จับตา…‘อัยการ’ผุดแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเพื่อประชาชน

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 13 มาตรา 248 บัญญัติให้ “องค์กรอัยการ มีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง”

นับได้ว่าสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรที่มีความมั่นคงและดำรงอยู่มาเป็นระยะเวลานานถึง 125 ปี อีกทั้งเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความยุติธรรมเพื่อความเป็นสุขของประชาชน และประเทศชาติ

ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ให้ไว้เมื่อ 30 มกราคม 2555…“อันอัยการเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อความเจริญ เพื่อความยุติธรรมของประเทศ ถ้าท่านปฏิบัติดีจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศชาติมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย การปกครองนั้นต้องมีระเบียบ ต้องมีความเรียบร้อย คือจะต้องมีความยุติธรรม อัยการมีส่วนสำคัญในการสร้างความยุติธรรมของประเทศ ถ้ามีความยุติธรรม ทำให้ประเทศอยู่เย็นเป็นสุขได้ แต่ถ้าขาดความยุติธรรมประเทศชาติไม่มีทางที่จะดำเนินการไปโดยดี”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ร.10) ให้ไว้เมื่อ 29 พฤษภาคม 2561..“หน้าที่นี้ ก็มีความสำคัญเกี่ยวพันกับความถูกต้อง ความสุข ความยุติธรรม และความเรียบร้อยของประเทศชาติและประชาชน การทำงานนั้น ทฤษฎี บทเรียน บทปฏิบัติ ด้วยกฎหมายก็มี แต่ทางปฏิบัติกาลเทศะ ศีลธรรม ความถูกต้อง หรือในเรื่องของความเมตตาธรรม มีส่วนเกี่ยวข้อง บางทีการปฏิบัติก็ต้องใช้ประยุกต์ในทฤษฎีต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเที่ยงธรรม โดยไม่ใช้กฎหมาย หรือช่องโหว่ของกฎหมาย ทำในสิ่งใดที่เป็นอคติ หรือความรู้สึกที่ไม่ดี หรือเป็นทาสของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี”

Advertisement

ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสุด โดยศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และมีความตั้งใจจริงต่อการปฏิรูปองค์กรอัยการ ตระหนักถึงอำนาจหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงได้มุ่งมั่นในการพัฒนาปรับปรุงองศ์กรอัยการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ.2561 สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำแผนปฏิรูปองค์การเพื่อพัฒนาองค์กรและเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ

แผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ทุกกลุ่มบุคคลมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเสมอภาค ได้รับหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่มีมาตรฐานตามสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับการดำเนินการตามมาตรการอื่นแทนการถูกควบคุมตัว จำคุก กักขัง และสังคมมีความปลอดภัย เป็นธรรมโดยจำเลยได้รับการกำหนดโทษที่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำผิด และมีการกระทำผิดซ้ำลดลง มีระบบสอบสวนคดีอาญาที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ไม่มีคดีขาดอายุความ และปราศจากการถูกแทรกแซง มีระบบนิติวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล เป็นที่น่าเชื่อถือและผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์มีความเป็นอิสระ รวมทั้งให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งอำนวยความยุติธรรม ด้วยความสะดวก รวดเร็วโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น จึงกำหนดประเด็นที่เชื่อมโยงกับการปฏิรูปองค์กรของสำนักงานอัยการสูงสุด ดังนี้

1.การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า

Advertisement

2.การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

3.การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม

4.การกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้ขาดอายุความ

5.การพัฒนาระบบการสอบสวนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ

6.การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อมุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว

สำหรับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กฎหมายที่ตราขึ้นเป็นกฎหมายที่ดี มีการตรากฎหมายเท่าที่จำเป็น การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่ตราขึ้นปรับปรุงสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทบทวนหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน มีกลไกทางกฎหมายในการสร้างความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ มีการพัฒนากระบวนการตรากฎหมายให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอกฎหมาย และกลไกช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายภาครัฐ พัฒนาการเรียนการสอน การศึกษาอบรมวิชากฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นผู้มีความรอบรู้ มีคุณธรรม และจริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและป้องกันการทุจริต ประปฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดประเด็นการปฏิรูปในด้านนี้ไว้ดังนี้

มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและจัดการให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

มีกลไก ให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าใจกฎหมายได้ง่าย รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกฎหมาย คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือการตีความกฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก

ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมาย เพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแผนปฏิรูปองค์กรของสำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการองค์กรที่คล่องตัว ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง มีขั้นตอนการตรวจสอบการประพฤติมิชอบของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ชัดเจน โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับจากประชาชน

ส่วนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ซึ่งผู้เขียนเคยปฏิบัติหน้าที่นี้ในฐานะกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิมาก่อน เห็นพ้องกับการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดทำโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง และการปรับปรุงระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยระบบ CBM(competency-based management) รวมถึงการปฏิรูปการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้บุคคลของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นคนเก่ง คนดี รักและผูกพันองค์กร อย่างจริงใจ

ในด้านกระบวนงานก็ได้มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนงานสำนักงานอัยการสูงสุดสู่กระบวนการแบบดิจิทัล เพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุด มีกระบวนงานที่กระชับสามารถอำนวยความยุติธรรมและบริการประชาชนโดยไม่ล่าช้า พร้อมทั้งได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเป็นสำคัญด้วย

อย่างไรก็ดี นอกจากความมุ่งมั่น พัฒนาปฏิรูปองศ์กรของผู้นำสำนักงานอัยสูงสุดคนปัจจุบันดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สมควรจะชื่นชมอีกประการหนึ่งก็คือ การเกิดนิมิตใหม่ในสมัยอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงความใจกว้าง ในการยินยอมให้เกิดการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการตรากฎหมายเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ การได้มาของประธาน ก.อ. ซึ่งเป็นผู้นำคณะกรรมการอัยการ อันเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุด ผู้ทรงอำนาจ หน้าที่ ในการคัดสรร บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย และลงโทษ ข้าราชการอัยการทั่วประเทศ ให้เป็นระบบใหม่ โดยเป็นการเลือกตั้งจากข้าราชการอัยการทั่วประเทศ ตาม พ.ร.บ.อัยการฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งแต่เดิมตาม กม.ฉบับเก่านั้น อัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ.โดยตำแหน่ง

การเกิดนิมิตใหม่ดังกล่าว มีผลบังคับถึงการได้มาของกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นบุคคลภายนอกอีก 2 คน ก็ให้เป็นสิทธิของข้าราชการอัยการทั่วประเทศเป็นผู้เลือกเช่นกัน (ต่างจากเดิมให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือก) การนี้จึงทำให้องค์กรอัยการแห่งนี้ มีความเป็นอิสระ และความเป็นกลางในการบริหารราชการยิ่งขึ้น เนื่องจากข้าราชการอัยการทุกคนมีโอกาสเลือกประธาน ก.อ.ด้วยเสียงตนเอง ต่างจากระบบเก่านั่นเอง

ไพรัช วรปาณิ
อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image