เดินหน้าชน : เดินหน้า‘สันติสุข’ : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

การเปิดตัวคณะพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับมาราปาตานี โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ใช้สถานที่ตั้งโต๊ะเจรจา ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งมาถึงช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับสะดุดลงเสียดื้อๆ

ทั้งที่ก่อนหน้า ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพิ่งตั้งรัฐบาลไม่กี่เดือนนำ ตันสรี อับดุลราฮิม มูฮัมหมัด นูร์ อดีต ผบ.สันติบาลมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ของมาเลเซีย มาเปิดตัวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กรุงเทพฯ และทางไทยได้แต่งตั้ง พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่มาแสดงตัวเช่นกัน

อับดุลราฮิม นูร์ กับ “บิ๊กเมา” หรือ พล.อ.อุดมชัย ต่างคร่ำหวอดในสถานการณ์พื้นที่ชายแดนใต้มาอย่างโชกโชน

“บิ๊กเมา” ตอกย้ำชัดเจนว่าพร้อมเปิดรับทุกกลุ่มที่เห็นต่างไม่ใช่แค่มาราปาตานี จะพูดในทุกมิติ นำไปสู่ดับ “ไฟใต้” รวมทั้งย้ำเรื่องมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ตามที่ไทยร้องขอ ถือเป็นปัญหาภายในของประเทศไทย จะไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

Advertisement

“ทางการไทยจะเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มเข้าแสดงความคิดเห็นว่ามีความต้องการอะไรบ้าง” พล.อ.อุดมชัยเคยกล่าวไว้

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ป่วนพื้นที่ชายแดนใต้ 4 จังหวัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ข้ามมาถึงช่วง ม.ค.62

หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดเหตุปั่นป่วนต่อเนื่องขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งที่มิได้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องมานานแล้ว

Advertisement

เมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา “มติชนออนไลน์” ลงคำสัมภาษณ์ของ นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มอ.ปัตตานี ที่กล่าวว่า คณะพูดคุยฝ่ายไทยต้องการเปิดพื้นที่พูดคุยให้กว้างหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งต้องการให้ฝ่ายกลุ่มกระบวนการบีอาร์เอ็น ฝ่ายการทหารเข้าร่วมด้วย แต่วิธีการจัดการ มีการบีบบังคับ กดดัน ในฝั่งมาเลเซีย ทำให้ผลเกิดขึ้นตามมา คือฝ่ายกลุ่มกระบวนการอาจไม่พอใจและก่อเหตุขึ้นในระยะหลัง

สรุปได้ว่า หากต้องการพูดคุยเจรจาแบบเปิดและสมัครใจตามที่คณะพูดคุยของฝ่ายไทยยืนยัน น่าจะยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ควรบีบบังคับให้ฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วมพูดคุย และตั้งเงื่อนไขว่าสามารถพูดคุยได้ในทุกประเด็นที่เป็นข้อข้องใจ เป็นประเด็นในทางการเมืองที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยกันในโอกาสต่อไป

ประกอบกับเมื่อ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสุกรี ฮารี หัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็น หรือประธานกลุ่มมาราปาตานี แถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ หลังได้รับแจ้งจากมาเลเซียว่า ฝ่ายไทยมีนัดประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ จากเดิม 3 ก.พ.62 แต่กลับได้รับแจ้งจากฝ่ายไทยว่า พล.อ.อุดมชัยจะไม่เข้าร่วมประชุม โดยขอหารือเป็นการส่วนตัวกับนายสุกรีก่อนและแยกส่วนในการพูดคุย จึงรู้สึกผิดหวัง ขัดกับคำแถลงก่อนหน้าว่าจะเปิดให้มีการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม หวั่นมีวาระซ่อนเร้น จึงตัดสินใจไม่ร่วมการประชุม และจะระงับการพูดคุยสันติสุขทั้งหมดไปจนกว่าการเลือกตั้งในไทยจะเสร็จสิ้น และเสนอให้ไทยเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคณะพูดคุย

อีก 2 วันถัดมา พล.อ.อุดมชัยชี้แจงว่า ได้ส่ง พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เลขาฯคณะแยกไปพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานีก่อนเพื่อเตรียมข้อมูลและประเด็นในการประชุมเต็มคณะ แต่พอทางมาราปาตานีทราบว่าตนได้เดินทางไปมาเลเซียแล้วจึงขอคุยเต็มคณะทันที จึงได้แจ้งกลับไปว่าไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะยังไม่ได้เตรียมเรื่องคุยกับมาราปาตานี การส่ง พล.ต.เกรียงไกรไปประชุมก่อนแบบไม่เป็นทางการเพื่อจะกำหนดว่าการประชุมเต็มคณะจะคุยกันเรื่องอะไรบ้าง เป็นหลักสากลโดยทั่วไปอยู่แล้ว

สิ่งที่มาราปาตานีขอเปลี่ยนตัว “บิ๊กเมา” นั้น เชื่อว่าทางการไทยคงไม่เปลี่ยนตัว เท่ากับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เหมือนไปอยู่ภายใต้การควบคุมของมาราปาตานี

เรื่องนี้เป็นกิจการของรัฐบาลไทย พล.อ.อุดมชัยยังสานการเจรจาต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง คงไม่มีวันกลับไปเสียเวลากับการ “ชักเย่อ” เช่นนี้อีกแล้ว เพียงแต่จะต้องดึงการพูดคุยและทำความเข้าใจอีกครั้ง เพื่อกลับมาเจรจากันให้เร็วที่สุดต่อไป

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image