รัฐสวัสดิการ เป็นทางออกของประเทศไทย : โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกาภิวัตน์ จอห์น อึ๊งภากรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ได้กล่าวถึงประโยชน์ของรัฐสวัสดิการครบวงจรที่ “โอบอุ้ม ‘บิดา มารดา’ เมื่อป่วยหนักที่อังกฤษอย่างน่าประทับใจมาก และที่บ้านเรา พรรคการเมืองต่างๆ แข่งขันกันเสนอทางออกที่จะสร้างความเสมอภาคและลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นแรงสร้างสรรค์จากคนไทยทั้งประเทศ ข้อเสนอจากพรรคอนาคตใหม่เรื่องรัฐสวัสดิการจึงน่าสนใจมากเป็นพิเศษ สังคมเสมอภาคสูงของโลกในปัจจุบันที่ยุโรป เช่น เยอรมนี สแกนดิเนเวีย ก็เคยเผชิญความแตกแยกเพราะเหลื่อมล้ำสูงในอดีต ยังสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้นได้ เพราะคนรวยของยุโรปยอมลงทุนในระบบรัฐสวัสดิการเพื่อลดความขัดแย้งและวิกฤตสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อ 20 คล้ายกับที่เกิดกับไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และระบบนี้ยังคงอยู่ แม้เผชิญความท้าทาย ทำไมยุโรปเลือกรัฐสวัสดิการเป็นทางออก ถ้าจะนำมาปรับใช้กับบ้านเราจะเผชิญอุปสรรคอะไรบ้าง?

ยุโรปหันไปหาระบบรัฐสวัสดิการ ใช้หลักการอะไร

ปลายศตวรรษที่ 19 เยอรมนี เผชิญปัญหาคล้ายไทยในปัจจุบันหรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ คือธุรกิจขนาดใหญ่ผูกขาดสูง ในเมืองคนงานประท้วงการเอาเปรียบของนายจ้างบ่อยครั้ง ในชนบทนักธุรกิจใหญ่ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานเกษตร เกษตรกรรายเล็กรายย่อยมากมายมีฐานะเลวลง เหล่านี้ทำให้การเมืองขัดแย้งจัด สังคมระส่ำระสายไร้ทิศทาง

แต่เยอรมนีผ่านพ้นวิกฤตมาได้จนขณะนี้เป็นเศรษฐกิจที่แกร่งที่สุดในยุโรป เพราะเป็นประเทศแรกที่ยอมรับระบบรัฐสวัสดิการเพื่อแก้วิกฤตความขัดแย้ง รัฐจัดหาสวัสดิการสังคม เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ปรับระบบภาษีนำมาใช้จ่ายเพื่อการนี้ เพราะเห็นว่า การปล่อยให้ต่างคนต่างช่วยตัวเอง ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะไม่สร้างความรักกันในชาติ แต่ในภาวะที่เยอรมนีเพิ่งจะรวมตัวกันเป็นชาติ สวัสดิการสังคมสร้างความเชื่อมแน่นและความมั่นคงทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นการสร้างชาติ ที่น่าทึ่งมากก็คือ ผู้ริเริ่ม เป็นนักการเมืองอนุรักษนิยม ต่อมาแนวนโยบายนี้ขยายไปยังที่อื่นๆ รวมทั้งอังกฤษ ระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศของยุโรปมีความเฉพาะ แต่ที่คล้ายกันคือ การประกันสังคมขั้นพื้นฐานด้านการศึกษา สาธารณสุข บำนาญ การประกันการว่างงาน ที่อยู่อาศัย การฌาปนกิจ

Advertisement

จุดเด่นของระบบนี้คือ การยอมรับสิทธิความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกัน ความยึดมั่นในหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นสังคมเดียวกัน สาธารณชนส่วนใหญ่ภาคภูมิใจในระบบนี้ จนประท้วงเมื่อรัฐบาลถูกบีบโดยกระแสโลกาภิวัตน์ให้ลดอัตราภาษีเพื่อแข่งขันกันดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ

เพราะนัยยะของการลดภาษีคือรัฐบาลต้องตัดงบสวัสดิการสังคม ซึ่งราษฎรให้คงเอาไว้เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งหวนกลับมา นั่นคือพวกเขาพร้อมที่จะจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐสวัสดิการอยู่ได้

จึงเกิดเป็นวลีพูดถึง แบบจำลองสังคมยุโรป คือระบบเศรษฐกิจสังคมที่ให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ต่อความเป็นธรรมและความเชื่อมแน่นทางสังคม ซึ่งจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเพราะราษฎรมีรายได้สูงพอๆ กันจึงช่วยขยายตลาด เป็นผลดีต่อกำไรของนักธุรกิจ ไม่ใช่แบบอเมริกันโมเดลที่เลือกความเติบโตทางเศรษฐกิจก่อน เพื่อหวังผลจากการไหลริน (trickle down) ที่ต้องแก่งแย่งแข่งกันดึงมาจากเค้กเศรษฐกิจแบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา ใครมือสั้นก็ช่วยไม่ได้

Advertisement

และยังมีหลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย social wage ที่ว่าทุกคนในสังคมมีสิทธิได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (basic needs) ดังนั้น การประกันรายได้ขั้นต่ำ การมีระบบบำนาญถ้วนหน้าจึงเป็นความชอบธรรม เพราะทุกคนในสังคมล้วนมีบทบาทสร้างสังคมทั้งสิ้น เช่น แม่บ้านที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่ได้ทำงานมีเงินเดือนเหมือนใครๆ ไม่แฟร์เลยที่เธอไม่ได้รับรายได้ขั้นต่ำและบำนาญจากสังคม เพราะเธอทำงานหนักทีเดียวในการเลี้ยงดูคนรุ่นเยาว์ของสังคมตั้งแต่อุ้มท้องจนคลอดจนเติบใหญ่ไปโรงเรียนได้ เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และให้นักธุรกิจจ้างไปทำงานทำกำไรให้ แม่บ้านไม่ได้รับเงินเดือน แต่เธอควรได้รับค่าตอบแทนจากสังคม เมื่อเธอไม่ได้ ก็เท่ากับว่าเธอจ่ายคืนส่วนที่ไม่ได้รับเป็นภาษีให้แก่สังคมนั่นเอง ปู่ย่าตายายหรือสมาชิกครัวเรือนที่ไม่ได้ทำงานกินเงินเดือนแต่ทำหน้าที่เลี้ยงหลานซึ่งพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน หรือที่ดูแลคนแก่ชรา หรือคนป่วยที่บ้าน ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแม่บ้านที่กล่าวไปแล้ว พวกเขาก็มีส่วนสร้างสังคมและควรได้รับรายได้ขั้นต่ำและบำนาญในระบบสวัสดิการด้วย

หากไทยจะมีระบบรัฐสวัสดิการ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน เราจะเผชิญอุปสรรคอะไรทั้งจากปัจจัยภายในปัจจัยภายนอก?

กระบวนการโลกาภิวัตน์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มเอื้อแก่ธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ (การผูกขาด) ทำให้ธุรกิจรายย่อยเสียเปรียบ และเปิดช่องให้หลีกเลี่ยงภาษีได้ด้วยการไปตั้งสำนักงานขายในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ

การกำกับธุรกิจข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศ ซึ่งยาก สำหรับเรื่องภาษี ก็เช่นกันแต่จะง่ายกว่าและ OECD ก็ได้เริ่มกระบวนการเจรจาแล้ว แต่สภาพการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย จะชะลอความก้าวหน้าในเรื่องนี้ เหมือนเรื่องปัญหาโลกร้อน ประเทศไทยมีบทบาทได้ไม่มาก แต่การมีรัฐบาลที่หูตา
กว้างไกลและร่วมมือในระดับสากลก็จำเป็น

อุปสรรคจากปัจจัยภายในคือ แรงต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งมักติดยึดกับความเชื่อสองประการ คือ หนึ่ง ระบบรัฐสวัสดิการต้นทุนสูงและไร้ประสิทธิภาพจึงเป็นภาระต่อสังคม สอง ปล้นเอาจากคนรวยไปให้คนจนจึงเป็นผลเสียแก่ธุรกิจ ในส่วนต่อไปจะเสนอข้อโต้แย้งความเชื่อทั้งสองนี้

1.จริงหรือที่ระบบรัฐสวัสดิการต้นทุนสูงและไร้ประสิทธิภาพจึงเป็นภาระต่อสังคม

จริงอยู่ที่ระบบรัฐสวัสดิการมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจจะลดแรงจูงใจในการทำงานของบางคน แต่ข้อวิจารณ์นี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของภาพทั้งหมด อีกส่วนหนึ่ง ทางด้านอุปสงค์รวม กลับช่วยเพิ่มการบริโภคให้สะวิงขึ้นลงน้อยลง ส่งผลเพิ่มเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และทางด้านอุปทาน เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ (การศึกษา การเพิ่มพูนทักษะ) ในเรื่องผลกระทบต่อแรงจูงใจ งานศึกษาวิจัยในช่วงเร็วๆ นี้กลับพบว่าระบบรัฐสวัสดิการเพิ่มความมุ่งมั่นในการทำงาน

2.จริงหรือที่ระบบรัฐสวัสดิการคือการปล้นจากคนรวยมาให้คนจน จึงไม่เอื้อต่อการลงทุน?

ตามหลักความเป็นธรรมของของระบบภาษี คนมีมากก็ต้องจ่ายมาก คนมีน้อยก็ต้องจ่ายน้อย ในทางปฏิบัติบางคนจ่ายแต่อาจจะไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินเลย เช่นแม่บ้านที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้านและไม่ได้รับเงินเดือนจากสังคมดังที่กล่าวถึงข้างต้น แต่เมื่อทุกคนซื้อของทุกคนล้วนช่วยกันจ่ายภาษีและล้วนมีบทบาทสร้างสังคมในความสามารถต่างๆ กันไป

การกระจายรายได้จากผู้ร่ำรวยไปสู่ผู้ที่จนกว่า เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของระบบรัฐสวัสดิการ ที่สำคัญกว่านั้น ต้องมองภาพทั้งหมดเป็นพลวัต เมื่อผู้ที่ได้รับสวัสดิการสังคมได้ใช้จ่ายไป เท่ากับช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเมื่อได้รับบริการสาธารณะที่สร้างทักษะมีสุขภาพดีขึ้น เขาก็จะหางานที่ให้รายได้ดีได้ สังคมก็จะได้กลับมาในรูปของภาษีให้แก่รัฐต่อไป

อีกอย่างหนึ่งต้องมองแบบสร้างสรรค์ว่ารัฐสวัสดิการประกอบด้วยชุดนโยบายที่ดำเนินการโดยสถาบันด้านนโยบาย เพื่อสนองสิทธิของทุกคนในสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงการกุศล เป็นการให้ความมั่นคงทางสังคมแก่ทุกคนซึ่งอาจจะเผชิญความยากไร้ทางเศรษฐกิจ (ตกงาน) และทางสังคม (ความเจ็บป่วย) ในช่วงชีวิต สำหรับแต่ละคนการร่วมจ่าย (ในรูปแบบต่างๆ) เสมือนเป็นกระปุกออมสินเอาไว้ใช้ในยามยาก สำหรับทั้งสังคมเป็นการลงทุนทางสังคม ซึ่งการลงทุนเหล่านี้แทนที่จะเป็นภัยกับนักธุรกิจกลับทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตเป็นยุคทอง

เราจะใช้ข้อโต้แย้งเหล่านี้ ชักจูงผู้มีฐานะดีในประเทศไทยเราให้ร่วมด้วยช่วยกันเสียภาษีเพื่อสร้างระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องการคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image