ตำนานงูเห่า : โดย กล้า สมุทวณิช

คงไม่ต้องกล่าวถึงว่าผลงานที่ปรากฏผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นส่งผลกระทบหรือเป็นจุดหักจุดแปรในทางการเมืองมามากมายหลายครั้ง ล่าสุดก็เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่ “คดีแรก” ที่ถือเป็นเหมือนการก้าวเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นอีก “ตัวละคร” ที่ปรากฏขึ้นบนเวทีการเมืองนั้น ย้อนไปตั้งแต่ พ.ศ.2542 ในคดีที่เรียกชื่อกันอย่างลำลองว่า “คดีงูเห่า”

ท้องเรื่องของตำนานเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พ่ายแพ้ต่อสงครามการเมืองที่มีต้นตอมาจากปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จนต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงปลายปีเดียวกัน หลังจากการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

เมื่อนายกรัฐมนตรีลาออกแต่สภาผู้แทนราษฎรนั้นยังคงอยู่ จึงต้องมีการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนั้น

Advertisement

ในขณะนั้น พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังคงมีเสียงข้างมากในสภา 197 เสียง และร่วมกันจะสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ส่วนพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นมีเสียงน้อยกว่าเพียง 1 เสียง คือ 196 เสียง หากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้เปรียบในทางการเมืองจากบรรยากาศ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเชื่อว่าความล้มเหลวพังพินาศทางเศรษฐกิจของวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลขั้วเดิม

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ดอดไป “แอบคุย” กับ ส.ส.พรรคประชากรไทย ซึ่งยังอยู่ในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลุ่มหนึ่ง และในที่สุดก็ได้ ส.ส.ที่แปรพักตร์มาอีก 13 คน นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม จึงตั้งรัฐบาลสำเร็จ และชูนายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองได้สำเร็จ

ด้วยความเจ็บใจ คุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย จึงเล่านิทานเปรียบเปรยเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ไว้ว่า เหมือนท่านเป็นชาวนาที่เห็นงูเห่า คือ ส.ส.กลุ่มนายวัฒนากำลังจะหนาวตายเพราะถูกขับออกจากพรรคเก่า รับเข้ามาไว้ในสังกัด แต่แล้วพองูเห่ากลับมามีฤทธิ์พิษร้าย ก็แว้งมาฉกเอาเสียได้

Advertisement

ต้องเข้าใจตรงกันก่อนประการหนึ่งว่า แม้ตามความเข้าใจแล้ว เราจะมองพรรคการเมืองเป็นกลุ่มก้อนของ “เสียง” ในสภาที่มีที่มาจากประชาชนในฐานะผู้แทน แต่ในการลงมติใดๆ ในสภาก็ตาม รวมถึงการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ส.ส.แต่ละคนถือว่ามีสิทธิและอิสระอยู่

เพียงแต่กลไกการบังคับของพรรคการเมืองในเชิงสถาบันก็มีอยู่ที่ว่า หาก ส.ส.สมาชิกพรรคคนใด “แหกมติ” พรรคอย่างรุนแรงแล้ว พรรคก็มีสิทธิขับผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นพ้นจากพรรคได้ และเมื่อพ้นจากพรรคแล้วก็ต้องสิ้นสมาชิกสภาความเป็น ส.ส.ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับบัญญัติไว้ว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง

เช่นนี้ พรรคประชากรไทยจึงมีมติขับ ส.ส.กลุ่มงูเห่าออกจากพรรค เพื่อหวังผลลงโทษทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญ

แต่กระนั้น ตามรัฐธรรมนูญที่ถือเป็น “กติกาใหม่” ในขณะนั้น ก็เปิดช่องให้สมาชิกที่ถูกขับสามารถโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ว่ามติของพรรคการเมืองนั้นขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ซึ่ง “งูเห่า” ก็เป็นคณะแรกที่ “ลองของใหม่” ใช้สิทธินี้

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2542 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 วินิจฉัยว่า มติของพรรคประชากรไทยที่ลบชื่องูเห่าผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เหตุผลประการแรก คือรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ดังนั้นการที่พรรคประชากรไทยไล่ ส.ส.กลุ่ม “งูเห่า” ออกจากพรรคและจะมีผลให้ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้น เท่ากับทำให้ความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงและไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยได้ มติเช่นนี้จึงขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.โดยชัดแจ้ง

และเหตุผลที่สอง มติดังกล่าวก็ยังขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมติพรรคที่ลงชื่อสนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีและเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามติเดิมของพรรคที่ให้สนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อพรรคการเมืองสองพรรคในหกพรรคซึ่งเคยมีมติร่วมกันจะจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว ได้ประกาศถอนตัวและกลับไปสนับสนุนนายชวน จึงเป็นผลให้ข้อตกลงของหกพรรคเดิมเป็นมติที่ไม่จำต้องปฏิบัติตามต่อไป และเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ของพรรคประชากรไทยเห็นว่ามีความจำเป็นรีบด่วนต้องสนับสนุนให้นายชวนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะพึงรับฟังตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มติที่ให้ลบชื่อคณะงูเห่าผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยจึงขัดหรือแย้งกับหลักการดังกล่าวและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้ทำให้นายวัฒนา อัศวเหม และคณะไม่ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.สามารถไปหาพรรคใหม่อยู่กันได้ในชื่อของ “พรรคราษฎร” และได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นรัฐมนตรีกันไป

นี่คือ “ตำนานงูเห่า” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

และต่อมา เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลใช้บังคับ หลักการความเป็นอิสระจากความผูกมัดหรืออาณัติใดๆ ของ ส.ส.ก็ได้รับการรับรองไว้ตามมาตรา 122 และก็ตกทอดมาสู่มาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย โดยบัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

กล่าวโดยสรุป บรรทัดฐานของคดีงูเห่านี้ คือแม้ว่า ส.ส.จะถูกบังคับว่าต้องสังกัดพรรคการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เมื่อชนะการเลือกตั้งจนได้เข้าไปเป็น ส.ส.แล้ว “พรรคการเมือง” จะเป็นเพียงสังกัดหรือเสื้อทีม แต่ตัว ส.ส.เองนั้นจะปฏิบัติหน้าที่แบบไหนหรือออกเสียงลงมติอย่างไรก็เป็นอิสระที่พรรคการเมืองไม่อาจบังคับได้

ดังนั้นแม้ในทางการเมือง ประชาชนจะเลือก “ส.ส.” จาก “พรรคการเมือง” ที่เราเชื่อว่ามีอุดมการณ์ตรงกับเรา หรือจะไปออกเสียงสนับสนุนเลือกนายกฯให้เราก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันในทางรัฐธรรมนูญใดๆ เลยว่าผู้สมัคร ส.ส.นั้น จะไปปฏิบัติหน้าที่ตามมติหรือแนวทางของพรรคที่เราสนับสนุน

และแม้เมื่อเวลาบรรดาเกจิหรือคอการเมืองทั้งหลายจะคิดคำนวณสูตรสมการทางการเมืองอย่างไร แต่การคิดคำนวณนั้นก็เป็นการมอง “พรรคการเมือง” ว่าเป็นหน่วยกำลังอำนาจทางการเมืองที่มีหน่วยนับเป็น “เสียง ส.ส.” แบบเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เช่น สมมุติพรรค A มี ส.ส.ชนะการเลือกตั้งในสังกัด 45 คน เราก็จะแทนค่า A ด้วยเลข 45 ในสมการการเมือง ว่าถ้าพรรค A ไปรวมกับพรรค B และ C จะมีจำนวน ส.ส.ในสภาเท่าใด และจำนวนนี้จะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หรือจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ

แต่ในทางความเป็นจริงตามกติกาแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ตัวเลข 45 ของ A นี้ก็ยังมี “ความเป็นไปได้” ที่จะเกิด “งูเห่า” อยู่ภายใน และแปรผลแตกต่างให้สมการไม่เป็นสมการเช่นที่คำนวณไว้

จะมองว่าเป็นเรื่อง “อิสระ” ของ ส.ส.แต่ละคนที่จะสามารถออกเสียงหรือดำรงบทบาททางการเมืองอย่างไรก็ได้ไม่ต้องถูกครอบงำโดยมติพรรค (ที่เอาเข้าจริงอาจจะมีเพียงใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ) ก็ได้

แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปพิจารณาถึง “ต้นทาง” หรือที่มาให้นายอะไรคนหนึ่งได้เป็น “ผู้แทนราษฎร” เข้าไปนั่งในสภาได้นั้น มันมาจากการออกเสียงของประชาชน

และเป็นประชาชนมิใช่หรือที่ให้ความไว้วางใจในแนวทาง อุดมการณ์ หรือตัวตนของบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรค จึงลงคะแนนให้นายอะไรคนนั้นได้เป็น “ส.ส.” เข้าไป “ออกเสียง” ในสภาแทนตน

เป็นการออกเสียงเพื่อแสดงเจตจำนงและอุดมการณ์ทางการเมือง แทนผู้ออกเสียงเลือกตั้งพวกเขา

เช่นนี้ ดาบอีกคมหนึ่งของการ “ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ” นั้น ก็คือการปลอดพ้นจาก “ความผูกพัน” และ “อาณัติ” ที่ประชาชนผู้เลือกเขานั้น “มอบหมาย” ให้เขาไปใช้อำนาจของราษฎรแทนพวกเขาในสภาด้วย

เอาแบบตรงไปตรงมา คือถ้าเราจะกากบาทให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคสักพรรคที่มีจุดยืนว่าไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เราย่อมคาดหวังหรืออย่างน้อยก็มั่นใจว่าเขาจะไม่ไปออกเสียงเลือกผู้เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯที่เป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้กราดเกรี้ยวผู้นั้น

เช่นนี้หาก ส.ส.ที่ว่านั้น ใช้ “อิสระที่จะไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ…ฯลฯ…” แล้วเลือกตาลุงคนเดิมกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ก็ไม่ต่างจากการทรยศต่อประชาชนที่ลงมติเลือกเขาเข้าไปในสภา

“งูเห่า” ในทางการเมืองจึงไม่ได้ฉกกัดแต่เฉพาะ “พรรคการเมือง” แต่พิษอันเนรคุณนั้นยังแผ่กลับไปสู่ประชาชนผู้เลือกเขาเข้ามาด้วย

และ “งูเห่า” ก็อาจจะกลายร่างไปจากมนุษย์ธรรมดาก็ได้ หากถูกหลอกล่อด้วยอำนาจหรือผลประโยชน์ในทางการเมือง หรือแม้แต่ความกลัว ที่อย่างหลังนี้เผลอๆ จะมีอำนาจยิ่งกว่าอย่างแรกด้วย เพราะเช่นที่เคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งว่าคนเราจะกลัวการสูญเสียยิ่งกว่าการได้รับมา

“งูเห่า” อาจเกิดได้กับหัวหน้าพรรคที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น “ตาอยู่” กลับมาเป็นนายกฯ โดยอาศัยจับขั้วกับพรรคที่ตัวเองไม่ได้สนับสนุน “ตัว” ผู้ที่ชูขึ้นมาเป็นแคนดิเดต แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ “ไข่” รสดีของเจ้าตัวน่าขยะแขยงจนไม่มีใครประสงค์จะออกนามนั้น

หากก็เผื่อใจว่า “ไข่” ในรังตัวจะฟักออกมาเป็นงูเห่าด้วยก็แล้วกัน

หรือแม้แต่พรรคที่เหมือนจะรวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันไว้แน่นหนาแล้ว แต่ก็ระวังว่ารังสีปฏิกรณ์ทางการเมืองก็จะทำให้คนดีๆ กลายพันธุ์เป็นมนุษย์งูเห่าก็ได้

และแม้แต่งูเห่าก็ยังอาจจะเกิดได้ หากมีความพลิกผันของสถานการณ์บางอย่าง ขนาดที่แน่ใจว่าเป็นไข่ของตัวเอง คลอดออกมาจากท้อง แต่งตั้งมากับมือด้วยลายเซ็นตัวเอง ก็อาจจะฟักออกมาเป็นอสรพิษได้ แม้กรณีหลังนี้ออกจะยากสักหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image