เดินหน้าชน : รุก‘ศก.หมุนเวียน’ โดย : สัญญา รัตนสร้อย

กระบวนการการผลิตต่างๆ นับเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลจึงส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ร่วมมือกันผลักดันการรีไซเคิลซากรถยนต์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่ใช่ทำลายซาก แยกแยะชิ้นส่วนอะไหล่ที่ทำกันอยู่ทั่วไป ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งการปนเปื้อนในดินจากน้ำมันและสารเคมีเหลว รวมทั้งปัญหาคุณภาพน้ำ หรือการปล่อยสารฟรีออนจากระบบแอร์รถยนต์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้ถอดชิ้นส่วน

นอกจากนี้ เพิ่งผ่านมาหมาดๆ กับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ “Bangkok Design Week 2019” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสร้างสรรค์ของไทย มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมากร่วมจัดแสดงผลงานต่างๆ

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ที่จัดพาวิลเลียน “Circular Factory by GC” หรือโรงงานแห่งอนาคตที่มุ่งเน้นการผลิตและการใช้พลาสติกแบบหมุนเวียน

เป็นการรณรงค์แนวคิด “Circular Living” สนับสนุนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้พลาสติกร่วมกันสร้าง “วงจรชีวิตใหม่” ของผลิตภัณฑ์พลาสติกให้หมุนเวียนอยู่ในระบบการผลิตและการบริโภคให้นานที่สุด

เพื่อส่งต่อความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุดตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

Advertisement

เริ่มตั้งแต่โครงสร้างพาวิลเลียน สร้างจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากพลาสติกประเภท High Density Polyethylene (HDPE) ที่ใช้ในการผลิตขวดแชมพู หรือขวดน้ำมันเครื่อง มาฉีดขึ้นรูปเป็นแผ่นพลาสติก นำมาร้อยด้วยเหล็กเส้นทำเป็นแผ่นผนังและหลังคา มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการติดตั้งมีความแข็งแรงทนทาน

เมื่อรื้อถอน พลาสติกเหล่านี้จะนำไปแปรสภาพสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ทิ้งไว้เป็นขยะ

วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท “จีซี” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นการสร้างเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ โดยนำนวัตกรรมมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แล้วแปรรูปพลาสติกเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เป็นการสร้าง “วงจรชีวิตใหม่” ของผลิตภัณฑ์พลาสติกให้ยืดอายุออกไป แทนที่จะถูกกำจัดทิ้งด้วยการฝังกลบหรือนำไปเป็นเชื้อเพลิง

เริ่มตั้งแต่ สนับสนุนการใช้ซ้ำ (Reuse) เมื่อใช้แล้วส่งกลับมายังวงจรการผลิตซ้ำ (Recycle) ให้กลายเป็นวัตถุดิบที่พร้อมสำหรับการพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycle) ต่อไป

เห็นได้จากผลิตภัณฑ์จากนักออกแบบชั้นนำอย่าง “Paapaow” กระเป๋าปลาทะเลที่ผลิตจากผ้า Upcycling หรือกระเป๋าเป้ที่แปลงร่างจากขยะขวดพลาสติก 14 ใบ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand และการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ “PE Recycle” หลากหลาย อาทิ กระเป๋า ซองถักใส่เอกสาร ที่นำขยะถุงพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน (PE) มา Upcycling ด้วยนวัตกรรมจนเป็นเส้นใย สานต่อด้วยฝีมือถักทอของชุมชนจังหวัดระยอง ออกมาเป็นลวดลายที่สวยงาม

รวมทั้ง “Many go Round” โต๊ะที่ทำจากแม่พิมพ์เก่าในโรงงานพลาสติก

เป็นตัวอย่างย่อๆ ในการร่วมขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ของไทย ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image