ประหลาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกู้เงินธนาคารโลก เป็นอันดับหนึ่งมาหลายสิบปีแล้วจนปัจจุบัน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

สำนักงานใหญ่ของธนาคารโลกตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ธนาคารโลก (World Bank) มีชื่อเป็นทางการว่า ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development; IBRD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ.2487 โดยประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่ได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ยกเว้นสหภาพโซเวียต) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทำการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดย ธนาคารโลกเป็นองค์กรอยู่ในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ เงินทุนของธนาคารโลกได้มาจากการจำหน่ายพันธบัตรในตลาดการเงินสำคัญของโลก ค่าบำรุงจากประเทศสมาชิก และเงินค่าหุ้นของประเทศสมาชิก

เดิมทีธนาคารโลกตั้งขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกกู้ยืมไปเพื่อบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาประเทศจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จแล้วต่อมาได้ขยายขอบเขตของการบริการออกไปเป็นการสนับสนุนการลงทุนเพื่อลดความยากจนและเพิ่มผลผลิตในประเทศที่ยากจนที่เป็นประเทศสมาชิกของธนาคารโลก เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิก ตามลักษณะกิจการที่จะลงทุนและตามความจำเป็นและยังช่วยเหลือสมาชิกด้วยการให้บริการด้านความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนและบริหารการเงินและเป้าหมายหลักของธนาคารโลกในขั้นต่อมาก็คือส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการลดปริมาณของการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์โดยส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน

โรงงานอุตสาหกรรมในจีนที่แสดงให้เห็นถึงการปล่อยมลพิษอย่างมโหฬาร

ปรากฏว่าประเทศที่กู้ยืมเงินจากธนาคารโลกมากที่สุดติดต่อการนานนับสิบปีคือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและมีเงินตราสำรองอยู่ถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังกู้เงินธนาคารโลกเป็นอันดับหนึ่งทั้งๆ ที่ตามกฎของธนาคารโลกแล้วเมื่อประเทศใดมีรายได้ของพลเมืองแต่ละคน (Per capita income) ถึง 7,000 เหรียญสหรัฐแล้วก็ไม่ควรจะกู้เงินจากธนาคารโลกอีกต่อไป เนื่องจากจะเป็นการเอาเปรียบประเทศที่ยากจนจริงๆ ซึ่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีรายได้ของพลเมืองแต่ละคนเกิน 7,000 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ.2559 แล้ว ยิ่งกว่านั้นเนื่องจากธนาคารโลกมีทุนรวมจำกัดอยู่ การที่จีนกู้ยืมเงินจากธนาคารโลกก็เหมือนกับการแย่งเงินกู้ที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ยากจนจริงที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก ยกตัวอย่างใน พ.ศ.2560 จีนกู้เงิน 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารโลกในขณะที่จีนใช้จ่ายเงิน 10 เท่าที่กู้จากธนาคารโลกให้ประเทศที่มีรายได้น้อยกู้ยืมหลายประเทศ

ทำไมธนาคารโลกจึงมีพฤติกรรมที่ย้อนแย้งเช่นนี้ซึ่งพอจะอธิบายได้ดังนี้คือ ธนาคารโลกยังมีเป้าหมายหลักอีกขั้นต่อมาก็คือส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการลดปริมาณของการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์โดยส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ซึ่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่สร้างมลพิษรายใหญ่ที่สุดในโลกโดยเฉพาะการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งปรากฏว่า 38% ของเงินกู้จากธนาคารโลกของจีนได้ใช้ในการลดการสร้างมลพิษโดยตรงนั่นเอง โดยเฉพาะการปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมให้เลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและเพิ่มการผลิตและใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการคมนาคมขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้จีนยังใช้เงินกู้จากธนาคารโลกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนคือ การท่องเที่ยวรวมทั้งการจัดสิ่งบริการอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดย 1.ต้องดำเนินการภายใต้ขีดความสามารถของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่มีต่อขบวนการท่องเที่ยว 2.ต้องตระหนักดีต่อการมีส่วนร่วมของประชากร ชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่มีต่อขบวนการท่องเที่ยว 3.ต้องยอมรับให้ประชาชนทุกส่วนได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน 4.ต้องชี้นำภายใต้ความปรารถนาของประชาชนและชุนชนในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ)

Advertisement

เหตุผลที่สำคัญในการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงกู้ยืมเงินจากธนาคารโลกคือธนาคารโลกให้บริการด้านความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนและบริหารการเงินอย่างมีวินัยที่เข้มแข็งรัดกุมตลอดการดำเนินการซึ่งเป็นสิ่งที่จีนต้องการมากที่สุดนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image