บทนำ : ปฏิรูปกองทัพ

พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ ที่มีสาระสำคัญ อาทิ ปรับระบบเกณฑ์ทหาร เพื่อลดกำลังพล ลดนายพล กำหนดกรอบการจัดซื้ออาวุธ กำหนดกรอบห้ามทหารมายุ่งเกี่้ยวกับการเมือง บางพรรคเสนอว่า จะสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่โดยนำแบ่งงบประมาณของกระทรวงกลาโหมมาใช้ จนเกิดความไม่พอใจจากผู้นำกองทัพ ไล่ให้ฟังเพลงหนักแผ่นดิน ขณะเดียวกันอีกหลายพรรค เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน บ้างก็เห็นว่า กองทัพมีการปฏิรูปและพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว ไม่ควรที่ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว

ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้ง ในรอบเวลาไม่ถึง 10 ปี กล่าวคือปี 2549 และ 2557 ครั้งหลัง ผู้นำทหารหลายคนได้มารับหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารเอง ในห้วงเวลาของการดำรงตำแหน่ง มีผู้หยิบยกเรื่องการจัดซื้ออาวุธ การจัดงบประมาณทหารเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการให้อำนาจทหารผ่านคำสั่งต่างๆ และมีข่าวการฝึกทหารเกณฑ์ที่มีการใช้ความรุนแรง จนเกิดบาดเจ็บและบางกรณีถึงกับเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีนายทหารไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสภาที่มาจากการแต่งตั้งด้วย

บางพรรคการเมืองระบุว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้น จะโทษทหารไม่ได้ การบอกว่าให้ไปแก้ที่กองทัพเพื่อป้องกันรัฐประหาร เป็นการแก้ปลายเหตุ ทุกครั้งทีีมี่รัฐประหารล้วนเกิดจากความล้มเหลวของการเมือง ฝ่ายการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ และยังชี้ว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่ใช่รัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากประชาชน แต่เป็นรัฐประหารในช่วงที่ไม่มีรัฐบาล ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่คำอธิบายนี้ก็มีข้อโต้แย้งว่า ขณะนั้นมีรัฐบาลรักษาการ ควรปล่อยให้รัฐบาลและกระบวนการทำงาน กล่าวคือ ให้มีการเลือกตั้ง ใช้ผลการเลือกตั้งแก้ปัญหาการเมือง มิใช่แก้ปัญหาการเมืองด้วยรัฐประหาร

น่าสังเกตว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างมีความเห็นของตนเอง และเป็นความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก ทางออกในเรื่องนี้ ควรใช้เผยแพร่แนวคิดและนโยบายเหล่านี้ต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ว่าจะลงคะแนนให้กับนโยบายใด เพื่อจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายและแก้ไขสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาต่อไป หรือถ้าประชาชนเห็นด้วยว่า กองทัพดำเนินการต่างๆ ถูกต้องแล้วก็จะได้ดำเนินการต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image