มีความว่างเปล่าในจิตใจแล้วพลันคิดออกในช่วงเวลาที่ปล่อยตัวสบายๆ และก็ไม่เคยได้คำตอบจากพวกเขา หรือแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรแต่อย่างไรก็ตามไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับทุกคน แต่ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า การคิดอะไรออกนั้น ไม่ต้องใช้เวลามาก ช่วงแวบเดียวก็พอ

เพราะเวลาในการคิดคำตอบของปัญหาต่างๆ นั้นในบางเรื่องใช้เวลาเพียงสั้นๆ เสี้ยววินาที เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเคยนำปัญหาข้อกฎหมายบางเรื่องลองไปถามบุคคลที่ไม่รู้กฎหมายดูว่าจะตอบอย่างไร ปัญหาบางเรื่องเป็นปัญหาที่นักกฎหมายถกเถียงกันอยู่และถกเถียงกันมาก พอไปถามชาวบ้านเขาตอบมาแบบไม่ต้องคิดในวินาทีนั้นเลย คำตอบที่ได้มานั้นธรรมดามาก เรียกว่าใช้คอมมอนเซนส์คิดเอาก็ได้ แต่เป็นคำตอบที่น่าจะใช้แก้ปัญหาได้จริงในทางกฎหมาย เพราะสอดคล้องกับความยุติธรรม รอแต่เพียงหาตัวบทใส่เข้าไปให้สอดคล้องกับคำตอบอย่างนักกฎหมายเท่านั้น

ความแตกต่างของบุคคลนั้นมีอยู่ อย่างเรื่องความจำและกระบวนความคิด ซึ่งเป็นเรื่องภายในที่มองไม่เห็น และนี่ยังไม่นับบุคคลที่สามารถคิดได้แบบนิมิต คือปิ๊งแวบขึ้นมาเอง ซึ่งมีส่วนน้อยแต่ก็มีปรากฏอยู่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีเอกลักษณ์ในแบบของเขา

เพื่อนของผู้เขียนบางคนมีความจำดีมาก ถึงขนาดที่เวลาอ่านหนังสือเรียนด้วยกันคนคนนี้จำได้ถึงขั้นว่าฎีกานี้อยู่ที่หน้าไหนของหนังสือ และอยู่ตรงบรรทัดที่เท่าใด เขาบอกว่าเขามีความจำแบบเป็นภาพ เมื่อนึกถึงเรื่องใดก็เห็นภาพที่เคยผ่านตาในเรื่องนั้นๆ ทั้งๆ ที่เมื่อดูภายนอกเพื่อนคนนี้เหมือนจะไม่ค่อยเต็มร้อย แต่ผลการเรียนกฎหมายออกมาดีมาก คะแนนเฉลี่ย 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นเสมือนทีมชาติในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น และปัจจุบันนี้ก็เป็นนักกฎหมายชั้นนำที่มีรายได้สูง

ความรู้ความเข้าใจที่ว่าบุคคลมีบุคลิกภาพที่ต่างกัน และเชื่อว่าความแตกต่างนั้นคือสิ่งสามัญ เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าเด็กพิเศษอย่างน้อยทัศนคติหรือความเห็นที่ถูกต้องนำไปสู่ความเข้าใจ

เรื่องที่จะกล่าวก็คือ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งแถวบ้านของผู้เขียนซึ่งทุกคนรู้แน่ชัดว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ มีอาการคือ ตัดสินใจช้า คิดช้า และพูดไม่ชัด พูดอะไรก็ชวนขำ เป็นเด็กที่น่ารัก น่าสงสารในสายตาของผู้เขียน เป็นเด็กที่คุยสนุกสนานแต่เป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งเลยและไม่ทันคน ครูบาอาจารย์ต้องเคี่ยวเข็ญอย่างมาก จนเรียนได้จบ ป.4 ต่อมาพอครบปีบวช พ่อแม่ก็ให้บวชเมื่อได้บวชเป็นพระแล้วก็ค่อยๆ หัดท่องบทสวดมนต์ ปรากฏว่าสวดมนต์ได้อย่างพระทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเคยคิดว่าจะทำได้ และบวชได้ถึง 2 พรรษา เมื่อสึกออกมาปรากฏว่าสมาธิดีขึ้น สามารถทำงานช่างปูนได้ งานช่างปูนในที่นี้คืองานก่อ โบกปูน ฉาบปูน สามารถทำงานตามคำสั่งของหัวหน้าช่างได้เป็นอย่างดี นี่คืออานิสงส์ของการสวดมนต์ที่ทำให้มีสมาธิดีขึ้น ทำให้เขาเก่งเท่าที่เขาพอจะทำได้ ปัจจุบันเขาก็ยังเป็นช่างปูนอยู่และเลี้ยงตัวได้ ทุกวันนี้เวลาพูดอะไรก็ยังชวนขำอยู่ เหมือนเป็นเด็กตลอดกาล แต่พอจะเก็บกิริยาได้บ้าง และยังคุยสนุกเหมือนเดิม

มีข้อที่น่าสังเกตว่า ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวชาวบ้านแท้ๆ การศึกษาไม่สูง แต่พ่อแม่และญาติๆ เข้าใจเด็ก เมื่อตอนเล็กๆ เห็นเขาสอนเด็กคนนี้ให้ลองทำอะไรตามคำบอกแล้วให้เด็กจำไปเรื่อยๆ อย่างใจเย็น เช่นบอกว่า ไอ้หนูลองทำสิ ทำอย่างนี้ได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ลองอีกแบบสิ สอนแบบเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ จนเด็กทำอะไรบางอย่างได้ด้วยความจำและเขาจะจำคำพูดของพ่อแม่ได้ เด็กคนนี้โชคดีหน่อยที่เจอคนเมตตามาโดยตลอด และรวมถึงท่านเจ้าอาวาสวัดที่บวชให้เขาด้วย ซึ่งทำให้เขาเข้าถึงการสวดมนต์และการทำสมาธิซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่เขาสามารถพัฒนาตนเองได้ครอบครัวนี้ไม่ได้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะดูแลเด็กคนนี้ ใช้แต่เพียงความเมตตาเยียวยาเท่านั้นก็ได้ผลมหาศาล

และแสดงให้เห็นว่าวัดหรือศาสนานั้นเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางเลือกได้ผลดีจริง

การทำงานช่างปูน การก่ออิฐ การโบกปูน การฉาบปูน เป็นงานที่อาศัยความชำนาญในการปฏิบัติ ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ โดยเฉพาะงานฉาบปูนนั้นต้องอาศัยการลงน้ำหนักในการฉาบให้สม่ำเสมอเพื่อให้ความหนาของปูนที่ฉาบนั้นเท่ากันและเรียบเสมอกัน สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือการทำซ้ำๆ จนชำนาญ ซึ่งอาจจะไม่ต้องอาศัยความคิดใหม่ๆ หรือกระบวนการใหม่ๆ ให้แตกต่างกันออกไป อาศัยเพียงความชำนาญที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเหมือนอย่างเดิมที่เคยทำก็พอ งานอย่างนี้เด็กพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนสามารถทำได้ และได้ทราบว่าคนที่ฝึกเด็กคนนี้จนชำนาญเป็นญาติของเขาซึ่งเป็นช่างปูนเหมือนกัน วิธีการฝึกคือทำให้ดูและให้เขาทำตาม น่าสังเกตว่าต้องใช้ลูกยอมากหน่อย คือพูดยอๆ พูดดีๆ กับเขาด้วยความนิ่มนวลในระยะเริ่มแรกที่สอน พอทำได้แล้วเขาก็จะค่อยๆ มีความชำนาญขึ้นได้ด้วยตนเอง และต่อมาก็ทำงานเป็นช่างปูนได้เหมือนช่างปูนทั่วไป เพียงแต่เป็นหัวหน้าช่างไม่ได้ คือเป็นผู้นำไม่ได้ แต่เขาเป็นผู้ตามที่ดี

สิ่งที่สำคัญก็คือ ขอให้พ่อแม่ทุกคนมีกำลังใจในการดูแลเด็กในปกครองของตนให้ดีๆ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร มีอาชีพที่เขาทำได้เสมอ บางอาชีพทำได้ดีกว่าคนอื่นอีกด้วย สำหรับเด็กพิเศษนั้นเป็นนักดนตรีก็ได้ เพราะการเล่นดนตรีตามโน้ต เกิดจากการจำโน้ตแล้วเล่นตามโน้ต อาศัยความจำบวกกับความชำนาญเหมือนกัน เด็กเหล่านี้อาจจะไม่มีความสามารถถึงขนาดแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ แต่การเล่นตามเพลงเดิมที่เคยฝึกมาก็น่าจะทำได้

อีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ คือการทำอาหาร ซึ่งต้องทำตามตำรับตำรา ก็น่าจะฝึกหัดให้เด็กทำได้เช่นเดียวกับงานช่างปูน ส่วนการทำขนมไทย ทองหยิบทองหยอด ขนมเบื้อง งานที่มองดูจะมีหลายขั้นตอน ก็แบ่งขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งให้เด็กทำก็น่าจะได้ เช่น ขั้นตอนการนวดแป้ง ขั้นตอนการปั้นแป้งให้เป็นลูกกลมๆ ขั้นตอนการขูดมะพร้าว คั้นน้ำกะทิ ให้เด็กรับผิดชอบเฉพาะขั้นตอนที่ตัวเองได้รับมอบหมาย

สำหรับคนที่ไม่มีความผิดปกติแบบซ้ำซ้อน การทำงานเลขานุการก็อาจจะทำได้ หากว่าเขามีความจำที่ดีพอ เมื่อเจ้านายถามอะไรก็ตอบได้ทันที โดยเฉพาะฎีกาต่างๆ ที่นักกฎหมายเรียนกันนั้นมีจำนวนมากเป็นพันเป็นหมื่นฎีกาและตัวบทกฎหมายอีกหลายร้อยฉบับ หากมีความจำขนาดที่ตอบได้ทันทีก็จะช่วยงานในที่ประชุมได้ในทันทีดีกว่าเปิดหนังสือหรือหาทางคอมพิวเตอร์เสียอีก

การทำงานแบบนี้คือการทำงานแบบแยกส่วน แยกบางส่วนให้เขาทำเพียงส่วนเดียวที่เป็นงานที่อาศัยความชำนาญในการฝึกฝน หรือความจำ

ย้อนกลับมาที่ช่างปูน ผู้เขียนดูเหมือนจะติดตามเด็กคนที่กล่าวถึงซึ่งเป็นช่างปูนนี้เรื่อยมา

ภายหลังต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทราบจากคนใกล้ชิด คือญาติของเด็กคนที่กล่าวถึงนั้นว่า ปัจจุบันเด็กคนนั้นเจริญวัยขึ้น ตอนนี้อายุราวสามสิบกว่าๆ รายได้จากการที่เขาเป็นช่างปูนนั้นสามารถส่งน้องของเขาให้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีได้สำเร็จ เป็นที่น่าภาคภูมิใจมากสำหรับชีวิตคนคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อพัฒนาตนเองและมีน้ำใจที่จะทำเพื่อคนอื่นอีก เป็นคนที่ประเสริฐในฐานะและตามอัตภาพที่เขามีอยู่ และในมุมมองของผู้เขียน

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดูแลเด็กของพ่อแม่และครูบาอาจารย์ ว่าขอให้มีความหวังและพยายามทำให้เต็มที่เพราะแนวทางที่เป็นไปได้นั้นมีอยู่จริง มิใช่เรื่องที่หมดหวัง และเป็นตัวอย่างของแนวคิดและการดูแลเด็กในแบบฉบับชาวบ้าน ในโอกาสวันเด็กในปีนี้ เผื่อจะช่วยใครได้บ้าง

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image