จนมุมในมุมที่ไม่จน : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ผู้ใหญ่”ในพรรค ปชป.หลายคน รวมทั้งผู้สมัครอีกหลายคน ต่างพากัน ประกาศว่า ปชป.จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย หรือบางคนก็ใช้คำว่า “ระบอบทักษิณ”

ถ้าอย่างนั้น บทบาทของ ปชป.หลังการเลือกตั้งคืออะไร?

ปชป.คงรู้ดีเท่ากับคนทั่วไปว่า โอกาสที่ ปชป.จะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนสูงสุด จนได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้นเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ก็ไม่มีเหตุอันใดที่ ปชป.จะไปคิดได้ว่า ส.ว.250 คนจะเทคะแนนให้แก่ ปชป.ในทันที คงต้องอาศัยเงื่อนไขอีกหลายอย่างซึ่งคาดเดาไม่ได้ กว่าที่ ส.ว.จะทำเช่นนั้น และก่อนที่จะรู้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะทำให้คิดได้ว่า เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นแน่

เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อไทยได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก แม้อาจเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาสูงสุดก็ตาม พรรค ปชป.ก็จะร่วมกับพรรค พปชร.เป็นฝ่ายค้าน ในทางตรงกันข้าม หากพรรค พปชร.ได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล แม้ไม่ได้ที่นั่งในสภาสูงสุด ปชป.ก็จะเหลือทางเลือกเพียงอย่างเดียวคือร่วมกับ พปชร.จัดตั้งรัฐบาล (กับพรรคขนาดกลางและเล็กอื่นๆ ซึ่งประกาศแล้วว่าไม่ร่วมในความขัดแย้งใดๆ)

Advertisement

เพราะถ้าร่วมเป็นฝ่ายค้านกับเพื่อไทย ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านตลอดสมัยของสภานี้ ถึงแม้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำอย่างไร ฝ่ายค้านจะรวมพลังกับพรรค “เผื่อเลือก” ทั้งหลายจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็จะไม่มีวันที่ ปชป.จะเข้าร่วมด้วย หากฝ่ายค้านเพื่อไทยทำสำเร็จ ปชป.ก็จะเป็นฝ่ายค้านร่วมกับ พปชร.

จุดยืนไม่ร่วมกับพรรค “ระบอบทักษิณ” ทำให้ ถ้า ปชป.จะร่วมรัฐบาล ก็ต้องร่วมกับ พปชร. และถ้า ปชป.จะเป็นฝ่ายค้านก็จะเป็นฝ่ายค้านร่วมกับ พปชร. ดังนั้น ปชป.และ พปชร.จึงเกิดมาคู่กันเหมือนฝรั่งดองกับพริกกะเกลือเป๊ะ ไม่ว่าทั้งคู่จะกระแนะกระแหนกันในระหว่างหาเสียงอย่างไรก็ตาม

จุดยืนของ ปชป.ที่ประกาศจะไม่ร่วมกับพรรคของ “ระบอบทักษิณ” จึงเหมือนการทาสีพื้นห้องโดยเริ่มจากประตูก่อน สีที่ทาจึงบีบให้ ปชป.มาติดอยู่มุมห้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

แต่อย่าเพิ่งนึกขำว่า ขึ้นต้นไม่คิดให้ดีจึงต้องมาจนมุม เพราะมุมนี้อาจเป็นมุมที่ ปชป.ตั้งใจละเลงสีเพื่อให้ตนมาจนอยู่ก็ได้

ในกรณีที่ พปชร.ได้ที่นั่งไม่มากนัก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง อย่างน้อยคงเป็นไปไม่ได้ที่ พปชร.จะได้ที่นั่งมากกว่า ปชป. เมื่อเป็นเช่นนั้น ถึง พปชร.จะสามารถรวบรวมคะแนนของพรรค “เผื่อเลือก” ทั้งหมด จนสามารถตั้งนายกฯ ได้ แต่ก็ตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ได้ ดังนั้น แทนที่ ปชป.จะเข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร. ประชาธิปัตย์เสนอตัวตั้งรัฐบาลเองไม่ดีกว่าหรือ หาก ปชป.ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. 250 เสียง พรรค “เผื่อเลือก” ทั้งหลาย ก็พร้อมจะเข้าร่วมกับประชาธิปัตย์ทันที

ส.ว.มีสมอง แต่ใครเป็นคนคุมสมองนั้น หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี อำนาจของ คสช.ในการคุมสมองของ ส.ว.ในอนาคต หรือแม้แต่ สนช.ในปัจจุบัน ไม่ได้มีความมั่นคงเหมือนเก่าเสียแล้ว ไม่ว่าคสช.จะแต่งตั้งใครเข้ามาเป็น ส.ว.ก็ตาม สมองของ ส.ว.ย่อมคิดหาทางที่จะรักษาเสถียรภาพของระบบ ซึ่งช่วยพยุงให้พวกเขาอยู่ในสถานะอันสูง (และด้วยผลตอบแทนที่สูงด้วย) ไว้มากกว่ารักษาเสถียรภาพของ คสช.

เช่น ส.ว.6 คนที่มาจากตำแหน่งย่อมไม่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ก็ตาม พรรคเสรีรวมไทยก็ตาม รวมกันจัดตั้งรัฐบาล หรือรวมกันเป็นฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ได้ประกาศนโยบายแน่นอนแล้วว่าจะต้องลดงบประมาณบ้าง, กำลังพลบ้าง, นายพลบ้าง, หรือโดยรวมคือลดอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธในการเมืองไทยลง แต่หากสถานะของนายกฯ พปชร.ขาดความมั่นคงทางการเมือง จึงไม่ควรและไม่จำเป็นต้องสนับสนุนนายกฯ ของ พปชร.ด้วย

และ ส.ว. 6 คนที่มาจากตำแหน่งนี่แหละคือ “วิป” ตัวจริงของ ส.ว. อีกทั้ง 6 คนนี้ก็ไม่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช. หากมาโดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ถึงอย่างไรทั้ง 6 ตำแหน่งก็ไม่ใช่ “คน” ของ คสช.อยู่แล้ว

ด้วยเหตุที่ต้องรักษาระบบไว้ให้ได้ ทั้งสมองของ ส.ว.และของผู้ควบคุม ส.ว. (ซึ่ง คสช.ไม่อาจผูกขาดได้อีกต่อไป) หรือชนชั้นนำทั้งหมด ไม่ขาดแม้แต่นายทุนประชารัฐ ก็น่าจะหันมาสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยไม่ต้องเรียกพรรค “เผื่อเลือก” ทั้งหลายไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร พรรคเหล่านี้ก็พร้อมจะสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ทันทีที่รู้ว่า คะแนนเสียง 250 ของ ส.ว.จะเทให้แก่คุณอภิสิทธิ์ ไม่เหลือทางเลือกอะไรให้แก่ พปชร.นอกจากร่วมรัฐบาลภายใต้แกนนำ ปชป. เซฟ “ประเทศไทย” แบบที่ชนชั้นนำต้องการ ดีกว่าเซฟคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา

อันที่จริงคุณอภิสิทธิ์มีภาษีดีกว่าคุณประยุทธ์อย่างเทียบกันไม่ได้ คุณอภิสิทธิ์หรือ ปชป.สามารถดึง “มืออาชีพ” ในเครือข่ายของชนชั้นนำได้กว้างขวางกว่าคุณประยุทธ์เสียอีก อย่าลืมว่ามือเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยของ คสช. ทั้งใน ครม.และในกลุ่มที่ปรึกษาของผู้นำ คสช.คงทำให้ชนชั้นนำจำนวนมากเลิกคิ้วด้วยความฉงน ปชป.ต่างหากที่จะสามารถดึงมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับกลับคืนมารวมกลุ่มกันได้

และที่สุดถึงที่สุด คุณอภิสิทธิ์เป็น ส.ส.ที่ลงเลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากที่รับพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่-เสรีรวมไทยไม่ได้ แต่ก็ลำบากใจที่จะเชียร์ คสช.ต่อไป ย่อมรู้สึกโล่งอกที่คุณอภิสิทธิ์จะมาสืบทอด คสช.ต่อโดยไม่ต้องมี คสช.

มุมที่ ปชป.ทาสีพื้นไปจนต้องไปจนอยู่นั้น อาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิดเมื่อเริ่มทาสีพื้นห้องที่ประตูมาก่อน แต่เป็นมุมที่คนอื่นพร้อมจะมายืนร่วมด้วย ถ้า พปชร.ได้ที่นั่งไม่ถึง 50

นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างไร เมื่อมองย้อนกลับไปดูประวัติของพรรค ปชป.

ในฐานะพรรคการเมืองที่มีอายุเหลือรอดมายาวนานที่สุด ย่อมหมายความว่า ปชป.เป็นพรรคที่มีประสบการณ์ร่วมกับเผด็จการทหารมาอย่างยาวนานที่สุด เพราะเผด็จการทหาร (ทั้งในรูปที่มีและไม่มี รธน.) เป็นระบอบปกครองที่ครอบงำประเทศไทยมานานที่สุด ปชป.จึงรู้การรักษาตัวรอดและฉกฉวยส่วนแบ่งอำนาจภายใต้สถานการณ์เผด็จการทหารได้อย่างเชี่ยวชาญที่สุดด้วย

ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มี ส.ส.ประเภทสอง ปชป.ซึ่งไม่มีทางตั้งรัฐบาลได้ ก็พร้อมจะเป็นฝ่ายค้านที่คอยถ่วงอำนาจของรัฐบาลนายพล (หรือจอมพล) ด้วยข้ออ้างประชาธิปไตย แต่เมื่อมี รธน.ที่เป็นประชาธิปไตย และไม่มี ส.ส.ประเภทสอง ปชป.มักไม่เคยชนะเลือกตั้งพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงหันไปร่วมกับทหารและชนชั้นนำบางกลุ่มฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ทั้งใน 2490 และ 2500 หากยังหาพันธมิตรจากกองทัพไม่ได้ ก็ป่วนการเมืองด้วยการบอยคอต การเลือกตั้ง หรือช่วยเป่านกหวีดป่วนเมืองเป็นเงื่อนไขให้ทหารได้ออกมาฉีกรัฐธรรมนูญอีก

ตั้งแต่มีพรรค ปชป.มาจนทุกวันนี้ ปชป.เคยจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ระบบการเมืองที่ต้องเคารพผลการเลือกตั้งเพียงสองครั้ง คือครั้งที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และคุณชวน หลีกภัย จัดตั้งรัฐบาล แต่ ปชป.สามารถร่วมรัฐบาลหรือแม้แต่จัดตั้งรัฐบาลเอง โดยไม่ต้องชนะการเลือกตั้งหลายครั้ง ดังนั้น ระหว่างระบบการเมืองที่ต้องเคารพผลการเลือกตั้งและระบบการเมืองภายใต้เงาเผด็จการทหาร ดูเหมือนระบบอย่างหลังนี้จะเป็นคุณแก่ ปชป.มากกว่า

ฉะนั้นถึงท่านพากันไม่เลือก พปชร. ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะได้เพื่อไทยและคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกฯ ถ้าที่นั่งของ พปชร.น้อยจริงๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่าท่านจะได้ ปชป.และคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แทนก็ได้

ดังนั้น จนถึงวันนี้ ปชป.จึงไม่เคยประกาศอย่างชัดเจนสักทีว่าจะไม่ร่วมกับ พปชร.ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่มี ปชป.เป็นแกนนำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image