การให้สินบนเพื่อเอาลูกเข้ามหาวิทยาลัยดัง ในสหรัฐอเมริกาเป็นความผิดทางอาญา : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) มหาวิทยาลัยของมลรัฐ คือมหาวิทยาลัยประจำมลรัฐขนาดใหญ่ที่มีอยู่หลายแห่ง แต่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของมลรัฐ ดังนั้น คนของมลรัฐนั้นๆ จะสามารถเข้าเรียนได้โดยจ่ายค่าเล่าเรียนถูกแต่คนของมลรัฐอื่นหรือชาวต่างชาติก็จะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงกว่าประมาณ 1 เท่าแต่ก็ยังจัดว่าค่าเล่าเรียนยังถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนพอสมควร

2) มหาวิทยาลัยเอกชน คือมหาวิทยาลัยที่อยู่ได้จากเงินค่าเล่าเรียนของนักศึกษาและมีกองทุนมหาศาลที่ได้จากการบริจาคโดยทั่วไปจะรับนักศึกษาน้อยกว่าแต่ค่าเล่าเรียนจะสูงกว่ามหาวิทยาลัยของมลรัฐมาก ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยเอกชนนี้มักเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีกนี้ยังมีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันคือ มีความเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง มีผู้เลือกเข้าเรียนมากที่สุดในสหรัฐ และในโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของการจัดอันดับทั้งในสหรัฐ และระดับโลก มีเงินกองทุนขนาดใหญ่มาก มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่จำกัด เกือบทั้งหมดก่อตั้งก่อนการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา (วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2319) มหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีกมี 8 มหาวิทยาลัยเรียงตามลำดับอายุได้ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2179

Advertisement

2.มหาวิทยาลัยเยล ก่อตั้งขึ้นสมัยพระเพทราชาแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ.ศ.2244

3.มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ก่อตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2283

4.มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ก่อตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์เช่นเดียวกัน พ.ศ.2289

5.มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก่อตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเช่นเดียวกัน พ.ศ.2297

6.มหาวิทยาลัยบราวน์ ก่อตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเพียง 3 ปี พ.ศ.2307

7.วิทยาลัยดาร์ตมัธ ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2312

8.มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่เยาว์วัยที่สุดก่อตั้งในสมัย ร.4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง พ.ศ.2408

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการก็มีอีกเป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา อาทิ มหาวิทยาลัยชิคาโกซึ่งค่าเล่าเรียนแพงที่สุดและเข้ายากที่สุด หรือมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นที่มีวิทยาลัยบริหารธุรกิจเคลล็อกที่เลื่องชื่อ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ฯลฯ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากก็ยังเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กในสหรัฐเป็นจำนวนมากที่เรียกว่า Liberal Arts College ที่เปิดกว้างให้นักศึกษาค้นหาตนเองว่าชอบเรียนอะไร ผ่านรูปแบบประสบการณ์ความรู้หลากหลายสาขา แต่การทับศัพท์ภาษาอังกฤษนี้อาจทำให้เข้าใจไปว่า สถาบันเหล่านี้มุ่งสอนสายศิลปศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว แก่นของ Liberal Arts Colleges คือการเปิดกว้างอย่างเสรี (ตามคำว่า liberal) ให้เรียนได้หลายสาขา

ครับ ! อีทีนี้เกิดเรื่องสนุกแล้วครับการโกงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ นอกเหนือจากการสอบวัดความรู้มาตรฐานกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนักเรียนมัธยมทั่วประเทศผู้ต้องการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต้องสอบทุกคนแล้วก็จะให้โอกาสพิเศษสำหรับผู้ที่มีความสามารถโดดเด่นด้านกีฬาในการเข้าเรียนเพื่อที่จะได้เล่นกีฬาให้กับทางมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงเกิดขบวนการโกงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยโดยมีบริษัทเดอะคีย์อันเป็นบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินการใน 81 เมืองของสหรัฐอเมริกาและในอีก 5 ประเทศ

ซึ่งจัดการการโกงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยดังเหล่านี้ติดสินบนให้กับโค้ชกีฬาในมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าเรียนได้จากความสามารถทางกีฬา ไม่ว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาจะมีความสามารถหรือไม่ก็ตาม ศาลได้รับเอกสารที่จำเลยทำประวัติการเล่นกีฬาปลอมขึ้นมาว่าผู้สมัครเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น การทำรูปตัดต่อว่านักเรียนคนนั้นเล่นกีฬา

มหาวิทยาลัยที่เป็นเป้าหมายการโกงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนี้ล้วนแล้วแต่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวโลกทั้งสิ้น คือ มหาวิทยาลัยเยล, มหาวิทยาลัยซานดิเอโก, มหา
วิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน, มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์, มหาวิทยาลัยเวค ฟอเรสท์, มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย

ในวันอังคารที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา นายวิลเลียม ซิงเกอร์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเดอะคีย์ซึ่งจัดการการโกงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยดังด้วยวิธีการดังกล่าวซึ่งมูลค่าจากการโกงเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่าง พ.ศ.2554-2562 ถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดฐานฟอกเงิน ฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ภายหลังที่ได้ยอมรับสารภาพเพราะจำนนด้วยหลักฐาน ส่วนโค้ชกีฬาในมหาวิทยาลัยดังกล่าวก็ถูกทางมหาวิทยาลัยไล่ออกหมดทุกคน และดำเนินคดีฐานสมรู้ร่วมคิดกับนายซิงเกอร์ในขณะที่อัยการสหรัฐได้แจ้งข้อหาฉ้อโกงกับผู้เกี่ยวข้องกับการโกงนี้ 50 คน ถูกดำเนินคดีอาญาภายใต้ปฏิบัติการที่ชื่อ “Operation Varsity Blues” ในจำนวนผู้ที่ถูกจับ มีทั้งเจ้าหน้าที่จัดการการสอบวัดความรู้มาตรฐานกลาง 2 คน ผู้คุมสอบ 1 คน โค้ชกีฬาของมหาวิทยาลัย 9 คน เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย 1 คน และผู้ปกครองของนักเรียน 33 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนร่ำรวยและมีชื่อเสียง ทั้งนักแสดง ซีอีโอ แฟชั่นดีไซเนอร์ ไปจนถึงกรรมการบริหารบริษัทกฎหมายระดับโลกพ่อแม่ที่เป็นมหาเศรษฐี ดาราฮอลลีวู้ด รวมถึงโค้ชกีฬาและธุรกิจเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ใช้กลวิธีเพื่อให้ลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ในจำนวนนี้รวมทั้งเฟลิซิตี้ ฮัฟฟ์แมน และลอรี่ ลัฟลิน 2 ดาราดังของฮอลลีวู้ดที่พยายามให้ลูกสาวเข้ามหาวิทยาลัยในโควต้านักพายเรือหญิงทั้งๆ ที่ลูกสาวของดาราทั้งคู่นี้พายเรือ (กรรเชียง) ไม่เป็นด้วยซ้ำไป

ครับ ! สำหรับคนไทยหลายคนคงงงกับปรากฏการณ์อย่างนี้แบบคิดไม่ถึงว่ามันมีความผิดทางอาญาถึงขั้นติดคุกหัวโตเชียวนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image