สถานีคิดเลขที่ 12 : งบฯแผ่นดินจัดหนัก : โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

การถกเถียงพูดคุยกันเรื่อง งบประมาณกลาโหม เป็นหัวข้อยอดนิยมของนานาประเทศ รวมถึงไทยแลนด์

จากข้อมูลของกลุ่ม iLAW รวบรวมงบประมาณแผ่นดินที่ให้กองทัพมาตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารที่ทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมี 144 คน จากจำนวนทั้งหมด 248 คน คิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งสภา พบว่า ปี 2558 อยู่ที่ 1.92 แสนล้านบาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 2.06 แสนล้านบาท ปี 2560 เพิ่มเป็น 2.13 แสนล้านบาท ปี 2561 เพิ่มเป็น 2.18 แสนล้านบาท ปี 2562 เพิ่มเป็น 2.27 แสนล้านบาท

ที่มาของงบ สนช.คงมีคำอธิบายต่างๆ แต่หลังจากการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องเป็นฝ่ายพิจารณาการจัดทำและจัดสรรงบฯ จึงเป็นเรื่องที่ควรพูดกันในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนี้เลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และคงไม่ถึงกับหนักแผ่นดินอะไรนักหนา เพราะถึงอย่างไรโลกเรามีแรงโน้มถ่วงที่ทำให้ทุกคนยืนอยู่บนแผ่นดินได้

กรณีของต่างประเทศ มีข้อถกเถียงงบกลาโหมเป็นปกติ เช่น สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจการทหารของโลก เพิ่งมีการฟ้องร้องประธานาธิบดีว่าใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ กรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไปประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อจะดึงงบประมาณไปสร้างกำแพง

Advertisement

การสร้างกำแพงนี้เกี่ยวพันกับเรื่องความมั่นคง ดังนั้น งบส่วนหนึ่งจึงเกี่ยวโยงมาที่กระทรวงกลาโหม

งบประมาณที่นายทรัมป์ต้องการจะเอาไปสร้างกำแพงแบบหนาแน่นแข็งแรงตลอดแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก อยู่ที่ 5,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.7 แสนล้านบาท แต่รัฐสภาให้มาแค่ 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4 หมื่นล้านบาท ทำให้นายทรัมป์ไม่ยอมและหันไปใช้ยุทธวิธีอื่น

ผู้บริหารมลรัฐต่างๆ อย่างน้อย 16 รัฐ จึงฟ้องนายทรัมป์ เพราะไม่อยากให้ประกาศนี้มีผลมาดึงงบกลาโหมที่เขาตั้งใจจะไว้ทำอย่างอื่น ซึ่งเห็นว่าสำคัญกว่า และกลัวว่าจะกระทบถึงเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

Advertisement

ดังนั้น การต่อสู้ชิงงบประมาณนี้จึงเป็นไปตามวิถีทางของประชาธิปไตย แม้ประธานาธิบดีจะใหญ่สุดแล้วในฝ่ายบริหาร แต่ก็ต้องถูกคานอำนาจจากฝ่ายอื่นๆ ด้วย

อีกตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ชาติเศรษฐีอาหรับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี เพิ่งเปิดงานแสดงสินค้าอาวุธ International Defense Exhibition and Conference 2019 ที่กรุงอาบูดาบี พร้อมกับการเซ็นสัญญาซื้อขายอาวุธราว 40,300 ล้านบาท

เรื่องนี้ดูแล้วน่าจะชื่นใจ แต่กลับเกิดคำวิจารณ์ไปทั่ว เพราะรู้ๆ กันว่า อาวุธขายดีแปลว่ามีสงคราม

ที่สำคัญคือ สงครามจะไม่จบถ้าอาวุธขายได้

ยูเออีนั้นเข้าพวกกับซาอุดีอาระเบีย ชาติเศรษฐีอาหรับด้วยกัน เข้าไปแทรกสงครามในเยเมน สงครามนี้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 60,000 ราย นับจากปี 2559 ทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมระดับโลก ตามที่มีภาพข่าวเด็กๆ หิวโหยอดอยาก รูปร่างผอมแกร็นผิดปกติ เมื่อเจ็บป่วยไม่มียารักษา เคสเร่งด่วนที่ต้องไปรักษาต่างแดนจะออกจากประเทศทางเครื่องบินก็ไม่ได้ เพราะสนามบินปิด ถูกกั้นน่านฟ้า

การเอาอาวุธมาแสดงครั้งนี้ มีคนจับสังเกตว่า มีรุ่นไหนใช้อยู่ในสมรภูมิเยเมนบ้าง จนทำให้เสียงวิจารณ์ว่า ถ้ายังมีอาวุธส่งเข้าไปที่นั่นอย่างไม่หยุดหย่อน สันติภาพก็ไม่มีทางเกิด

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดูยากอะไร เพราะทุกพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งยาวนาน ถูกยื้อโดยไม่มีเจรจาสันติภาพอย่างจริงจังนั้น ฝ่ายที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มผู้ซื้อขายอาวุธนั่นเอง

จริงไหม

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image