ยุทธการข้อมูลข่าวสาร เพื่อต่อต้าน‘อนาคต’ : โดย กล้า สมุทวณิช

ใน “สงคราม” หนึ่งประกอบไปด้วย “การสู้รบ” หรือ “ศึก” ทั้งเล็กใหญ่ ที่จะรวมกันเป็นตัวชี้ผลลัพธ์ภาพรวม

ในการเลือกตั้งก็เช่นกัน หากสงครามคือชัยชนะเด็ดขาดขึ้นครองอำนาจ การสู้รบหรือศึกทางการเมืองอาจแบ่งได้เชิงพื้นที่ เช่น ในเขตเลือกตั้งนี้เป็นการต่อสู้ของผู้สมัครคนไหนกับคนไหน ในเชิงสังกัดระหว่างพรรคนี้ พรรคนั้นกับขั้วพรรคโน้น และในเชิงนามธรรมคุณค่า ได้แก่ เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายปกป้องคุณค่าทางสังคมเดิมกับฝ่ายที่ท้าทายค่านิยมหรือคุณค่านั้น

ด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรม สนามรบย้ายมาจากพื้นที่เชิงกายภาพ หรือพื้นที่ทางสื่อ มาเป็นพื้นที่ออนไลน์ในโลกไซเบอร์

การสู้รบสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงมากในช่วงนี้คือการใช้ “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” (Psychological Operations : PSYOPS หรือ ปจว.) โดยการใช้ (Information Operation) ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร (Information Operation : IO) เพื่อควบคุมโน้มนำให้เกิดผลในทางจิตวิทยาการตัดสินใจของผู้คน

Advertisement

จึงกล่าวได้ว่า ในปฏิบัติการทางจิตวิทยา ผู้กระทำคือฝ่ายยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร หรือ IO ที่แม้แต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพของไทยก็ยังเคยหลุดปากว่ามีการใช้ยุทธการทางข้อมูลข่าวสารนี้จริง แต่ใช้เพื่อปกป้อง “ความมั่นคงของชาติ”

ในศึกเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งสนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านตัวบุคคลหรือเพจต่างๆ ในโลกโซเชียลตั้งข้อสงสัยว่า มีการจัดตั้ง “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” เพื่อใช้ยุทธการทางข้อมูลข่าวสารเพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อความมุ่งหมายบางประการหรือไม่

เพราะเราจะสังเกตเห็นว่า นอกจากการหาเสียงตามปกติแล้ว ในเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กยังมีการโจมตีเชิงตัวบุคคล ทั้งของผู้สมัครทางการเมืองหรือนักกิจกรรม ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรมชาติจากตัวละครที่น่าสงสัย ว่าไม่น่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเพียงคอการเมือง แต่เป็นเหมือนอาวุธที่ผ่านการจัดตั้งจากฝ่ายที่เป็นแกนหลักหรือเสนาธิการ และมีการโจมตีที่เป็นระบบ

Advertisement

ล่าสุด กระแสการออกมาโจมตีหัวหน้าพรรค และผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคอนาคตใหม่ – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั้น เกิดขึ้นหลังจากเกิดปรากฏการณ์ “#ฟ้ารักพ่อ” ที่จุดขึ้นจากงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ที่กระแสความนิยมของเขาพุ่งแรงในหมู่คนหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก (New voter) หลังจากที่ประเทศไทยเว้นว่างการเลือกตั้งจริงๆ มาเกือบ 1 ปี

ประเมินกันว่ากลุ่ม New voter นี้มีจำนวนถึง 5.6 ล้านเสียง หรือคิดเป็นจำนวน ส.ส.ได้ราว 71 คนเลยทีเดียว

ในสภาวะการแข่งขันทางการเมืองที่ผู้ชนะอาจจะเฉือนกันด้วยจำนวน ส.ส.ในสภาไม่ถึงสิบเสียง (หรือจริงๆ ดีไม่ดีก็ห้าหรือหนึ่งเสียงด้วยซ้ำ) การปล่อยให้พรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองเกิดใหม่ช่วงชิงสัดส่วนเสียงไปได้จากกลุ่มผู้เลือกตั้งหน้าใหม่จนมีกำลังต่อรอง จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่ต้องการอำนาจหลังการเลือกตั้งนั้นยอมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคระดับกลางที่คาดเดากันว่าน่าจะได้ที่นั่งในสภาใกล้เคียงกัน

การโจมตีตัวธนาธรและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่บางคนจึงปรากฏขึ้นทันทีเมื่อประเมินแล้วว่ากระแส “#ฟ้ารักพ่อ” จุดติด มีการนำเอาคำสัมภาษณ์ของเขามาเลือกตัด สรุปใหม่ ตีความแบบไถลลื่นไปไกลจากความหมายเดิม หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน พร้อมส่งสารไปยังบรรดา “ฟ้า” หรือคนรุ่นใหม่ที่เดินเข้าร่วมสนับสนุนธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ด้วยวิธีการที่เห็นชัดว่าใช้ปฏิกิริยาทางจิตวิทยาพื้นฐาน ด้วยความพยายามทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนั้นเชื่อว่ากำลังจะถูกหลอกและรู้ไม่เท่าทัน

จิตวิทยาพื้นฐานที่เล่นกับความรู้สึกของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะชัดเด่นมากน้อยหรือยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่มนุษย์ทุกคนเชื่อว่าเราแต่ละคนไม่ใช่คนโง่ และการ “ถูกหลอก” เป็นการบ่งชี้ถึง “ความโง่” ดังนั้นการเอาข้อมูลที่ตกแต่งดีแล้วมาพยายามทำให้ผู้คนเชื่อว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น และถ้าคุณไม่อยากเป็นเจ้าโง่ให้เขาหลอก จงเชื่อเรา

การโจมตีเริ่มมาจากเพจเปิดใหม่ หรือเพจเปิดอยู่แล้วที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับใคร และสนับสนุนฝ่ายไหน (เพจพวกนี้มักจะใช้คำว่า “จับตา…” “เฝ้าระวัง…” หรือ “รู้ทัน…”) และมี “บุคคล” ซึ่งแสดงตนเป็นประชาชนธรรมดาเข้ามาเขียนตอบในเชิงสนับสนุนเพจเหล่านั้น หรือร่วมโจมตีเป้าหมายให้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้ผู้เข้าไปอ่านนั้นเข้าใจว่ามีคนคิดแบบเจ้าของเพจนั้นจำนวนมาก

แต่หากใครลองเข้าไปดูในโปรไฟล์ของบุคคลเหล่านั้นจะพบความเชื่อมโยงบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น การตั้งชื่อแบบขอไปทีหรือไม่แสดงตัวบุคคลชัดเจนนัก (เช่น นาย “บุญ อนันต์” นาย “สมประสงค์ ไทยแลนด์” นาง “ช่อผกา รักชาติและแผ่นดิน” เป็นต้น)

โปรไฟล์เหล่านี้อาจจะใช้รูปสัตว์หรือการ์ตูนเป็นภาพแสดงตน หรือใช้รูปคนที่ดูไม่บ่งชี้อัตลักษณ์ชัดเจน ไม่ค่อยมีเฟรนด์หรือผู้ติดตาม และที่เหมือนจะชัดเจนที่สุดคือข้อความที่โพสต์หรือแชร์นั้นแทบไม่มีเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลนั้นหรือเรื่องสัพเพเหระอื่นๆ เลย นอกจากแชร์ข้อความโจมตี สร้างความเกลียดชังหรือสนับสนุน ค่านิยมกระแสหลักและ “อำนาจรัฐ” จากเพจเดิมซ้ำๆ กัน

โปรไฟล์จำนวนมากที่ดูไม่เป็นธรรมชาติเหล่านี้จึงต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นกองกำลังปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร หรือ IO ไม่ทราบฝ่าย แต่ก็พอเดาได้ว่าคนพวกนี้ทำประโยชน์ให้ขั้วไหนฝ่ายใด

อย่างไรก็ตาม ธนาธรนั้นเป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งของกองกำลังปฏิบัติการจิตวิทยาและข่าวสารเท่านั้น แต่สนามรบของพวกเขานั้นมีหลากทางหลายทัพมากกว่านั้น

ฝ่ายปฏิบัติการ IO บางหน่วยมีหน้าที่ในการ “โจมตี” รายบุคคลต่อนักทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือตรวจสอบรัฐบาล ด้วยวิธีการล้อเลียนให้ได้รับความอับอาย หรือก้าวล่วงไปเรื่องส่วนตัวที่มีนัยทางเพศ โดยนอกจากการทำลายความเชื่อถือจากสาธารณชนหรือการดิสเครดิตแล้ว การโจมตีเชิงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ยังมีเป้าหมายให้บุคคลที่ถูกโจมตีนั้นหวาดกลัว อับอาย ถอดใจ ถอยถอนออกจากพื้นที่การเมือง

ก็ใครที่จิตใจไม่ได้ปล่อยว่างได้อย่างแอ่งน้ำใส หรือแข็งแกร่งดังเพชรแล้ว ถูกใครก็ไม่รู้ตามมาด่าทอ กระแหนะกระแหน หรือล้อเลียนด้วยเรื่องลามกจกเปรต แม้ต่อให้รู้แน่ๆ ว่ามันคือปฏิบัติการทางจิตวิทยา บุคคลเหล่านั้นไม่มีตัวตนจริง นอกจากโพสต์ไปตามสคริปต์ของผู้บงการหรือสั่งการ แต่ข้อความนั้นก็มีความร้ายกาจในตัวเองที่ก่อให้เกิดสารพิษทางจิตใจและบั่นทอนกำลังใจได้

นอกจากการโจมตีแล้ว การทำงานของฝ่าย IO ในเชิงรับหรือสร้างแนวป้องกันก็ยังมีด้วย กลุ่มนี้จะแสดงออกเป็นนักวิชาการหรือคนที่คิดอย่างวิเคราะห์แยกแยะเพื่อนำเสนอ “ข้อแก้ต่าง” ของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่ตนรับทำงานให้ภายใต้ภาพลักษณ์ที่สุภาพในที ดูดีไม่แข็งกร้าว แต่คำหลักของคนกลุ่มนี้คือความพยายามบอกว่ากระแสโจมตีรัฐบาลหรือบางขั้วการเมืองนั้นเป็นการบิดเบือน เป็นเรื่องของคนที่รู้ไม่จริง ดังนั้นคนที่ “ฉลาดและรู้เท่าทัน” ไม่ควรเป็นเหยื่อ

ตอบสนองความต้องการเชิงจิตวิทยาว่าเรานั้นเป็นคนพิเศษ มีวิจารณญาณ มีความเป็นตัวของตัวเองไม่ไหลไปตามกระแสของคนส่วนใหญ่ ที่เราอนุมานเอาเองว่าเป็นพวกสามัญดาษดื่นที่ไม่มีความรู้ความคิดอย่างพวกเรา

จากนั้นพวกเขาก็จะนำเสนอความเห็นทางวิชาการ หรือความเห็นที่คล้ายว่าจะมีตรรกะเหตุผล แต่เป็นเหตุผลที่ไปไม่สุดทาง หรือเหตุผลที่ปิดบังข้อเท็จจริงบางประการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเอาไว้

เช่นที่ในตอนนี้เริ่มมีความตื่นตัวกันมากขึ้นของผู้คนที่ได้ตระหนักแล้วว่า บางครั้งการเลือกตั้ง ส.ส.อาจจะไม่ใช่คำตอบในการได้มาซึ่งผู้นำหรือนายกรัฐมนตรี เนื่องจากฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันและลงมาเล่นในเกมเลือกตั้งด้วยนั้น มีเสียงสนับสนุนตุนอยู่ 250 เสียง จาก ส.ว.ที่ตนเองตัดสินใจแต่งตั้งมากับมือ

ฝ่ายปฏิบัติการที่ว่าก็ใช้เหตุผลแก้ต่างที่เหมือนจะฟังขึ้นว่า ก็กติกานี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาตามกติกาประชาธิปไตย ประชาชนต้องยอมรับ

โดยละเว้นที่จะกล่าวถึงว่า ในระหว่างการรณรงค์ประชามตินั้น ฝ่ายที่พยายามแสดงให้เห็นข้อเสียของรัฐธรรมนูญนี้และคำถามพ่วง ต่างถูกจับดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดเข้มงวด ถูกส่งเข้าห้องขังรอประกันตัว แม้แต่นักข่าวที่ติดรถไปด้วยก็ยังถูกตั้งข้อกล่าวหา

แกล้งทำเป็นลืมว่า คำถามในคำถามพ่วงนั้นไม่ได้ถามตรงไปตรงมา หากจงใจใช้ถ้อยคำทางกฎหมายที่กำกวมเพื่ออำพรางเจตนารมณ์ที่แท้จริง

และไม่พูดถึงเงื่อนไขว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ผู้มีอำนาจที่จัดให้มีรัฐธรรมนูญและประชามตินั้นสามารถไปหยิบหรือยกเอารัฐธรรมนูญเก่าช้าล้าหลังแค่ไหนมาใช้บังคับก็ได้ โดยผู้ออกเสียงประชามติหรือใครก็ตามไม่อาจรู้ได้

การทำประชามติแบบมัดมือชกดังกล่าวจึงถูกนำมาเป็น “ข้ออ้าง” ว่าเรื่องนี้คุณ (คือพวกเรา) ตกลงเองผ่านประชามตินะ ไม่แตกต่างจากธุรกรรมที่ใช้ถ้อยคำเลี้ยวลดในสัญญาให้คนลงชื่อเพื่อผูกพันในข้อตกลงที่เสียเปรียบหรือรับภาระเกินสมควร เพียงเพราะเราลงชื่อไปด้วยกลฉ้อฉล

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ต้องอาศัยยุทธการทางข้อมูลข่าวสารนั้นก็คงไม่ง่ายนัก ในยุคสมัยที่การโต้คืนด้วยข้อมูลข่าวสารสามารถกระทำได้ทันที จุดตายสำคัญคือ ไม่ว่าจะอย่างไร ทุกระบบในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผู้คนสามารถเข้าไปตอบโต้กลับได้ในสื่อเดียวกันนั้นทันที หรือใช้วิธีเดียวกันนั้นโต้กลับไป เช่น การเข้าไปตอบตรงๆ ในโพสต์นั้นเลยว่าเรื่องนี้มีการบิดเบือนอย่างไร หรือย้อนรอยด้วยการเอารูปภาพหรือ Infographic ที่บิดเบือนนั้นไป “แก้ไข” ใส่ข้อมูลที่ถูกต้องลงไปตอบโต้

ก็ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของการกระจายข่าวลือทางเดียว หรือเอาใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อใส่เครื่องบินแล้วโปรยลงมาอีกแล้ว

และเรายังไม่ได้พูดถึง “ความเปลี่ยนแปลง” เชิงคุณค่า ที่การโจมตีว่าเป็นคน “ไม่รักชาติ” กับคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อในความเป็นพลเมืองโลก การป้ายสีว่า “ลบหลู่ศาสนา” กับกระแสที่ผู้คนตั้งคำถาม วิจารณ์และแสวงหาเหตุผลกับความเชื่อ หรือการกล่าวหาว่า “ย่ำยีวัฒนธรรมอันดี” กับผู้คนที่รู้สึกว่าวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนนั้นกดทับความคิดและอิสรภาพ

บางครั้ง “ข้อหา” ที่หมายจะป้ายลงไปเพื่อไล่มิให้ผู้คนเข้าใกล้ อาจกลับดึงดูดแนวร่วมในแนวกลับให้เข้ามาใกล้ชิดสนใจเป้าหมายมากขึ้น

ปฏิบัติการจิตวิทยาด้วยวิธีการและกรอบคิดเดิมๆ จึงอาจคล้ายการอ้างว่าซื้อรถถังเพื่อเอาไปต่อสู้กับหัวรบนิวเคลียร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image