การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อันเป็นส่วนตัวของเราแต่ละคน : โดย กล้า สมุทวณิช

สัญลักษณ์เส้นตรงหักปลายหัวท้ายไขว้กัน เครื่องหมายแห่งพลวัติความเคลื่อนไหว ซึ่งชื่อของมันแปลว่าการสร้างความสวัสดี – สวัสติกะ (Swastika) สัญลักษณ์อันมงคลนี้เมื่อถูกกลับทิศและพลิกมุมลง 45 องศา ก็กลายเป็นสวัสติกะแห่งนาซี ที่เชื่อมโยงไปถึงอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การทำสงครามรุกรานทั่วยุโรปอันลุกลามไปทั่วโลกเมื่อเกือบศตวรรษก่อน พร้อมเหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเป็นบาดแผลสำคัญของมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในช่วงปี ค.ศ.1941-1945

สัญลักษณ์ดังกล่าวจึงเป็นตัวแทนแห่งการเหยียดชาติพันธุ์ในหลายประเทศทั้งทวีปยุโรปและอเมริกา การแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้นถือเป็นความผิดต่อกฎหมายด้วย แต่นอกเหนือจากกฎหมาย เรื่องนี้ก็กลายเป็น “ศีลธรรมเชิงการเมือง” หรือ Political correctness ในโลกยุคใหม่

ปัญหาคือ “ศีลธรรมการเมือง” เช่นว่านั้นเหมือนจะไม่ค่อยมีผลใช้บังคับหรือถูกมองว่าเป็นความผิดเรื่องต้องห้ามเท่าไรในบริบทไทยๆ เราจึงได้เห็นเด็กมัธยมแต่งชุดทหารนาซีเดินพาเหรด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงท่าทำความเคารพแบบนาซีเพื่อเสียดสีทางการเมือง หรือแม้แต่นักวิชาการชื่อดังก็ยังเคยแสดงทรรศนะว่าฮิตเลอร์และนาซีนั้นทำไปเพราะรักชาติบ้านเมือง

เหตุผลเพราะความห่างไกลจากพื้นที่เกิดเหตุและบริบทก็เป็นได้ และเหตุผลเรื่องความอ่อนด้อยในการให้การศึกษาก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งถ้ามองด้วยอุดมคติการจัดการศึกษาแบบราชาชาตินิยมก็พอเข้าใจได้ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปนั้นคงไม่มีประโยชน์เท่าการสอนว่าอาณาจักรซึ่งกลายเป็นประเทศเพื่อนบ้านนั้นเคยกระทำการรุกรานโหดร้ายกับบรรพบุรุษของพวกเราอย่างไร และพระมหากษัตริย์นักรบไทยนั้นยิ่งใหญ่กล้าหาญเพียงใด ประวัติศาสตร์แบบหลังสร้างความฮึกเหิม โกรธแค้นและรู้คุณให้แก่พลเมืองรุ่นเยาว์ของเรามากกว่า

Advertisement

เช่นนี้เรื่องของการแสดงใช้สัญลักษณ์สวัสติกะแห่งนาซี ไม่ว่าจะจงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงกลายประเด็นอ่อนไหวแหลมคมที่สุ่มกลับมาทิ่มแทงผู้คนที่เกี่ยวข้องอยู่เรื่อยในสังคมประเทศนี้ แม้ว่าจะได้รับการประท้วงชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง คือทางการเยอรมนีและอิสราเอลหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็เป็นเหมือนกับการเก็บเศษขวดแก้วแตกปากฉลามที่เพิ่งตำเท้าฝรั่งคนหนึ่งบนผืนทราย ทำแผลให้เขา แต่ก็ยังคงโยนขวดปากฉลามนั้นกลับลงไปในทะเล รอให้มันถูกคลื่นซัดกลับมาฝังใต้พื้นชายหาด และสุ่มสร้างบาดแผลความเจ็บปวดให้ใครสักคนเมื่อเวลาพอเหมาะมาถึง

รอบล่าสุด ผู้บังเอิญไปเก็บเศษขวดปากฉลามมาเล่นจนทิ่มตำบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เป็นเด็กสาววัย 19 ปี สมาชิกวงไอดอล BNK48 ที่สวมใส่เสื้อยืดลายธงของอาณาจักรไรช์ที่สามที่มีตราสวัสติกะนาซีตรงกลางขึ้นซ้อมก่อนแสดงคอนเสิร์ตใหญ่วันเลือกตั้งของวงไอดอลนี้

และบังเอิญที่เรื่องนี้เป็นจังหวะผีสางเอามากๆ ที่ดันเกิดขึ้นก่อนวันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล (International Holocaust Remembrance Day) ของเหตุการณ์ดังกล่าวพอดี

เรื่องราวก็วนซ้ำไป บรรดาคนไทยผู้รู้เรื่องศีลธรรมทางการเมืองก็ออกมาชี้โทษเธอ สถานทูตประเทศที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงท่าทีตามหน้าที่ ผลคือเด็กสาวและต้นสังกัดเข้าไปติดต่อขอขมากันไป ส่วนตัวเธอนั้นต้องรับผิดสารภาพทั้งน้ำตาบนเวทีคอนเสิร์ต

อย่างไรก็ตามในรอบนี้เรื่องมิได้จบง่ายเหมือนก่อนหน้านั้น เนื่องจากความโด่งดังของวงไอดอลเด็กสาว ที่นอกจากมีผู้รักใคร่ชื่นชอบคอยติดตามมากมายแล้ว ก็ยังก่อความชิงชังหมั่นไส้ในหมู่ผู้คนจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน ภาพลักษณ์ของเด็กสาวกลุ่มนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับโลกทุนนิยมบริโภคนิยมอันฟายฟูมไร้สาระ โลกที่คนซื้อแผ่น CD เพลงหรือข้าวโพดคั่วมาเททิ้งเพียงเพื่อต้องการสินค้าพรีเมียมของสมาชิกที่ตนเองโอชิบูชา รวมถึงคนหลายคนอาจจะอิดหนาระอาใจกับพฤติกรรมของบรรดา “โอตาคุ” ที่หมายถึงผู้ติดตามระดับเดนตายของวงไอดอลนี้

ยิ่งเมื่อมีภาพที่วงไอดอลสาวนี้เข้าไปให้การเยี่ยมเยือนผู้นำเผด็จการชาวไทยถึงทำเนียบรัฐบาล ทั้งให้จับมือฟรีและพูดจาให้กำลังใจ สมาชิกระดับกัปตันของวงไปร่วมกิจกรรมและโครงการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ก็ผลักให้ BNK48 กลายเป็นวงไอดอลหนุนเผด็จการที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามไปทันที ในสายตาของคอการเมืองและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองและสังคมผู้เคร่งเครียด

เมื่อเกิด “ความผิดพลาด” ดังกล่าวขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายก็รู้ทั้งรู้นั่นแหละว่าไม่ได้เกิดจากความจงใจของเด็กสาวไร้เดียงสาทางการเมืองผู้โชคร้ายที่จะเหยียดหยามประวัติศาสตร์หรือเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างใด เธอเพียงซวยหยิบเสื้อยืดมาสวมแบบไม่ดูสี่ดูแปด หากนั่นก็เป็นช่องอันดีและโอกาสอันงามให้ผู้ที่ต่อคิวเข้าชื่อจองกฐินกับวง BNK48 อยู่แล้ว ได้ขว้างปาข้าวของรองเท้าเข้าไปใส่สมาชิกคนนั้น โดยอาศัยความชอบธรรมจากศีลธรรมทางการเมืองเช่นว่านั้น

ไม่ต่างจากมหกรรมการล่าแม่มดหรือกลั่นแกล้งรังแกด้วยช่องทางออนไลน์

เพียงเพื่อใครสักคนอยากจะเย้ยหยันว่าเด็กสาวพวกนี้มีแต่รูปร่างหน้าตากับความสดใส แต่ขาดความรอบรู้ในประวัติศาสตร์โลกและศีลธรรมจรรยาทางการเมือง

เพียงเพื่อใครสักคนจะได้ระบายแค้นในครั้งที่วงของเธอไปเข้าพบและให้กำลังใจผู้นำเผด็จการ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่านั่นคือการรับรองความชอบธรรม หรือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ที่กดขี่คุกคามเสรีภาพของประชาชน

เพียงเพื่อใครสักคนได้ชี้ให้เห็นความเส็งเคร็งเฮงซวยของโลกทุกนิยมที่ปั้นสาวน้อยอ่อนต่อโลกขึ้นมาเป็นไอดอล ที่มีความหมายถึงบุคคลผู้เป็นศูนย์รวมแห่งการชื่นชมบูชา

สารพัดแห่งการโจมตีที่มีประเด็นทางอุดมการณ์และการเมืองส่งยิงไปสู่เด็กสาวอายุ 19 ปีคนหนึ่ง ที่กลายเป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวเหล่านั้น เธอผู้ต้องรับรองเท้า ขยะและก้อนอิฐก้อนหินแทนโลกทุนนิยมและผู้นำเผด็จการ การศึกษาล้าหลังของไทยหรือแม้แต่พฤติกรรมของเหล่าโอตาคุ

เรื่องนี้จึงน่าเศร้าที่ว่า แม้ตามความเป็นจริงแล้ว ในหมู่ผู้ตื่นตัวและเคลื่อนไหวทางการเมืองบางส่วนที่เข้าร่วมมหกรรมโจมตีไอดอลสาวนั้นเองก็ไม่ได้มองเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือการเรืองอำนาจของฮิตเลอร์เป็นเรื่องร้ายใหญ่โตอะไร คำพูดติดปากของพวกเขาเวลาที่พูดถึงผู้คนกลุ่มที่อยู่ฝ่ายฝั่งตรงข้ามกันในทางการเมืองคือ “จับพวกมันไปรมแก๊สเสียให้หมด” หรือการเอาภาพลักษณ์ของฮิตเลอร์มาวาดเป็นการ์ตูนล้อผู้นำไทยอย่าง “ลุงไข่” ของการ์ตูนไข่แมว ก็เป็นเรื่องที่รับได้ไม่น่ารังเกียจอย่างใด

เรามี “ศีลธรรมทางการเมือง” กันแบบทางเลือกเช่นนี้เท่านั้นเอง

หลายท่านคงเงื้อเถียงมาแล้วว่า ไอ้ที่ผมกล่าวไปทั้งสองเรื่องนั้นเป็นเรื่องล้อเล่น ไม่มีใครมีเจตนาทำจริงอย่างไรหรอก แต่เช่นนี้ พวกท่านเหล่านั้นได้นำเอาหลักเรื่องของ “เจตนา” ไปใช้ชั่งน้ำหนักเพื่อจะลงโทษน้องไอดอลที่ใส่เสื้อยืดผิดตัวผู้นั้นบ้างหรือไม่

แน่นอนว่าการที่เด็กสาวคนนั้นสวมเสื้อยืดแสดงตราสัญลักษณ์สวัสติกะนั้นเป็นเรื่องผิดมารยาททางการเมือง ที่คนที่มีความรู้รอบตัวสักนิดคงจะไม่ทำกัน ที่แย่คือต้นสังกัดหรือผู้เกี่ยวข้องก็มิได้เฉลียวใจตักเตือน แสดงให้เห็นถึงความขาดพร่องในการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก หรืออย่างน้อยๆ ก็เรื่องของมารยาทสากล

แต่ในเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือควรเดือดร้อนเขาก็ได้แสดงจุดยืนแสดงซึ่งความเสียใจของเขาไปแล้ว

ท่านที่ใช้ข้ออ้างต่างๆ นานาควรทบทวนว่าที่ตนเองเดือดร้อนออกมาประณามหรือตีวัวกระทบคราดเอาแก่เด็กสาววัย 19 ปี ผู้พลั้งพลาดคนหนึ่งนั้น ทำด้วยเจตนาใด หวังให้เกิดผลทางการศึกษา การทำความเข้าใจ หรือหมายเพียงระบายอารมณ์โดยการขี่โดยศาลไปกับศีลธรรมการเมืองเรื่องสวัสติกะ ก็คงมีแต่ตัวผู้นั้นเองที่รู้อยู่แก่ใจ

ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องรำลึกกัน หากจะรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือความผิดพลาดในเชิงความคิดและทรรศนะของผู้คนในยุคหนึ่งที่ไม่มองเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์ หากเห็นเป็นเพียงวัตถุมีชีวิตเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือชาติพันธุ์ที่แตกต่าง เป็นเพียงวัตถุที่อาจกำจัดทิ้งไปได้เหมือนการทุบอาคารที่แปลกปลอมกับภูมิทัศน์ของประเทศในอุดมคติของเรา

การไม่มองให้เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวมนุษย์ทำให้เราขาดมนุษยธรรม เมื่อเราไม่มองชาวยิว คนชั้นกลาง กระฎุมพี ผู้มีการศึกษา หรือ “สลิ่ม” และ “ควายแดง” ว่าเป็นมนุษย์เช่นเรา ก็จะมองไม่เห็นว่าคนที่ถูกส่งเข้าห้องรมแก๊ส คนที่ถูกจับไปเข้าค่ายสัมมนารวม หรือคนที่ถูกยิงตายกลางเมืองนั้นเป็นคนเป็นมนุษย์เช่นกัน แต่เป็นเพียงภาพแทนของการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม หรืออุดมการณ์ทางการเมืองอันเป็นภัย

มิใช่พ่อของเด็กๆ ที่ไหน ไม่ใช่ภรรยาของใคร ไม่ใช่ลูกชายหญิงอันเป็นที่รักของคนรอบข้าง ไม่ใช่คนที่ต้องทำงานตามบทบาทหน้าที่ และไม่ใช่เด็กสาววัย 19 ปี ผู้เชื่อว่าตัวเองกำลังทำตามความฝันอันสวยงามที่ทำให้คนอื่นมีความหวังและความสุข

โดยที่เราพร้อมจะเปิดห้องรมแก๊ส แปลงนารวม หรืออย่างน้อยก็ขว้างปาเจตนาร้ายใส่ผู้คนที่เราไม่เห็นความเป็นคนในตัวเขาก็ด้วยเหตุเช่นนี้ได้เสมอเมื่อมีปัจจัยอำนวย จะผิดกันก็แต่เพียงพฤติกรรม ความร้ายแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับโอกาสและอำนาจเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image