เข้าเรียน ม.1/ม.4 เป้าหมายเพื่อแก้แป๊ะเจี๊ยะ สำคัญกว่าสิทธิและคุณภาพของผู้เรียนแล้วหรือ

ทุกปีพอเข้าช่วงฤดูการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษาผู้รับผิดชอบตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการก็จะหยิบปัญหาต่างๆ มาวางแล้วหาช่องทางปรับปรุงแก้ไขโดยเฉพาะประเด็นนักเรียนเงื่อนไขพิเศษจากเดิม 7 ข้อ ซึ่งผู้เขียนเคยมีส่วนร่วมในการทำหลักเกณฑ์นี้ในฐานะโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง (โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา) โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินให้โรงเรียน 2.นักเรียนผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 3.นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติหรือประสบภัยพิบัติ 4.นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคลากร

ส่วนที่ตัดออก 3 ข้อ ได้แก่ 1) นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2) รับนักเรียนโควต้าตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจหรือคู่พัฒนา และ 3) นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเป็นการแก้ปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียนหรือแป๊ะเจี๊ยะ

ที่จริงหลักเกณฑ์ 7 ข้อข้างต้น มิใช่ว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่รับประกันความโปร่งใสได้แต่ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะหรือรับสินบนในวงข้าราชการไทยเป็นมะเร็งร้ายมายาวนาน กลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมคู่กับสังคมไทยและกำลังเพิ่มทวีคูณอย่างน่าใจหายเกือบทุกกระทรวง ทบวง กรม เสียด้วยซ้ำไป ในปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการออกหลักเกณฑ์ใหม่จาก 7 ประเด็น เหลือเพียง 4 เงื่อนไขข้างต้นที่สามารถรับนักเรียนก็กรณีพิเศษเข้าเรียนได้ ทั้งที่ช่องทางในการแก้ปัญหาการแป๊ะเจี๊ยะมีหลายช่องทาง เช่น การยกหลักเกณฑ์นี้ทั้งหมด การวางมาตรการ ตรวจสอบที่เข้มข้น และรัดกุม และมีบทลงโทษที่รุนแรง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สามารถตัดวงจรการแป๊ะเจี๊ยะได้อย่างดี และโรงเรียนต่างๆ จะได้นักเรียนที่เก่งเข้าเรียนส่งผลคุณภาพทางการศึกษา ส่งผลถึงทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของชาติบ้านเมือง แต่ถ้าคำนึงถึงโอกาสของเด็กและผู้ปกครองที่เสียสละต่อชาติบ้านเมือง ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและรับเงินแป๊ะเจี๊ยะได้

ประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตและห่วงใยคือการที่ให้นักเรียนชั้น ม.3 เดิมเข้าเรียนต่อในโรงเรียนเดิม 100% ถ้ามองในแง่โอกาสและสิทธิของเด็กก็เป็นสิ่งที่น่ารับฟังซึ่งหลักเกณฑ์เดิมโรงเรียนสามารถรับนักเรียนเก่าไว้ 80% กันไว้ให้นักเรียนจาก

Advertisement

โรงเรียนอื่นๆ 20% ได้เข้าเรียน แต่ถ้ามาใช้หลักเกณฑ์ใหม่รับนักเรียนเก่าทั้งหมดก็จะส่งผลให้นักเรียนที่มีความฝันและความหวังและเก่ง ในอำเภอ ตำบล ต่างจังหวัด ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตอยากเข้าเรียนโรงเรียนดีโรงเรียนดังในอำเภอในจังหวัดบ้านเกิดตัวเอง หมดโอกาสและหมดความหวัง

การเปิดโอกาสให้เด็กเก่ามีสิทธิเรียนอยู่ที่เดิม 100% อาจจะส่งผลให้นักเรียนกลุ่มนี้ขาดความกระตือรือร้นในด้านการเรียน พบเพื่อนคนเดิมๆ ขาดการท้าทายและบรรยากาศการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อีก

ประเด็นที่น่าจะส่งผลคือจำนวนนักเรียนในสถาบันอาชีวะและโรงเรียนเอกชนจะลดลง ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนอาจจะปิดตัวลง

Advertisement

ผู้ประกอบการด้านการศึกษาภาคเอกชนพบกับทางตัน ด้านอาชีวะซึ่งอยู่ในช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนด้านอาชีวะ ด้านวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมคนรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก สอดคล้อง กับความต้องการแรงงานของโลกตามการรายงาน (W.E.F) ที่ประเมินว่าแรงงานที่โลกต้องการ คือ แรงงานระดับ ปวช. ปวส. การแก้ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส (แป๊ะเจี๊ยะ) เพียงประเด็นเดียวดูเหมือนจะง่ายนิดเดียวบริหารผู้ใหญ่ทางการศึกษาใช้หลักคิดที่เป็นธรรม และตรงประเด็นตรงเป้าหมายการบริหารที่ไม่โปร่งใส เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างหาก แต่ทำไมจึงส่งผลมายังเยาวชนมายังการจัดการศึกษาที่มุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพคน

น่าเศร้าใจจริงประเทศของเราวังวนแห่งผลประโยชน์แก่พรรค แก่พวก ยังมีอยู่ ลางร้ายความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมยังมีอยู่ในสังคมไทยและน่าจะเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเมือง “คิดไม่ออก บอกตัวเองไม่เป็นเห็นตัวเองไม่ชัด” คิดสั้น คิดแคบ แถมใจมุ่งแต่สร้างความขัดแย้งให้คนในชาติ จึงไม่แปลก แค่เงินแป๊ะเจี๊ยะ ก็คิดเสียไกล ทำลายทั้งโอกาส และสิทธิของเด็กไม่น้อย

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image