พม่ากับปักกิ่ง (3) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ความท้าทายของรัฐบาลในยุคหลังพม่าได้รับเอกราชไม่ได้มีเพียงการฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมที่ขับเน้นศักยภาพของคนพม่า และการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและกองกำลังของชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ดังที่ได้กล่าวไปในสัปดาห์ก่อนว่าพม่ายังได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามกลางเมืองในจีน อันเป็นการขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายชาตินิยม (ที่รู้จักกันในนามพรรคก๊กมินตั๋ง) การห้ำหั่นกันระหว่างจีนทั้งสองฝ่ายส่งผลให้กองกำลังทั้งสองแทรกซึมเข้าสู่พม่า โดยเฉพาะฝ่ายก๊กมินตั๋งที่เพลี่ยงพล้ำและต่อมาจะพ่ายแพ้ให้กับกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นเหตุให้ทหารของก๊กมินตั๋งจากกองทัพที่ 26, กองพล 93 และกองทัพที่ 8 ไหลทะลักเข้าไปในรัฐฉานตั้งแต่ปี 1950 เวลาผ่านไปไม่นาน กองกำลังก๊กมินตั๋งเริ่มไหลทะลักเข้าไปในรัฐฉาน จาก 1,500 นาย ในต้นปี 1950 เป็นนับหมื่นนายในอีก 3 ปีต่อมา แน่นอน รัฐบาลพม่ามองว่าก๊กมินตั๋งเป็นผู้รุกราน และเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างฉกาจ ครั้งหนึ่งเมื่อกองกองทัพพม่าปะทะกับกองกำลังก๊กมินตั๋ง และจับกุมกองกำลังผู้รุกรานกว่า 200 นาย ไปสอบสวน ผู้นำก๊กมินตั๋งในพม่ากดดันให้พม่าปล่อยตัวทหารของตน โดยขู่ว่าตนจะเปิดฉากโจมตีพม่าหากพม่าไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ในเวลานั้น พลพรรคก๊กมินตั๋งในพม่ามีที่มั่นอยู่ทั้งที่เชียงตุง เมืองสาด (Mong Hsat) และท่าขี้เหล็ก

เวลาผ่านไป 2 ปี กองทัพก๊กมินตั๋งในรัฐฉานเข้มแข็งขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และขยายเขตอิทธิพลของตนไปจนจรดเมืองลุน (Mang Lun) เขตโกก้าง (Kokang) และยังเปิดกองบัญชาการของตนในอีกหลายเมืองในรัฐฉาน รัฐบาลพม่ายิ่งมองก๊กมินตั๋งว่าเป็นภัยคุกคามของตนมากขึ้นเมื่อพวกเขาสามารถโน้มน้าวให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มาเป็นพันธมิตรของตนได้ เช่น KNDO ของกะเหรี่ยง และ MNDO ของมอญ แกนนำกองทัพก๊กมินตั๋งในพม่าก็สนับสนุนในชนกลุ่มน้อยปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าอยู่เนืองๆ

ความเข้มแข็งของกองทัพก๊กมินตั๋งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการสนับสนุนจากภายนอก มีรายงานข่าวว่าทหารก๊กมินตั๋งเดินทางจากไต้หวัน (เกาะฟอร์โมซา) ไปสมทบกองทัพของตนในรัฐฉานโดยใช้เส้นทางประเทศไทยเดินตัดเข้าสู่รัฐฉาน มีหลักฐานชี้ชัดว่ากองกำลังก๊กมินตั๋งในพม่าได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา (และไทยซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาตลอดยุคสงครามเย็น) เป็นสงครามลับสงครามแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การปฏิบัติการชื่อ “Operation Paper” กองกำลังก๊กมินตั๋งในพม่าได้รับอาวุธและเสบียงที่จำเป็นจากสหรัฐอเมริกา ความได้เปรียบทางอาวุธยุทโธปกรณ์ และการมีสหรัฐ กับไทยหนุนหลังอยู่ ทำให้กองกำลังก๊กมินตั๋งในพม่ามั่นใจในศักยภาพตนเอง จึงเปิดฉากโจมตีกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ของฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ตั้งกองกำลังอยู่อีกฝั่งหนึ่งของรัฐฉาน แต่ก็พ่ายแพ้กลับมา เป็นเหตุให้ กองกำลังก๊กมินตั๋งจำนวนหนึ่งต้องหนีกลับไปไต้หวัน รัฐบาลพม่ารายงานว่าก๊กมินตั๋งขนส่งคนของตนเองกลับไปไต้หวันโดยทางอากาศ มีเครื่องบิน C-46 และ C-47 ที่บินระหว่างไต้หวันกับรัฐฉาน ผ่านน่านฟ้าพม่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์

หากผู้อ่านเคยชมภาพยนตร์เรื่อง American Made (2017) ที่ทอม ครูซ แสดงเป็นแบรี่ ซีล (Barry Seal) นักบินอเมริกัน ผู้ลักลอบนำโคเคนจำนวนมหาศาลจากโคลัมเบียและเม็กซิโก เข้าไปในสหรัฐ ในปลายทศวรรษ 1970 และภาพยนตร์เรื่อง American Gangster (2007) ที่กล่าวถึงการลักลอบนำยาเสพติดจากเขตสามเหลี่ยมทองคำ เข้าไปในสหรัฐ โดยใช้เครื่องบินของกองทัพสหรัฐที่ประจำอยู่ในเวียดนามในขณะนั้น เหตุการณ์แบบเดียวกันก็เกิดขึ้นในรัฐฉาน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลกด้วย กองกำลังก๊กมินตั๋งในเขตนี้กลายเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ป้อนยาเสพติดให้ตลาดในสหรัฐ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อมาอีกหลายปี

Advertisement

รัฐบาลพม่ามองว่า “ความเกรี้ยวกราดของก๊กมินตั๋ง” (KMT Aggression) เป็นภัยคุกคามในหลายระดับ ในแง่หนึ่ง การเข้ามายึดรัฐฉานบางส่วนเพื่อเป็นฐานปฏิบัติการของก๊กมินตั๋งคือการละเมิดอธิปไตยของพม่า และในอีกแง่หนึ่ง พม่าไม่ต้องการให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าใจพม่าผิดว่ากำลังสนับสนุนกองกำลังก๊กมินตั๋งอยู่ และพยายามทำความเข้าใจกับจีนอยู่หลายครั้ง และทางจีนก็มีทีท่าอารีอารอบต่อเพื่อนบ้านอย่างพม่า การแก้ปัญหาการลักลอบเข้ามาของก๊กมินตั๋งในพม่าไม่สามารถแก้ได้ด้วยการใช้กำลังเพียงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลพม่าเองไม่สามารถระดมสรรพกำลังทั้งหมดเข้าไปปราบก๊กมินตั๋งในรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขตภูเขาสลับซับซ้อนได้ จึงต้องขอความร่วมมือจากทั้งอินเดีย (ที่วางตัวเป็นกลางเช่นเดียวกับพม่า) และสหรัฐ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ก๊กมินตั๋งถอนกองกำลังออกจากพม่า แต่ความพยายามนี้ไม่เป็นผล ในส่วนของสหรัฐ ประชาคมโลกรับรู้บทบาทของสหรัฐ ที่เข้าไปสนับสนุนก๊กมินตั๋งในพม่าจากรายงานของสื่อหลายสำนัก ในกลางปี 1953 เมื่อมีการเปิดโปงปฏิบัติการของซีไอเอในรัฐฉาน เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำพม่า เดวิด แมคคีย์ (David McKey) และวิลเลียม เจ. ซีบอลด์ (William J. Sebald) แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่ง

ทูตอเมริกันทั้งสองคนเคยร้องขอไปทางวอชิงตันเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐเลิกสนับสนุนกิจกรรมของพรรคก๊กมินตั๋งในพม่า เพราะมองว่าหากรัฐบาลพม่าสืบทราบว่ารัฐบาลอเมริกันอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการของพรรคก๊กมินตั๋งในพม่าแล้ว จะเกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาลสหรัฐ และจะทำให้สหรัฐ ตกที่นั่งลำบากในพม่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำพม่าจะหันไปเห็นอกเห็นใจฝ่ายคอมมิวนิสต์มากขึ้น แต่การร้องขอของทูตทั้งสองไม่เป็นผล วอชิงตันมองอีกมุมหนึ่งว่าการเข้าไปสนับสนุนกองกำลังคือการสกัดกั้นไม่ให้คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งผู้นำพม่าเป็นพวกฝักใฝ่ลัทธิสังคมนิยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การปกป้องพม่าจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์จึงสำคัญยิ่งสำหรับวอชิงตัน สหรัฐพยายามจะยุให้ปักกิ่งบุกพม่า เพื่อดึงพม่าให้มาอยู่ฝั่งของตน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำรัฐบาลพม่ากับจีนเหนียวแน่น และทำให้จีนมองพม่าด้วยความเห็นอกเห็นใจ มากกว่าเป็นศัตรู

การต่อสู้ทางการทหารระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพก๊กมินตั๋งยืดเยื้ออยู่หลายปี และแม้จะมีปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งเพื่อโจมตีฐานที่มั่นของก๊กมินตั๋งทั่วรัฐฉาน แต่กองทัพพม่าก็ไม่สามารถเอาชนะกองทัพของผู้รุกรานได้ พม่าจึงนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมสหประชาชาติในปี 1953 แต่ก็ไม่เป็นผลอีก ปัญหาก๊กมินตั๋งยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงต้นทศวรรษ 1960 เมื่อรัฐบาลพม่ากดดันรัฐบาลไต้หวันได้สำเร็จ และสามารถผลักดันกองกำลังก๊กมินตั๋งกว่า 4,000 นายออกไปจากพม่าได้ ส่วนที่ยังหลงเหลือในพม่ามีอยู่ราว 700 คน แต่ก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อพม่าอีกเลย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image