คำเตือนของป๋า คำท้าของลุง : โดยสมหมาย ปาริจฉัตต์

ติดตามละครการเมืองก่อนเปิดรับสมัครเลือกตั้งแล้ว คิดถึงคำของป๋า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ประธานองคมนตรีที่ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “อย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู”

เหตุจากลุงเกิดอาการนอตหลุด ปล่อยวลีเด็ดออกมาตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามจนกลายเป็นวาทะแห่งปีอีกครั้ง ว่า “ก็กฎหมายว่าอย่างนี้ มึงมาไล่ดูสิ ไล่ให้ได้” ฮือฮาไม่แพ้คำสบถของอดีตนายกฯคนแดนไกลที่ว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” จนเป็นวาทะอินเตอร์ คนจดจำไปทั่วโลก

ถึงจะรีบกล่าวคำขอโทษในเย็นวันเดียวกัน “เมื่อเช้าพูดไม่เพราะ ขอโทษด้วย บางทีก็เผลอไผลไปบ้าง เราไม่ได้ว่าทุกคน แต่คนที่ไม่ดีก็มีอยู่” ก็เถอะ

ลุงว่าใคร ตอนที่พูดคิดถึงใคร เป็นคนไล่ล่า ไม่มีใครรู้เพราะอยู่ในใจคนพูด แต่ที่แน่ๆ ไม่ต้องเป็นหมอก็วินิจฉัยได้ว่า สาเหตุเกิดจากภาวะกดดันจนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ เพราะมองคนเห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม ถึงขั้นเป็นศัตรูหรือไม่ เจ้าตัวรู้ดีที่สุด

Advertisement

ความกดดันทางอารมณ์เกิดจากความคิดที่ว่าผู้อื่นกระทำต่อตนเอง แต่แท้จริงแล้วเกิดจากทรรศนะของตัวเองที่มีต่อเสียงเรียกร้องให้ 4 รัฐมนตรีลาออก มองว่า ผู้เรียกร้องกำลังไล่ล่าต่างๆ นานา

แต่หากมองมุมกลับ มองอีกมุม เป็นสิทธิของฝ่ายเห็นต่างที่เห็นว่าการที่รัฐมนตรี 4 คนยังอยู่ในตำแหน่งขณะเดียวกับเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งด้วย ทำให้เกิดความได้เปรียบ ล่อแหลมต่อการได้ประโยชน์จากอำนาจ หน้าที่ในรัฐบาล

เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับ เป็นเรื่องปกติของการเมือง อารมณ์ฉุนก็จะไม่เกิด

แต่เมื่อมองว่าเป็นการไล่ล่า ทำให้เกิดความกดดัน คิดเลยมาถึงตัวเองด้วย ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว ฉุนเฉียว จนเก็บอาการไม่อยู่

ทำนองเดียวกันกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำต่อกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมตามคำท้าทาย “มึงมาไล่ดูสิ” รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเชิญบิ๊กตู่ลาออก โดนควบคุมตัวไปดำเนินคดี

กับกรณีชายแปลกหน้าเข้าไปนั่งสังเกตการณ์การทำหุ่นล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ที่จะมีขึ้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ที่สนามศุภชลาศัย โดยอ้างว่าช่วงใกล้เลือกตั้งแล้ว อยากให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

กรณีแรกเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 นักศึกษาไม่แจ้งให้ทราบก่อนการชุมนุมจัดกิจกรรม กรณีหลังอ้างว่าจะทำให้กระทบต่อการเลือกตั้ง อาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ที่น่าแปลกแต่จริง คือ อ้างว่าอยากให้ภาพลักษณ์ของนายกฯดูดี และไม่อยากให้ทำหุ่นล้อการเมืองที่เป็นหุ่นล้อ ลุงตู่ หรือคนในรัฐบาลคนใดทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่กิจกรรมการแสดงออกของนักศึกษาในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯทำนองนี้ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการแสดงออกตามปกติ บางยุค คำล้อเลียนและอารมณ์ขันยิ่งกว่านี้ เป็นสีสันบรรยากาศของระบอบประชาธิปไตย

มาถึงสมัยนี้เวทีการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน สถานการณ์กลับตรงข้าม ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ สุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ยิ่งกว่าบางช่วงที่สังคมไทยตกอยู่ใต้อำนาจนิยมเช่นเดียวกัน

เหตุจากการบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานมุมมองเชิงลบนั่นเอง

แทนที่จะเห็นว่าการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา เป็นสิ่งที่ดี ควรส่งเสริมสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นสีสัน ความหลากหลายเป็นความสวยงามของสังคมประชาธิปไตย

มองมุมบวก มองพวกเขาเป็นมิตร ไม่ใช่เป็นศัตรู ก็จะไม่นำไปสู่การเล่นงาน ขัดขวาง ดำเนินคดี โดยอ้างกฎหมายเป็นตัวตั้ง

ครับ กฎหมายเป็นกติกาของสังคม เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เป็นหลักการพื้นฐาน ใครๆ ก็เข้าใจได้

แต่ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายก็ทำได้ทั้งสองด้าน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายจะใช้ไปทางไหน ระหว่างเป็นคุณ ส่งเสริม หรือเป็นโทษ ปิดกั้น ขัดขวาง ทำลาย

ที่สำคัญมุ่งตอบสนองประโยชน์ของใครเป็นหลัก ระหว่างสังคมส่วนร่วม หรือผู้มีอำนาจที่ชี้ชะตาชีวิตของตัวเอง

กรณีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีประเด็นอีกว่า เส้นแบ่งแห่งความพอดีในการบังคับใช้อยู่ตรงไหน ระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่นักศึกษายกขึ้นมาสนับสนุนการจัดกิจกรรม กับ กฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

ควร ใช้หลักการทางรัฐศาสตร์ ควบคู่ไปกับนิติศาสตร์ โดยพิจารณาถึงภาพรวมของสถานการณ์ บรรยากาศ เป็นองค์ประกอบการใช้ดุลยพินิจด้วยหรือไม่

การที่ลุงรับภาวะกดดันไม่ไหว จนต้องระเบิดออกมา เพราะยึดนิติศาสตร์ด้านเดียว ไม่คิดอีกด้านให้มากพอ นั่นเอง

หากมองเสียว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเมือง มีอารมณ์ขันแบบเด็กทำหุ่นล้อเลียน ก็ไม่เห็นต้องโกรธขึ้งถึงขนาดนั้น

“ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด หลังพูดคำพูดเป็นนายเรา ในสนามรบคุณตายครั้งเดียว ในสนามการเมือง คุณตายหลายครั้ง” วลีที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าของสโลแกนแปรสนามรบเป็นสนามการค้า

ชอบยกมาเตือนใจรุ่นน้อง ลูกหลาน ยังคมขลัง ใช้ได้มาถึงวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image