พระอรหันต์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต : ศิษย์เอกหลวงปู่เสาร์ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“พระครูวิเวกพุทธกิจ” หรือ “หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล” หรือที่เรียกว่า “หลวงปู่ใหญ่” ที่เหล่าศิษย์พากันยกย่องเทิดทูนหรือที่หลวงตามหาบัวเคยยกให้เป็นปรมาจารย์ใหญ่สายพระกัมมัฏฐาน ด้วยเหตุผลที่ท่านคือ พระอาจารย์ของ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่หลวงปู่มั่นให้ความเคารพนับถืออย่างสูงสุด “หลวงปู่เสาร์” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเลียบรูปที่ 1 มีฉายา “กันตสีโล” เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2402 ที่บ้านข่าโคม ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ท่านอุปสมบทที่วัดใต้ จ.อุบลราชธานี ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง ท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปทางสมาธิวิปัสสนา เป็นผู้ใฝ่ในธุดงค์วัตร หนักในทางสมาธิของความสงบวิเวก มักจะเปลี่ยนสถานที่ปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ไม่ยึดติดกับสถานที่ใดที่หนึ่ง ในเรื่องของโอวาทของหลวงปู่เสาร์มีอยู่น้อยมาก แต่เนื้อหาคำสอนดังกล่าวมีความชัดเจนสมบูรณ์ในตนเอง ซึ่งคำสอนหลักๆ ของหลวงปู่ใหญ่สามารถแยกเป็น 4 ข้อสำคัญได้ดังนี้

1.ให้มนุษย์เราทุกคนรู้จักระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คือ ให้เจริญ “พุทธานุสติ” 2.ให้มนุษย์เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วเข้าใจตน นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จงให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็น “อนุสติ” 3.ให้มนุษย์เราทุกคนจงรู้ว่า เมื่อเกิดมาแล้วจงรู้กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงให้รู้ถึงความไม่เที่ยง มีความทุกข์และไม่ใช่ตัวตนเราเขาฉะนั้นจงเจริญ “อสุภานุสติ” 4.ให้มนุษย์เราทุกคนจงพิจารณากองทุกข์ นับตั้งแต่เกิดมาจนวาระสุดท้าย คือ ความตาย เพราะคนเราทุกคนหนีความตายไปไม่ได้ จงให้เจริญ “มรณานุสติ”

ประวัติของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้น้อยมาก แต่ถึงกระนั้นยังมีคำบอกเล่าจากครูบาอาจารย์มากมายที่ได้กล่าวถึงปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ไว้มากมาย เช่นหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้กล่าวไว้ดังนี้… “ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ” พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีศิษยานุศิษย์มากมาย แต่ด้วยปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน 2-3 ประโยค เวลานั่งก็ทนทาน นั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง (หมายถึงนั่งสมาธิ) เดินจงกรมก็ทำนองเดียวกัน “หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล” : เป็นผู้วางรากฐานสร้างแบบแผนวิถีแห่งพระป่าสายกรรมฐาน ที่สำคัญเป็นผู้ที่ชักชวนสอนศิษย์คนสำคัญ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ผู้กลายเป็นเอกบุรุษผู้พลิกฟื้นพระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้มั่นคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้

พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในสมณเพศด้วยความบริสุทธิ์งดงามตลอดชั่วชีวิต และท่านได้มรณภาพอย่างสงบในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ 3 ในอุโบสถวัดอำมาตยราม อ.วรรณไวทยากร จ.นครจัมปาศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแขวงจำป่าสัก ประเทศลาว) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484 สิริอายุได้ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน คณะศิษย์ได้เชิญศพท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และได้กระทำการฌาปนกิจเดือนเมษายน พ.ศ.2486 ลักษณะของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพ เลื่อมใส มองเห็นท่านแล้วเย็นตาไปหลายวัน ประชาชน พระ เณร เคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์โดยประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง ข้อวัตรปฏิบัติของท่านคือ “คำสอนที่ดีที่สุด” โดยเฉพาะรักษาพระวินัย
อย่างเคร่งครัด มีความเป็นอยู่สมถะ สันโดษ เรียบง่ายไม่ชอบคนหมู่มาก เดินธุดงค์ จาริก แสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญภาวนาตามป่าเขา… พระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ท่านอาจารย์เสาร์มีจำนวนมากแต่ไม่เปิดเผยเท่าที่ควร มีท่านพระอาจารย์มั่น “ศิษย์เอก” ของท่านระยะหลังต่อมาได้ปรากฏประวัติและธรรมะของท่าน ซึ่งแต่เดิมท่านก็ไม่ปรากฏองค์ท่านเช่นเดียวกันกับพระอาจารย์เสาร์

Advertisement

ศิษย์เหล่านั้นให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมากด้วยคุณธรรม เสมือนท่านเป็นพระปรมาจารย์ใหญ่สายพระกัมมัฏฐาน…ที่ “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” ให้ความเคารพสูงสุด

ตอนที่ 6 ธุดงค์แสวงหาธรรมะต่อไป ในประเทศพม่า พ.ศ.2454 ความไม่หยุดยั้ง : มุ่งหวังหาความจริงเพื่อจะต่อสู้กับกิเลส โดยทุกทางของพระอาจารย์มั่น เป็นไปอย่างไม่คอยเวลา แม้จะต้องใช้เวลาปีแล้วปีเล่าในการมุมานะ แทบว่าจะหมดหนทางอยู่แล้วก็ตาม แท้จริงพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งมิได้เสื่อมคลายไปไหนเลย มีแต่การที่จะหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติให้ได้ผลเท่านั้น เพราะท่านอาจารย์มั่น ท่านต้องการแสวงหาความจริงที่ไม่มีความวิปริต ท่านเองปฏิบัติ พระอาจารย์พาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งแนะแนวทางแต่ยังรู้สึกตัวเองว่า ยังไม่พบความจริง ยังไม่เป็นที่พอใจ

ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่บ้านนาสีนวน ต.หนองเหียน อ.เมือง จ.สกลนคร ในโอกาสที่ผู้เขียนกำลังถวายนวดเป็นประจำ คือ ในตอนเช้าหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็เริ่มนวดถวายไปจนถึง 11.00 น. ตอนกลางคืนหลังจากเดินจงกรมแล้ว 2 ทุ่มเศษถวายนวดถึง 5 ทุ่ม หรือกว่านั้น โอกาสที่เล่าถึงการไปธุดงค์ที่ประเทศพม่าครั้งนี้ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษว่า เราอาจจะมีโอกาสไปสักครั้งบ้าง จึงทำให้ผู้เขียนพยายามจดจำการเล่าของท่าน ซึ่งท่านเองอาจจะรู้ใจของผู้เขียนที่มีความสนใจและตั้งใจ ท่านจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดถี่ถ้วนใช้เวลาหลายวันและผู้เขียนเองก็พยายามซักถามท่านอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดรสชาติขึ้นมา

Advertisement

ในปี พ.ศ.2454 ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านก็ได้พบเพื่อนสหธัมมิกอีก 1 รูป และมีชื่อว่า มั่น เหมือนกันกับชื่อของท่าน แต่ปัจจุบันท่านรูปนั้นยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้เทพ คือ “พระเทพมงคลปัญญาจารย์” ท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณเทพมงคลปัญญาจารย์ได้ปรึกษาหารือกันว่า เราจะต้องถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนา เดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก เมื่อตกลงสละชีวิตร่วมกันแล้วก็ออกเดินทางต่อไปโดยไม่มีจุดหมาย ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นประเทศอะไร จะต้องมีหนังสือเดินทางข้ามแดนหรือไม่ก็ตาม เพราะถือเอาการอยู่ป่าเป็นสำคัญ เห็นที่ไหนเหมาะดีก็อยู่ทำความเพียรไป แต่พอจะเกิดความเคยชินก็เดินทางต่อไปอีก

เมื่อท่านทั้ง 2 เดินทางข้ามภูเขาไปแต่ละลูกๆ นั้น เป็นภูเขาที่สูงชันน่ากลัวทั้งสิ้น ขณะที่ไป พบแต่พวกชาวเขาพูดกันไม่รู้เรื่อง ท่านเล่าว่า ดีมากที่ไม่รู้ภาษากัน มีแต่เพียงว่าเขาให้อาหารแก่เราพอประทังชีวิตก็พอแล้ว ในขณะที่ท่านทั้ง 2 กำลังเดินทางข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ก็ถึงเมืองหาง เขตพม่า พวกชาวบ้านเป็นไทยใหญ่ส่วนมากพวกเขาพอรู้ภาษาไทยบ้างเล็กน้อย พวกชาวบ้านเห็นเข้าแล้วก็เกิดความเลื่อมใส นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ ท่านก็พักชั่วคราว ตามที่ท่านสังเกตดู พวกเขาเป็นคนที่มีศีลธรรมดี เวลาเขาขายของกันนั้น เจ้าของร้านบางทีก็ไม่อยู่เฝ้าหน้าร้าน เขาเขียนราคาติดสิ่งของไว้เสร็จ คนซื้อไม่เห็นเจ้าของร้าน ก็เอาเงินวางไว้ให้แล้วหยิบเอาของนั้นไปตามราคา การลักการขโมยไม่มี ผู้คนมีรูปร่างหน้าตาสะอาด ท่านรำพึงว่าธรรมะอะไรหนอที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้มีศีลธรรมอันดีงาม น่าแปลกใจจริง

เพื่อการแสวงหาเฉพาะธรรมะเท่านั้น ท่านทั้ง 2 จึงไม่พยายามที่จะสอนใครและหาความสนิทสนมกับใครๆ เพราะต้องการปฏิบัติมากกว่า อันแดนพม่ากับแดนไทยนี้ ท่านเล่าว่ามันกีดกันด้วยภูเขาลูกใหญ่จริงๆ ไม่เหมือนทางภาคอีสานของไทย ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วภูเขาลูกเล็กๆ ทั้งนั้น “เสือ-ช้าง-งูจงอาง-หมี-วัวกระทิง ท่านอาจารย์ไม่พบบ้างหรือ?” ผู้เขียนถาม ท่านตอบว่าไม่ต้องพูดถึงหรอก ตลอดระยะทางก็มีแต่เฉพาะพวกมันทั้งนั้น ก็เข้าไปป่าทึบซึ่งเป็นเขตของมัน แม้พวกเราจะจำวัดในป่ากัน 2 รูป ก็ไม่อยู่ใกล้กัน เสียงช้างและเสือน่ะหรือ อ๋อ ชินต่อพวกมันเสียแล้ว

แม้แต่จะเดินสวนทางผ่านกันไป ก็ทำเหมือนไม่รู้ ไม่ชี้ การเดินทางของเราทั้ง 2 คราวนี้มิได้มีการสนทนาธรรมเท่าใด เพราะต่างเอาความเพียรเป็นสำคัญ เมื่อจะพึงรับความสงบเย็นใจ ก็ถือว่าใช้ได้ บางครั้งเดินไปเหนื่อย หยุด หยุดทำไม? นั่งสมาธิ ถ้าไม่พบบ้านเรือนเลยก็ต้องอดอาหาร “ก็เทวดาไม่ใส่บาตรหรือครับ?” ผู้เขียนย้อนถาม เทวดาก็คือ คนบุญ เห็นมีแต่ต้นไม้จะมีเทวดาที่ไหนมาใส่บาตร เราทั้งสองอดอาหารโดยการเดินทางบางครั้งนานถึง 3 วัน เพราะไม่มีบ้านคน ดื่มเฉพาะน้ำ แต่ไม่ได้กระทบกระเทือนจิตใจของเราแต่อย่างใดเลย มันเป็นความพอใจ จึงไม่เห็นจะเป็นการหนักใจอะไร

เข็มทิศก็ไม่มี “การเดินทางมิหลงแย่หรือครับ” ผู้เขียนซักถาม เราก็ถามชาวบ้านเขาไปเรื่อยๆ ไปถูกบ้างผิดบ้างตามเรื่อง ส่วนการผจญกับสัตว์ป่าน่ะหรือ? ก็ไม่เห็นเป็นสิ่งอัศจรรย์อะไร วิริยังค์ (ชื่อผู้เขียน) นายพรานผ่า พวกเขาไปตามผ่าดงพงพี พบงูฆ่างู พบเสือฆ่าเสือ พบช้างฆ่าช้าง นอนกลางดงกลางป่าไม่เห็นเขาจะกลัวอะไร พวกพรานทั้งหลายซึ่งเป็นนักล่าสัตว์ เขาผจญกับพวกสัตว์ร้ายมากกว่าเรา เราไม่จำเป็นจะต้องถือว่าการผจญกับพวกสัตว์ร้ายเป็นเรื่องสำคัญ เราถือว่าการปฏิบัติที่เรากำลังจะต่อสู้กับกิเลสภายในนี่แหละ สำคัญกว่าการเดินทางอย่างทุรกันดารและยาวไกลคราวนี้ ก็ทำให้เกิดผลทางใจแก่เราไม่น้อยเลย เป็นเหตุให้เกิดความกล้าหาญในทางใจขึ้นอีกมาก ท่านก็พยายามหาอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานหลายต่อหลายท่าน ตามทางที่ไปจนถึง “พระธาตุชเวดากอง” ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 8 เดือน แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่พอใจ และก็ไม่ผิดอะไรกับที่ไปประเทศลาว จึงทำให้ท่านคิดจะกลับประเทศไทยต่อไปอีก

ตามข่าวเล่าลือว่าอาจารย์ที่ประเทศพม่านี้เก่งในทางการสอนและปฏิบัติกัมมัฏฐานมาก ท่านได้เสาะแสวงหา ตั้งปัญหาถามทุกอย่าง คำตอบยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะเหมือนกับที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้มิได้ยิ่งขึ้นไป แม้เราจะถามให้สูงขึ้นซึ่งอรรถปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจ แต่เราก็ไม่มีปัญญา เรามีความรู้เท่าไรก็ถามเขาเท่านั้น มิใช่ถามเพื่อการลองภูมิเหมือนกับคนทั้งหลายที่อวดดี ถามเพื่อจะแก้ตัวเอง เมื่อไม่มีความรู้ที่จะถาม ถามก็แค่ที่เรามีอยู่มันก็จนใจและก็ไม่เห็นค่ามีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป ถ้าหากว่าเราพึงได้รับความรู้ก้าวหน้าต่อไปอีก เราก็เห็นจะไม่ห่วงอะไรข้างหลังเลย เพราะไม่เห็นมีอะไรจะให้ห่วง ดังนั้นเราทั้งสองจึงตัดสินใจกลับปีนี้ กลับโดยการเดินไม่ทันเสียแล้ว จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่บนเขาแห่งหนึ่งในเขตเมืองมะละแหม่ง เป็นเพียงสำนักสงฆ์มีพระอยู่องค์เดียว เมื่ออาศัยอยู่ที่นั้น มีกุฏิที่กำบังแดดฝนถูกต้องตามพระวินัยนิยมก็เร่งความเพียรไปตามที่พอจะจำได้

นับเป็นการเดินทางผจญภัยและหยุดจำพรรษาพักผ่อน ทั้งสองก็ปรึกษากันว่าออกพรรษาแล้วจะเข้าไปประเทศไทยที่ไหนดี แต่ท่านมั่นบอกว่าพอแล้ว ผมจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ส่วนพระอาจารย์มั่นเห็นว่า การปล่อยให้ท่านมั่นกลับเข้ากรุงเทพฯ รูปเดียวคงไม่ดีแน่ ท่านจึงได้ไปส่งและพักแรมอยู่ที่วัดสระปทุมฯด้วยกัน

ครั้งนั้นพอดีมีคนเยอรมัน 2 คน มีศรัทธาเลื่อมใสท่านมั่น ช่วยสร้างกุฏิถวายและรู้จักคุ้นเคยกับพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านเล่าว่าชาวเยอรมันที่มีนิสัยดีรู้จักบุญบาป มาทำบุญในประเทศไทย เท่ากับเป็นเทวดาตั้งแต่ยังไม่ตายทีเดียว “อ้าว ก็ฝรั่งชาติอื่นเล่าครับ” ผู้เขียนย้อนถาม “ก็เรายังไม่เคยเห็นเขาทำบุญเลย เราก็เลยไม่ต้องพูดถึงเขา”

ตอนที่ 7 พบถ้ำผาบิ้ง : หลังจากนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ธุดงค์รูปเดียว คราวนี้ไม่มีใครเป็นเพื่อนแล้วตรงไปยังจังหวัดเลย เพราะจังหวัดเลยมีภูมิลำเนาเป็นป่าใหญ่ มีภูเขาและถ้ำใหญ่มาก ตามปกติถ้ำใหญ่ๆ ท่านไม่ค่อยจะชอบ ท่านชอบถ้ำเล็กๆ มีภูเขาไม่ค่อยสูงนัก พอขึ้นลงได้สบาย จึงจะอยู่นาน ท่านจึงค้นพบถ้ำหนึ่ง ชื่อ “ถ้ำผาบิ้ง” อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี่ ต้องนับว่าเป็นสถานที่สัปปายะแก่ผู้บำเพ็ญความเพียรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะที่เขียนนี้พระอาจารย์หลุย ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของท่านอาจารย์มั่นรูปหนึ่ง ได้อาศัยอยู่และกำลังพัฒนาให้เป็นที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์มั่นเล่าว่า ในครั้งแรกของการมาที่ถ้ำนี้ หลังจากตรากตรำมาจากประเทศพม่าแล้ว ก็รู้สึกว่าได้รับความสงบมากพอสมควร การอยู่ถ้ำผาบิ้งแต่รูปเดียว จึงเป็นการทำความเพียรที่ได้ผลมาก แต่ก็ยังไม่ได้ปัญญาหรือเป็นที่แน่ใจอย่างไรเลย เพราะท่านอาจารย์มั่นท่านเป็นผู้ที่รักความจริง สิ่งปลอมแปลงหรือสิ่งหลอกลวงท่านไม่ชอบ ขณะที่ผู้เขียนนั่งฟังท่านเล่า ได้ปรารภถึงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในครั้งนั้นว่าการเชื่อมงคลตื่นข่าวนี้ไม่ดีเลย ยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ทำว่าตนไปอยู่ถ้ำอยู่เขา หวังเพื่อให้ดังแล้วมีคนไปหามาก นั่นคือ พาให้เขาหลง ขณะที่ท่านเล่านั้น มีพระอาจารย์รูปหนึ่งอยู่ที่ภูค้อ มีคนไปหามาก ท่านไม่ฉันข้าว อยู่แต่ในถ้ำ ท่านอาจารย์มั่นพูดกับผู้เขียนว่า พวกเธออย่าทำอย่างนั้น อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาให้คนแห่กันไปหา “มันบ่แม่น” หมายความว่ามันไม่ถูกต้อง ท่านบอกนักบวชที่อยู่ถ้ำเขาเพียงต้องการวิเวก จะไปเที่ยวป่าวประกาศไปหาพระในถ้ำให้เอิกเกริกนั้น ผิดวิสัย อย่าว่าแต่ใครเลย แม้แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าผู้เขียนเอง ก็ถูกท่านดุเอาตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่วัดบ้านหนองผือ ท่านเคยพูดว่า “กงมา เธอไปยู่ถ้ำและเที่ยวทำโน่นทำนี่ เขาเล่าลือมั่นบ่แม่นหนา ให้อยู่อย่างสงบจริงๆ จึงจะถูก” ซึ่งผู้เขียนได้ยินมากับหูอย่างนี้

แม้ท่านจะมาอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งนี้นาน แต่ท่านก็พยายามหลบหลีกผู้คนที่จะมาเห็นตัวท่านว่าวิเศษ ดูเอาเถิดแม้แต่กลดของท่าน ท่านเล่าว่า เรายังต้องเอาร่มจีนกางแล้วเอาผ้ามุ้งมาย้อมหลัก ทำอย่างนี้ต้องการจะไม่ให้มาหาของขลัง เพราะเขาจะได้เข้าใจว่า เราไม่ใช่พระธุดงค์ ท่านพระอาจารย์มั่นพยายามหลบหลีกการมีชื่อเสียงและชุมนุมวุ่นวาย ซึ่งตรงกันข้ามกับพระที่อยู่ถ้ำป่าเขา เพื่อต้องการหาชื่อเสียงให้วุ่นวายไป เพราะพระภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นธรรมป่า อะไรๆ ทำนองนั้นต้องการอยากจะหาชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ นานา ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นหาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านรักความสงบ โดยไม่เห็นแก่หน้าใครเลย ใครจะมารบกวนความสงบของท่านไม่ได้ ดูแต่วันหนึ่งท่านอยู่บ้านนามน เวลาเย็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ มีคุณโยมนุ่ม ชุวานนท์ คหบดีจากจังหวัดสกลนคร จะเข้าไปถวายสิ่งของและนมัสการ เดินเข้าไป 3-4 คน เวลานั้น ท่านยังต้องไล่ตะคอกให้ออกจากวัดไปโดยเร็ว เพราะเวลานี้ต้องการความสงบ อย่ามายุ่ง จนคุณโยมต้องวิ่งหนีกลับกันจ้าละหวั่น ซึ่งผู้เขียนก็ได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง นี่แหละจึงเห็นได้ว่าท่านอาจารย์มั่นมิได้ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ต้องการอามิสอันจะนำมาซึ่งการทำลายความสงบอันเป็นยอดปรารถนา คุณโยมที่อ้างถึงนี้ เป็นโยมที่เคยอุปัฏฐากมาตั้งแต่พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น แทนที่ท่านอาจารย์มั่นจะเอาอกเอาใจ แต่ท่านต้องขับไล่ไสส่งไป เพราะมาก่อกวนความสงบ ต่อมาภายหลัง คุณโยมหนุ่มก็ได้เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงได้มานมัสการในเวลาอันสมควร

ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ท่านบอกว่า ยังไม่สามารถจะแก้ความสงสัยของการปฏิบัติได้แม้ว่าจะคิดดำเนินการปฏิบัติอย่างทุรกันดาร แสนที่จะตรากตรำร่ำแล้ว สงบก็ถึงที่สุดแล้ว วิเวกก็ถึงที่สุดแล้ว นั่งสมาธิก็ถึงที่สุดแล้ว เข้าป่าก็ถึงที่สุดแล้ว เข้าถ้ำไหนที่ใดก็ถึงที่สุดแล้ว ในที่สุดท่านก็เดินทางกลับมายัง “วัดเลียบ” จังหวัดอุบลราชธานีอีก เพื่อมาพบกับอาจารย์เสาร์ จากนั้นเมื่อท่านพักอยู่ที่วัดเลียบ ท่านก็พยายามทำความเพียรอย่างเต็มกำลังเพราะวัดเลียบในสมัยนั้นสงบสงัด ไม่พลุกพล่านเหมือนในปัจจุบันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image