พรรคการเมืองกับเกษตรกร : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ถ้าสังเกตให้ดี พรรคการเมืองมักหาเสียงกับเกษตรกร ซึ่งเข้าใจว่ามีจำนวนประชากรมากที่สุดของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ประมาณกันว่าน่าจะมีประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะจริง ถ้าประชากรของประเทศมี 70 ล้านคน เกษตรกรก็ควรจะมีประมาณ 23 ล้านคน อีก 48 ล้านคน ก็เป็นแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม

แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว เพราะแรงงานไทยไม่ได้ทำอาชีพเดียว เช่น ชาวไร่ ชาวนา ก็จะกลับไปทำไร่ทำนาในฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยว เวลาระหว่างนั้นก็จะออกมาหางานทำในเมือง เช่น ขับรถรับจ้าง ทั้งแท็กซี่และสามล้อเครื่อง บ้างก็เช่าที่ค้าขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร เป็นแม่ค้าออกมาค้าขาย เป็นพ่อครัวแม่ครัวทำอาหารขายข้างถนน หรือหน้าโครงการก่อสร้างต่างๆ แต่ไม่เป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงานในตลาดสด หรือแรงงานก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้แรงงานจากต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา

งานผู้ช่วยแม่บ้านทุกวันนี้ล้วนแต่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีคนไทยทำแล้ว การประมงในท้องทะเลก็ใช้แรงงานชาวมอญจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งงานในภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งไม่อาจจะหาแรงงานไทยได้ ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน

ความจริงผู้คนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมในชนบทแท้ๆ นั้นบัดนี้มีน้อยแล้ว ภาคเกษตรกรรมทุกวันนี้ผลิตเพียงร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น ที่เคยเชื่อกันว่าภาคเกษตรนั้นโอบอุ้มแรงงานไว้ถึง 1 ใน 3 บัดนี้ก็ไม่น่าจะเป็นจริงแล้ว ภาคเกษตรกรรมที่มีผลผลิตสูงน่าจะเป็นเขตเกษตรก้าวหน้าหรือเขตเกษตรชลประทาน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด เก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้ประมาณร้อยละ 15 ของปริมาณฝนที่ตกในประเทศไทย อีกร้อยละ 85 ปล่อยให้ไหลลงทะเลไป

Advertisement

เนื่องจากครอบครัวเกษตรกรในชนบทส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพเดียว แต่ทำงานหลายอาชีพ การนับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรจึงเป็นไปได้ยากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจมักจะเป็นตัวเลขประมาณการเพื่อจะได้ของบประมาณช่วยเหลือมากกว่า

แม้กระนั้นนักการเมืองส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวพ่อค้า ผู้รับเหมา ผู้จัดการสาขาของธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจการเงิน และเกือบทั้งหมดเป็นคนไทยเชื้อสายจีน กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นครอบครัวนักธุรกิจในท้องถิ่นที่อยู่ในเมืองและอยู่ในทุกพรรคการเมือง ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก็จะมาจากครอบครัวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้
นักการเมืองทุกคนทุกพรรคต่างก็หวังเอาคะแนนเสียงจากเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวนและชาวนา และพยายามเอาอกเอาใจผู้ลงคะแนนเสียงที่อยู่ในภาคการเกษตร

วิธีเอาใจเกษตรกรก็คือให้สัญญาว่าจะยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นกว่าราคาตลาดโลก เพื่อให้เกษตรกรเงยหน้าอ้าปากได้ โดยไม่แยกเกษตรกรร่ำรวยในเขตเกษตรก้าวหน้าออก โดยไม่แยกคุณภาพและชนิดของสินค้าเกษตรออก ผลก็คือราคาที่แท้จริงถูกยกให้สูงกว่าราคาตลาดโลกไม่ได้ ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทุกประเทศจะตั้งราคาให้สูงกว่าราคาตลาดโลกหรือกดราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาดโลกไม่ได้ นโยบายราคาจึงเป็นไปไม่ได้ แต่พรรคการเมืองทุกยุคทุกสมัยก็ยังหลอกตัวเองและหลอกเกษตรกรว่าตัวเองทำได้ โดยการเข้าแทรกแซงตลาด โดยการตุนสินค้าบางส่วนไว้และโฆษณาว่าการทำเช่นนี้ราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง
ทางฝ่ายเกษตรกรเมื่อมีการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อไร่เพื่อคำนวณต้นทุนของเกษตรกรในการผลิตตัวเลขที่ได้จากการสำรวจก็ล้วนเป็นข้อมูลเท็จที่ชาวไร่ชาวนาแต่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตต่อไร่ ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงที่ใช้ เมื่อคำนวณออกมาแล้วชาวนาทุกคน “ขาดทุน” ทางการก็ใช้ข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณงบประมาณที่จะนำไปชดเชยชาวไร่ชาวนา

Advertisement

สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงก็เพราะ 5 ปีที่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศ ได้ยกเลิกโครงการประกันราคาข้าว ยกเลิกโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลก่อน แต่ปริมาณการผลิตข้าวและปริมาณส่งข้าวออกก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ทุกปีแทนที่จะลดลง

ถ้าหากชาวนาขาดทุนจริง คงไม่มีชาวนาคนใดยอมผลิตในปริมาณเท่าเดิมหรือสูงขึ้นกว่าเดิม โครงการประกันราคาหรือโครงการรับจำนำข้าวและพืชผลอย่างอื่นๆ จึงเป็นโครงการหาเสียงทางการเมืองโดยแท้ ผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่า ควรจะเอาเงินจำนวนนั้นไปสร้างทางรถไฟ ถนนหนทาง ท่าเรือ โรงไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้สมกับที่เขาต้องรับภาระหนี้สินที่รัฐบาลในยุคนี้ได้สร้างขึ้นมา

นักการเมืองหลายคนหลายพรรคมักจะอ้างนโยบายเกษตรกรรมของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่เขามีความสามารถในการผลิตสูง มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง หากปล่อยให้ภาคเกษตรอยู่อย่างเสรีเกษตรกรก็คงเลิกทำการเกษตรเสียหมด เพราะราคาตลาดโลกไม่สามารถจูงใจให้ผู้คนในประเทศเหล่านั้นยังผลิตสินค้าเกษตรอยู่ได้ รัฐบาลจึงพยายามรักษาจำนวนเกษตรกรเอาไว้เพียงร้อยละ 3-5 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ทางการก็รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดในราคานโยบาย ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกโดยประมาณเท่าตัว แต่ทางการจะจำกัดเนื้อที่เพาะปลูกสำหรับพืชสารพัด ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นเขตๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะห้ามการนำเข้าสินค้าเกษตรชนิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด หรือน้ำตาล เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ สินค้าจากการประมง ถ้าปีใดมีเหลือจากการใช้ภายในประเทศ รัฐบาลก็จะทุ่มสินค้าเหล่านั้นออกมาขายในตลาดโลกเพื่อไม่ต้องเก็บสต๊อก หรือไม่ก็นำไปทำลายทิ้งเสียเพื่อไม่ให้ราคาตลาดโลกตกต่ำ เช่น ในกรณีกาแฟ เป็นต้น

การที่พรรคการเมืองเอาใจเกษตรกรในฐานะผู้มีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งนั้น มิใช่จะเป็นเช่นนี้เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือแม้แต่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือนำเงินภาษีอากรจากผู้คนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการไปอุดหนุนภาคเกษตร โดยการให้ผู้บริโภคภายในประเทศต้องบริโภคสินค้าเกษตรที่ตนผลิตในราคาที่แพงกว่า หากไม่ผลิตแล้วนำเข้าจากต่างประเทศมาแทนจะทำให้รัฐบาลสามารถลดภาษีอากรไปได้อีกมาก เพราะไม่ต้องนำภาษีนั้นไปอุดหนุนภาคเกษตรของตน
ในกรณีของประเทศไทย ภาคเกษตรผลิตสินค้าเพียงร้อยละ 8-10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดเท่านั้น แต่มีแรงงานในภาคเกษตรถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง หากจะลดจำนวนแรงงานในภาคเกษตรลงสักครึ่งหนึ่งก็คงจะไม่มีผลต่อปริมาณการผลิต เพราะแรงงานไม่ใช่ข้อจำกัดในการผลิตในภาคเกษตร

ปริมาณการส่งออกต่างหากที่เป็นข้อจำกัดของการผลิตในภาคเกษตรกรรมของเรา

แม้แต่รัฐบาลเผด็จการทหาร เมื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งที่แม้จะเป็นเพียง “พิธีกรรม” เพราะมีสมาชิกวุฒิสภาคอยยกมือเป็นฝักถั่วให้อยู่แล้ว ก็ยังไม่วายที่จะต้องหาเสียงกับเกษตรกรด้วยเหมือนกัน ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่าหาเสียงกับผู้คนนอกภาคเกษตรน้อยกว่าหาเสียงกับเกษตรกรด้วยซ้ำ

แม้ว่าภาคเกษตรจะผลิตเพียง 8-10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ภาคเกษตรและภาคประมงของเราก็ก่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นผลผลิตส่งต่อไปในภาคอื่นไม่น้อย เช่น ภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร เช่น โรงสี โรงน้ำตาล โรงงานทำยางรถยนต์ ทำเบาะ ทำหมอน โรงงานสิ่งทอบางส่วน เป็นต้น

นักการเมืองกับเกษตรกรจึงเป็นของคู่กัน แยกกันไม่ออก ทั้งในแง่อาชีพต่อเนื่องกัน และในแง่เป็นฐานเสียงให้กับนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ

นโยบายที่ส่งผลไปถึงประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่เกษตรกรจึงมีความสำคัญ เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้เป็นนโยบายประชานิยมจนเป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมาจากภาษีอากรของผู้คนทั้งประเทศรวมทั้งเกษตรกรเองด้วย
นโยบายเอาใจเกษตรกรจึงมีความจำเป็นทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image