‘เลือก’ ว่าจะส่งต่อประเทศอย่างไรให้ลูกหลาน : โดย กล้า สมุทวณิช

ใคร่ขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า คอลัมน์ตอนนี้เขียนขึ้นในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ กกต.กำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขตได้ใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันจริงที่จะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562

ที่ควรบันทึกไว้เพราะปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในทุกเขตและทุกจังหวัดที่เป็นหน่วยเลือกตั้ง คือฝูงชนล้นหลามไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากันแต่เช้าแรกเปิดหน่วย ส่งผลให้การจราจรโดยรอบติดขัดแทบทุกที่ เนื่องจากหลายหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้เป็นหลักหมื่นคน

ไม่ว่าจะวางแผนรองรับไว้ล่วงหน้าอย่างดีเพียงใด แต่ด้วยปริมาณผู้มาใช้สิทธิก็ทำให้ทุกคนต้องรอกันคนละหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง ขึ้นกับว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยนั้นมีความพร้อมและความสามารถในการบริหารจัดการดีเพียงใด มีรายงานว่าบางหน่วยคนรอเป็นสองสามชั่วโมงท่ามกลางแสงแดดและอากาศร้อน จนเป็นลมเป็นแล้งไปก็มี

คงมีบ้างที่เจออุปสรรคเช่นนี้ก็มีคนเปลี่ยนใจไม่เลือกตั้งแล้วยอมกลับบ้านไป แต่เท่าที่ทราบคือคนส่วนใหญ่ยอมอดทนและรอคอย อาจเพราะพวกเขารอกันมาร่วม 8 ปีแล้ว นี่อาจจะเป็นการอดทนครั้งสุดท้ายอีกไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เพียงขอให้แน่ใจว่าได้ไปกาบัตรเลือกตั้งในคูหา และคาดหวังว่าบัตรเลือกตั้งของเขานั้นจะถูกนับเมื่อเปิดหีบรวมกับบัตรใบอื่นๆ ในการเลือกตั้งรอบจริงในวันอาทิตย์หน้าก็พอ

Advertisement

คำว่า “ถูกนับ” ในที่นี้มีความหมายทั้งตรงตามตัวอักษรและความหมายเชิงสัญลักษณ์ ทั้งบัตรเลือกตั้งถูกนับเป็นหนึ่งคะแนน และผู้กาบัตรนั้น “ถูกนับ” ว่าเป็นหนึ่งในหลายล้านผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ที่ได้ใช้สิทธิออกเสียงแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่าต้องการให้ประเทศนี้ดำเนินต่อไปในทิศทางใด

ภาพผู้คนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนี้ช่วยยืนยันความจริงคือไม่ว่าจะในทางใด ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ล้วนอยากกำหนดอนาคตและชะตากรรมของตัวเองด้วยกระบวนการที่ชอบตามระบอบประชาธิปไตย แสดงให้เห็นว่า โฆษณาชวนเชื่อที่ว่า “คนอยากเลือกตั้ง” นั้นเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ดีไม่ว่าดี คนส่วนใหญ่เขาไม่หืออืออา ชอบความสงบมากกว่าประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง ภาพที่เห็นจากทุกหน่วยเลือกตั้งในวันนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้

การเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ไม่ว่าประวัติศาสตร์นั้นสุดท้ายจะออกมาดีหรือร้าย การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังคงเป็นหมุดหมายที่ถูกบันทึกไว้ เหมือน Episode แรกวันแรกของ Season ใหม่

บางคนอาจจะนึกเปรียบเทียบบรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันนี้ (และรวมถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว) ว่ามีบางอย่างคล้ายกันกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบัตรเลือกตั้งนั้นแข็งแรงพอที่จะขับไล่ผู้ทรงอำนาจเดิม ผู้ได้เปรียบทางการเมืองทุกประการอย่างไม่น่าจะพ่ายแพ้ได้ เช่น นายนาจิบ ราซัค ให้ตกจากเก้าอี้ และถูกดำเนินคดีอย่างที่ควรจะเป็นนับหลายสิบคดี

จริงอยู่ว่าเราไม่อาจเหมาเอาได้ว่าบรรดาผู้ที่ใช้ความอดทนยืนรอกลางแดดร้อนๆ คนเยอะๆ อย่างไม่ย่นระย่อนั้น เป็นไปเพื่ออยากจะออกไปไล่ “ลุง” บางคน เพราะคนที่ยังรักลุง หรือกลัวพ่อ (ของฟ้า) นายตำรวจผู้ขึงขังจริงจัง หรือพรรคของนักจัดพอดคาสต์ประจำวันจันทร์ ก็อาจจะมีความอดทนในระดับเดียวกันเช่นนั้นได้

การเลือกตั้งครั้งนี้มิใช่เพียงการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อไปทำหน้าที่นิติบัญญัติเท่านั้น แต่เป็นการเลือกแสดงอุดมการณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละคน ชัดเจนว่าความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อ อุดมการณ์และอุดมคติทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปี เพียงถูกกดข่มเอาไว้ตลอดระยะเวลาห้าปีของช่วงที่ถูกบังคับให้ปรองดองเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เราเห็นว่า ความขัดแย้งนั้นมิได้หายไปไหน เพียงแต่รอการแสดงออกที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

พร้อมกันนี้เราก็ได้เห็น “สาร” จาก “ผู้ใหญ่” ที่แตกต่างกันสองขั้ว ซึ่งเป็นเหมือนภาพสะท้อนการต่อสู้ในครั้งนี้สองแง่สองมุม

ฝั่งหนึ่งมาจาก “ผู้ใหญ่” กลุ่มที่ต้องการจะแย่งประเทศคืนมาจาก “เด็กเมื่อวานซืน” โดยเฉพาะหลังจากมีรายงานการสำรวจหยั่งเสียงบรรดานิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็พบว่านิสิตกว่าร้อยละ 98 ยืนยันว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และร้อยละ 70 จากจำนวนนั้นจะลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ ตามด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้นตามมาเป็นอันดับสี่ ด้วยสัดส่วนนิสิตที่ตั้งใจจะเลือกพรรคนี้มากถึงร้อยละ 3.5

ผลหยั่งเสียงของนิสิตจุฬาฯนี้ตรงกันกับการสำรวจในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในหลายภาคทั่วประเทศ แตกต่างกันที่ตัวเลขสัดส่วน แต่ลำดับนายกฯที่รักและพรรคที่ชอบนั้นไม่ได้ผิดกันเลย

ข้อมูลนี้ถึงกับทำให้พิธีกรและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ชื่อดังท่านหนึ่งซึ่งชัดเจนในบทบาทและฝั่งฝ่ายทางการเมืองถึงกับทนไม่ได้ ออกมาเขียนบ่นก่นด่าเสียยืดยาว ก่อนจะปลุกใจแฟนคลับว่า เราจะปล่อยให้การเลือกตั้ง อยู่ในเงื้อมมือของเด็กกลุ่มที่เพิ่งจะใช้สิทธิครั้งแรก และไม่ไยดีกับสิ่งเลวร้ายที่นักการเมืองที่เขาหลงปลื้มเคยกระทำมาหรือ

หากอีกมุมมองหนึ่งจากวีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ โพสต์ข้อความไว้อย่างกินใจด้วยภาษาอันงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ สวยสมจนต้องขอคัดมาบางส่วนว่า

“ไม่รู้จะเลือกพรรคไหน ถามคนอายุน้อยๆ ค่ะ ว่าเขาเลือกใคร และทำไม คุณก็จะรู้ว่าพวกเขาต้องการมีชีวิตแบบไหน เลือกประเทศแบบที่เขาอยากได้ แค่นี้คุณก็จะมีลูกหลานอยู่ใกล้ตัวช่วยปิดตาเวลาตาย…”

และเช่นเดียวกับมิตรสหายอีกท่านหนึ่งโพสต์ว่าเขาจะพาลูกสาวไปเลือกตั้งด้วย “…เพราะหนูมีอิทธิพลกับการตัดสินใจของพ่อว่าจะเลือกพรรคไหน… ตอนพ่อกากบาท จะได้บอกหนูว่า วันนี้เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าของลูกนะ พ่อเลือกพรรคนี้เพื่ออนาคตของลูกและคนรุ่นลูก…”

หากยอมรับความจริงตามธรรมชาติ เราไม่ต้องห่วงหรอกว่าการเลือกตั้งหรือแม้แต่กระทั่งประเทศนี้ต่อไปนั้นจะอยู่ในเงื้อมมือของเด็กกลุ่มที่เพิ่งจะใช้สิทธิครั้งแรกหรือไม่

เพราะสิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่า คือไม่ช้า ท่านผู้ประกาศข่าวท่านนั้นคงจะต้องตาย เช่นเดียวกันกับเราทั้งหลาย ต่อให้รักษาสุขภาพหรือแสวงวิธีที่จะมีอายุยืนยาวอย่างไร แต่ให้อย่างมากไม่เกินสี่หรือห้าสิบปีท่านก็จะตายลงไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในวันนั้น ลูกของเด็กสักคนที่เกิดขึ้นมาในวันที่ 24 มีนาคมนี้กำลังจะเป็นคนหนุ่มสาว และเขาก็จะเป็นเชื้อไขของบรรดาเด็กที่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกนี่ด้วย

เราต้องปล่อยมือจากประเทศนี้ให้พวกเขาสักวันหนึ่งเป็นแน่แท้ แต่ก่อนหน้านั้น เราจะต้องเป็นคนเตรียมแผ่นดิน ผืนน้ำ และท้องฟ้าไว้โอบอุ้มฟูมฟักพวกเขาและผู้ที่จะมาอยู่ใหม่ในรุ่นต่อๆ ไป

การเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมการส่งมอบประเทศนี้ต่อให้พวกเขา

ไม่เลย พวกคุณไม่จำเป็นต้องเลือก “อนาคต” ก็ได้ การลงคะแนนของคุณอาจจะเพียงต้องการเหนี่ยวรั้งอดีตเก่าเอาไว้ก็ย่อมทำได้ และแน่นอน คุณไม่ต้องเลือกด้วยความรัก เพียงใช้ความกลัวและเกลียดชังของคุณเลือกส่งมอบประเทศนี้ต่อไปภายใต้บรรยากาศเช่นนั้น พร้อมสภาพแวดล้อมทางสังคมอย่างที่คุณเติบโตมา (ส่วนสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพนั้นพวกเราช่วยกันทำมันย่อยยับไปแล้ว) คุณมีสิทธิเลือก

หากคุณเห็นว่ารัฐราชการที่มีอำนาจนิยมผุดโผล่ออกมาแต่ละองคาพยพไม่เว้นแต่ละวันราวกับผิวหนังของผู้ป่วยฝีดาษ จารีตประเพณีที่เห็นว่าความสวยงามอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยที่ทุกคนเหมือนโขกกันออกมาจากพิมพ์เดียวกันนั้นดีงามกว่าสภาวะอันหลากหลายของผู้คนจากการใช้เสรีภาพ

หากคุณยังประสงค์จะเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยการหลอกให้กลัวว่าข้างนอกนั้นมีปีศาจคอยจับตัวอยู่ ปีศาจนักการเมืองขี้ฉ้อที่อยู่แดนไกล ระวังมันจะมากินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว ทางที่ปลอดภัยคือหลบอยู่แต่ในบ้านและอย่าเดินก้าวพ้นเขตรั้วประตู

ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิของคุณเท่ากันกับทุกคน และเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจอนาคตของพวกเขาและลูกหลานด้วยความรัก ความศรัทธา ความหวัง เสรีภาพและความเชื่อว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ทุกอย่างดีขึ้นได้ และเราสามารถแก้ไขกลับตัวได้ทุกครั้งและแข็งแกร่งขึ้นโดยบทเรียนจากความผิดพลาด

อดัม อีวิง ตัวละครจากนวนิยายเรื่อง “เมฆาสัญจร” Cloud Atlas ของ David Mitchell กล่าวต่อบิดาของเขาว่า …ข้าฯ ขออุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์โลกในแบบที่ข้าปรารถนาให้แจ็กสันได้สืบทอด มิใช่โลกแบบที่ข้าฯ หวั่นใจว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตสืบไปในอนาคต ข้าฯ รู้สึกว่ามันเป็นโลกที่คุ้มค่าแก่การมีชีวิตอยู่ ทันทีที่กลับไปถึงซานฟรานซิสโก ข้าฯ ขอปฏิญาณว่าจักสนับสนุนการเลิกทาส…

พ่อของเขาจึง “อำนวยพร” ว่า …เจ้าช่างไร้เดียงสาแลเพ้อฝันนัก บุคคลใดที่คิดต่อกรกับปัญหามากมายไม่มีที่สิ้นสุดในธรรมชาติของมนุษย์นั้น จักต้องแลกด้วยชีวิตที่เจ็บปวด และครอบครัวของเขาก็ต้องพลอยเจ็บปวดไปกับเขาด้วย ! เมื่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเจ้ามาถึงนั่นแหละ เจ้าจึงจะเข้าใจว่าชีวิตของเจ้ามิได้มีความหมายอะไรไปมากกว่าน้ำหนึ่งหยดในท้องสมุทรอันมิมีที่สิ้นสุดเท่านั้น…

หากความหมายของท้องสมุทรนั้น ก็คือที่รวมของหยดน้ำมากมายมหาศาลมิใช่หรือ?

เช่นนี้ ก่อนออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันอาทิตย์หน้า คุณอาจจะถามลูกสาวลูกชายของคุณ บางท่านอาจจะเป็นหลานเหลน หรือนักศึกษาหนุ่มนิสิตสาวที่ได้พบเจอบนท้องถนนว่า เธออยากให้คุณเตรียมประเทศแบบไหนไว้ให้ในอนาคต

และบัตรเลือกตั้งของคุณก็จะกลายเป็นเหมือนหนึ่งในหยดน้ำที่จะไปรวมกับหยดน้ำอื่นทั้งหลาย บัตรเลือกตั้งของพวกเราจะประกอบกันเป็นมหาสมุทรที่โอบอุ้มประเทศนี้ไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image