เดินหน้าชน : กระแส‘คนรุ่นใหม่’ : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศจะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว คราวนี้จะถึงคิวของการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 7,852 แห่ง ที่ยังใช้ลมหายใจของ ม.44 ในการต่ออายุของการทำหน้าที่รักษาการ คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปประมาณ 60 วัน หรือตรงกับช่วงเดือน ก.ค.

หรือทันทีที่รัฐบาลใหม่เกิดขึ้น อำนาจของ ม.44 ก็จะหมดตามไปด้วย การรักษาการของบรรดาผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นก็จะหมดทันทีเช่นกัน

ถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เข้ามาแล้วเช่นกัน จะเป็นการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ.กันก่อน จากนั้นทยอยเลือกตั้งทั้งระดับเทศบาล อบต. รวมถึงผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา ยาวไปจนถึงสิ้นปี หรืออาจข้ามไปปีหน้า

หลายคนมองกันว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเที่ยวนี้จะไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมืองท้องถิ่นเหมือนในอดีต จะผูกเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติมากกว่าเดิมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมติของ กกต.เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น สามารถให้การแนะนำหรือช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ส. ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้ อันเป็นการสนับสนุนผู้สมัครในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

Advertisement

ทำให้เห็นว่าการทำหน้าที่รักษาการของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นกลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของเหล่าผู้สมัคร ส.ส.ในการเข้าหาชาวบ้านในเขตเลือกตั้งของตนเอง เรื่องฟ้องร้องที่เคยเกิดขึ้นตอนแรกว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปข้องแวะหรือสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ก็ถูกตีตกไปทั้งหมด เพราะไม่ถือว่า ไม่เป็นกลาง

ตรงนี้กลายเป็นเรื่อง “ไม่แฟร์” สำหรับพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ไม่มีฐานเสียงจัดตั้งจากท้องถิ่นเหมือนพรรคอื่นๆ แต่ก็ไม่ถึงกับตีบตันเสียทีเดียว บทบาทของเครื่องมือสื่อสารทั้งหลายที่ทำให้ข่าวสารออกมาได้อย่างมหาศาล กลายเป็นเครื่องมือของเหล่านักการเมืองหน้าใหม่ พรรคใหม่ที่สามารถเปิดตัวเองออกสู่สาธารณชนได้ง่ายกว่าในอดีต จึงยังมีช่องให้เบียดแทรกส่งสารถึงประชาชนได้โดยตรง

ในส่วนของประชาชนหรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยได้เข้าคูหากาบัตรมาก่อนก็เช่นกัน ในครั้งนี้มีการคำนวณคร่าวๆ กันว่า เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2554 ทำให้มีคนรุ่นใหม่ที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกประมาณ 6-7 ล้านคน ดังนั้น คนรุ่นใหม่ก็สามารถเป็นคะแนนเสียงผันแปรในการเลือกตั้ง

Advertisement

เหล่าหัวคะแนนหรืออาศัยหน้านักการเมืองท้องถิ่นไปสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้านก็ไม่ใช่เรื่องของความได้เปรียบอีกต่อไป ยิ่งไปเที่ยวเคาะประตูบ้านก็จะไม่เจอคนรุ่นใหม่ แต่กำลังเป็นเรื่องล้าสมัยโดยไม่รู้ตัว หากไม่ยอมปรับตัว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักกับหัวคะแนนเหล่านี้ ไม่เชื่อใจอะไรกันง่ายๆ ในเมื่อสามารถเปิดหาข้อมูลในโลกออนไลน์ได้อย่างมากมายคนรุ่นใหม่กลุ่มใหญ่นี้ยังต้องมีหน้าที่ในการลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นที่จะลงทำหน้าที่ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้ ต้องปรับตัวไม่แพ้กัน คาดไปอีกว่าจะมีนักการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่แห่ชิงลงสมัครอย่างล้นหลามไม่แพ้ระดับประเทศ

หลายคนที่พลาดหวังการเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค.นี้ ก็เตรียมพร้อมสำหรับการตัดสินใจไปเล่นสนามท้องถิ่น

น่าสนใจสำหรับนิด้าโพล เพิ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องพลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.- 2 ก.พ. 2562 จากประชาชนผู้ที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี (ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2537-2544) กระจายทุกภูมิภาค รวม 1,254 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 84.93 ระบุว่า ไปแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 8.53 ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน และร้อยละ 6.54 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

นับเป็นงานท้าทายและถือว่าสำหรับผู้สมัครที่คิดว่าจะเล่นการเมืองท้องถิ่น สามารถใช้เวลาในขณะนี้ศึกษาคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ดี

ดังนั้น จึงไม่ใช่เพราะนักการเมืองหน้าเก่าที่ได้เปรียบหรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่เสียเปรียบอีกต่อไป หากแต่ใครจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้มากกว่ากัน เข้าให้ถูกช่องทาง โอกาสที่จะเกิดความสูสีในการแข่งขันจะเกิดขึ้นทันที

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image