สิทธิผู้ป่วย… โดย : เฉลิมพล พลมุข

มนุษย์หรือคนเราเมื่อเกิดมาลืมตาดูโลกผ่านวันเวลาของชีวิตมา ธรรมชาติประการหนึ่งของสิ่งมีชีวิตก็คือความเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือเป็นสัจธรรมของศาสนาที่ทุกๆ คนจะต้องพบประสบเจอทั้งความเจ็บป่วยที่มิต้องใช้การรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยนั้นก็หายไป แต่ยังมีความเจ็บป่วยหลายประเภทที่ต้องพึ่งพิงอาศัยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลาการทางการแพทย์ให้การช่วยเหลือความเจ็บป่วยนั้นก็หายไป

ความป่วยไข้ของคนไข้ที่ต้องพึ่งพิงบุคลากรทางการแพทย์สมัยใหม่ ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านพอจะรับทราบกันเป็นอย่างดีนั่นก็คือ ในอาชีพดังกล่าวมีกฎหมายให้การคุ้มครองทั้งผู้ที่ให้การรักษาพยาบาลและผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลก็คือผู้ป่วย นอกจากนั้นยังมีหลักจริยธรรม เวชปฏิบัติทางการแพทย์ จรรยาแพทย์เป็นสิ่งกำกับควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมในสิทธิของผู้ป่วยที่พึงจะได้รับจากการปฏิบัติอันเนื่องด้วยความป่วยไข้ที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล

เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ป่วยหญิงกรณีหนึ่ง ที่ป่วยในสภาพของการไม่รู้สึกตัว หรือมิอาจจะมีสติสัมปชัญญะที่รับรู้ต่อการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ได้ หรือศัพท์บัญญัติที่เรียกว่า “ผัก” ผู้ป่วยหญิงรายนี้อายุ 29 ปี ในเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ได้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำและอยู่ในสภาพดังกล่าวมาแล้ว 14 ปี เข้ารับการรักษาฟื้นฟูดูแลจากสถานพยาบาลฮาเซียนดา เฮลธ์แคร์ ที่ให้บริการผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ทั้งทารก เด็ก วัยรุ่น วัยเริ่มต้นเป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่มีปัญหาเชาว์ปัญญารวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพัฒนาของร่างกาย ได้คลอดลูกเป็นเพศชายออกมาโดยไม่สามารถที่จะสืบรู้ได้เลยว่าใครเป็นบิดาของบุตรดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2561

สถานพยาบาลมีข้ออ้างจากกรณีดังกล่าวก็คือ กฎหมายของรัฐบาลกลางและกฎหมายของรัฐแอริโซนา ห้ามมิให้สถานพยาบาลพูดหรือแจ้งเรื่องสุขภาพและอาการความเจ็บป่วยต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงได้ทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของทารกที่คลอดออกมาว่าจะตรงกับเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์คนใดคนหนึ่งหรือไม่…

Advertisement

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมนายนาธาน ซุตเธอร์แลนด์ บุรุษพยาบาล อายุ 36 ปี ที่ผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอของเขาและทารกที่เกิดจากผู้ป่วยหญิงที่นอนป่วยอยู่ในสภาพของผักมาเป็นเวลานาน ต่อมาสถาพยาบาลดังกล่าวได้ออกมาขอโทษครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งออกมาตรการจะต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาลดูแลฟื้นฟูควบคู่ไปด้วย หลังจากนั้นก็มีคำชี้แจงจากครอบครัวของผู้ป่วยหญิงดังกล่าวที่ว่า ผู้ป่วยมิได้อยู่ในสภาพของผักหรือ “โคม่า” แต่สภาพของผู้ป่วยอยู่ในลักษณะของ “ความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างรุนแรง…” ซึ่งเป็นผลจากการชักเกร็งครั้งสมัยยังเป็นเด็กๆ โดยผู้ป่วยพูดไม่ได้แต่อวัยวะบางอย่างยังเคลื่อนไหวได้ อาทิ ศีรษะ คอ แขนและขา

สำหรับความหมายที่นิยามผู้ป่วยสภาพของผักก็คือ ผู้ป่วยยังตื่นอยู่แต่ไม่แสดงอาการรับรู้ใดๆ อาจจะลืมตา ตื่นและหลับได้ปกติ รวมทั้งมีการตอบสนองในระดับพื้นฐานของร่างกายได้ สำหรับผู้ป่วยที่เรียกว่า “โคม่า” เขาจะไม่สามารถรับรู้การสื่อสารทุกประเภทและมิได้อยู่ในสภาพของการตื่นหรือรู้สึกตัวมีสติสัมปชัญญะได้…(มติชนรายสัปดาห์ 1-7 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 110-111)

ในสังคมไทยเราข่าวหรือข้อมูลดังกล่าวในช่วงวันเวลาที่ผ่านมายังไม่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะ แต่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือเมื่อปลายปีที่แล้ว มีข่าวหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อเกือบทุกประเภทก็คือ มีแพทย์หรือหมอคนหนึ่งที่ได้ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในภาคกลางและได้เปิดคลินิกส่วนตัวเพื่อให้การรักษาโรคเฉพาะทาง ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการข่มขืนผู้หญิงรายหนึ่งระหว่างทำการตรวจภายในอวัยวะหญิง…

Advertisement

ผู้เสียหายเป็นผู้หญิงรายหนึ่ง อายุ 29 ปี มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงได้เข้ารับการตรวจอาการจากแพทย์คนดังกล่าว โดยแพทย์ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อทำการตรวจภายใน แต่ได้พบความผิดปกติก็คือ หมอได้ล็อกประตู ปิดไฟ ก่อนที่จะส่องกล้องและอธิบายอวัยวะเพศที่แสดงบนจอ พร้อมทั้งใช้นิ้วตรวจสอบบริเวณอวัยวะเพศ และถูกประชิดตัวเหมือนมีสิ่งใดมาถูไถที่อวัยวะเพศ และหมอก็บอกว่าจะสอนวิธีการมีเพศสัมพันธ์ให้ ไม่ให้เกร็งหน้าท้อง พร้อมทั้งบอกผู้ป่วยว่าให้จินตนาการว่ากำลังมีเพศสัมพันธ์ พยายามกอดจูบ ผู้ป่วยจึงผลักประมาณ 3 ครั้งจึงลุกออกไป…(Khaosod.co.th)

การละเมิดหรือความเสียหายจากพฤติกรรมการกระทำของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์เราท่านจะมิเคยได้ยินหรือได้ฟังว่าเป็นการกระทำในสถานที่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลศูนย์ จังหวัด อำเภอ อาจจะด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน อาทิ จำนวนของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษามีเป็นจำนวนมาก ระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัยโรคที่ต้องใช้เวลาไม่นานนัก สถานที่มิได้อำนวยต่อการกระทำความผิดหรือละเมิดในสิทธิการรักษาพยาบาล และจรรยาแพทย์ที่พึงจะต้องดูแลรักษาความเจ็บป่วยไข้ด้วยหลักการของแพทย์…

การกระทำที่ดูเสมือนว่าจะเป็นสิ่งที่มิควรระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย หรือผู้ป่วยคนไข้บางคนที่ใจร้อนรอการรักษาเป็นเวลานานอาละวาดในห้องฉุกเฉิน ชกต่อยประตูทรัพย์สินของโรงพยาบาลได้รับความเสียหาย หรือคนไข้บางคนใช้เท้าเตะคุณหมอที่เข้าทำการวินิจฉัยโรคเพื่อให้การรักษา เป็นภาพข่าวที่ปรากฏในสื่อของสังคมไทยเราเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะมีคำถามที่ต้องการคำตอบที่ว่า เหตุใดเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นกับแวดวงทางการแพทย์ หรือโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยจักต้องได้รับบริการทางการแพทย์เพื่อรักษาความเจ็บป่วยไข้ให้หายหรือทุเลาจากการป่วยทางร่างกาย ป่วยทางจิตใจ หรืออาจจะเป็นการป่วยด้วยความบกพร่องจากการบริหารในภาครัฐ หรือความเจ็บป่วยที่อาจจะทุเลาด้วยระบบธุรกิจทางการแพทย์

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นเชิงประจักษ์ก็คือ จำนวนคนไข้หรือผู้ป่วยของสังคมไทยเรายุคปัจจุบันมีความป่วยไข้ด้วยโรคต่างๆ มากมาย คนไข้จำนวนมากที่ต้องไปพบแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐตั้งแต่ก่อนจะท้องฟ้าสว่าง การรอคิวเพื่อพบแพทย์บางเวลาต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวัน ความทุกข์ด้วยโรคที่ป่วยในร่างกายสร้างความกังวลให้กับผู้ป่วยและญาติอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ มิอาจจะป่วยด้วยสภาพจิตใจ ผู้ป่วยบางรายถึงกับหมดหวังต่อการรับบริการทางการแพทย์สมัยใหม่เปลี่ยนวิถีทางออกอย่างอื่น กรณี ผู้ป่วยมะเร็งไปรอรับยาสมุนไพรที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง พักค้างและคิวในการรับสมุนไพรชนิดนั้น โดยคาดหวังว่าการป่วยด้วยมะเร็งจะทุเลาหรือดีขึ้น…

สภาพของปัญหาในแวดวงของกระทรวงสาธารณสุขถูกกล่าวถึงทั้งในระดับนโยบายของรัฐ รัฐบาลของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็มีวาระถึงการปฏิรูประบบสุขภาพหรือปฏิรูประบบสาธารณสุขในประเทศ การขาดแคลนแพทย์ พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นปัญหาในระยะยาว การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กล่าวอ้างถึงงบประมาณไม่เพียงพอจนกระทั่งนักร้องตูน บอดี้สแลม ต้องออกมาวิ่งหาเงินเพื่อช่วยโรงพยาบาลต่างๆ เป็นสิ่งที่ได้รับการชื่นชม

ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในหลายแห่งของเมืองไทยเรา มีความเจริญรุ่งเรือง ผลของกำไรและการเจริญเติบโตทางตลาดหุ้น การไหลออกของบุคลากรทางการแพทย์จากภาครัฐไปสู่เอกชนยังคงมีต่อเนื่อง ที่เนื่องด้วยความอยู่รอดในยุคบริโภคนิยม ทุนนิยม วัตถุนิยม เงินนิยม ในสังคมไทยเรายังมีมิติหนึ่งที่ในบางประเทศอาจจะไม่มีก็คือมีพระเถระที่มีชื่อเสียงของสังคมได้มอบเงินไว้สร้างอาคารผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่อย่างประหยัดอดออมบริจาคที่ดินสร้างโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาเป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่เราท่านมิเคยได้ยินก็คือเหล่าบรรดานักการเมืองของไทยเราในอดีตที่ผ่านมา

ผู้เขียนเข้าใจว่ายังไม่มีรายใดที่บริจาคเงินในระดับร้อยล้าน หรือพันล้าน เพื่อสร้างโรงพยาบาลไว้ให้คนไทยทั้งชาติได้จดจำระลึกนึกถึงที่ว่า นอกจากกลโกงการใส่ร้ายป้ายสีก่อนการเลือกตั้งแล้ว การเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริงยังคงอยู่ในความลังเลสงสัยของประชาชนหลายคนที่จำเป็นจะต้องเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งในเร็ววันมานี้…

การดูแลรักษาด้วยหลักการทางการแพทย์และจรรยาบรรณของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์กับสิทธิของผู้ป่วยในกรณีของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่อยู่ในสภาพบกพร่องทางสติปัญญาอย่างรุนแรง ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ตั้งครรภ์และคลอดทารกออกมา อาจจะมิใช่กรณีแรกของโลกในวันเวลาที่ผ่านมา แต่ในข้อเท็จจริงระหว่างการดูแลรักษาความเจ็บป่วยของคนไข้กับการละเมิดทางเพศดูเสมือนจะเป็นเหรียญคนละด้านที่มิอาจจะพบเจอกัน ในทางกฎหมายของบ้านเมืองของแต่ละประเทศก็มีกระบวนการ บริบทในการวินิจฉัย ตีความอาจจะรวมถึงมาตรการของการลงโทษ…

ผู้เขียนใคร่ขอนำคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับบุคลากรทางการแพทย์ที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3577/2551 โดยจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีโดยเอาอวัยวะเพศถูไถอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ใช้มือลูบคลำอวัยวะเพศของผู้เสียหายหลายครั้งที่มิได้อยู่ในภาวะที่สามารถขัดขืนได้ จำเลยให้การรับสารภาพจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยมีความผิดตามมาตราดังกล่าว ให้จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจำคุก 1 ปี ลดโทษตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย โดยเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ โดยอาศัยความไร้เดียงสาของผู้เสียหาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน…(Thaijudge.com)

ผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านบางท่านที่คิดว่า เราท่านเมื่อถึงคราวป่วยไข้ควรจักได้รับการปฏิบัติจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ด้วยหลักการของพรหมวิหารธรรม หลักกฎหมายของแพทย์ที่พึงจักต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและอาจจะรวมถึงจริยธรรมทางการแพทย์ คนไข้หรือผู้ป่วยหลายคนก็ให้การเคารพนับถือในอาชีพแพทย์ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาสุขภาพ และควรจะยกย่องไว้ในที่สูงเสมือนกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์สมัยครั้งพุทธกาลที่ให้การรักษาพระพุทธเจ้าและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ในการเผยแผ่ศาสนามาถึงยุคปัจจุบัน

คำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้มอบไว้ให้กับแพทย์ทั้งแผ่นดินที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์…” ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของความเป็นเทพเจ้าของสุขภาพอย่างถ้วนหน้าในแผ่นดินนี้ตลอดไป…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image