พม่ากับปักกิ่ง (5) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เน วิน กับเติ้งเสี่ยวผิง ในปี 1985

เมื่อ 6 ทศวรรษที่แล้ว จีนไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันน่าเกรงขาม และเป็นประเทศที่ประเทศอื่นๆ ต้องเกรงใจเหมือนในปัจจุบัน จีนในยุครอยต่อระหว่างก่อนและหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 มีปัญหาภายในมากมาย แต่เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนถือกำเนิดขึ้น หลายชาติจำต้องให้ความสนใจสานสัมพันธ์กับจีน และจีนก็พยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตแบบ “เครือญาติ” กล่าวคือมองว่าประเทศรอบข้างเป็นคนในครอบครัวของตน ในยุคสงครามเย็นที่ทุกฝ่ายมุ่งหาแนวร่วม ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีนเป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ด้วยปัญหาเขตแดนที่ไม่ได้รับการปักปันอย่างจริงจัง ไปจนถึงการแทรกซึมเข้ามาของกองกำลังจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) และจีนคอมมิวนิสต์ที่ต่างเข้าไปยึดพื้นที่ในพม่าเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ในทศวรรษแรกหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีนเป็นไปอย่างดี ต่างฝ่ายต่างอารีอารอบ และพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อรัฐบาลทหารพม่าของนายพลเน วินทำรัฐประหารและตั้งสภาปฏิวัติขึ้นในปี 1962 ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติก็เริ่มเปลี่ยนไป จนในที่สุดกลายมาเป็นบาดแผลที่สมานได้ยากยิ่ง

แม้รัฐบาลพม่าจะเปลี่ยนตัวผู้นำ แต่จุดยืนด้านนโยบายการต่างประเทศของเน วินไม่ต่างจากรัฐบาลก่อน คือการรักษาความเป็นกลาง-การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดไว้อย่างเคร่งครัด นำไปสู่นโยบายโดดเดี่ยวตนเองจากภายนอก รัฐบาลทหารพม่ามองว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก ท่ามกลางบรรยากาศสงครามเย็นและสงครามในประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนที่กำลังสุกงอม จริงอยู่ว่านโยบายที่คณะปฏิวัตินำมาใช้ หรือ “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม” มีกลิ่นอายของลัทธิสังคมนิยมอย่างเต็มเปี่ยม แต่นโยบายนี้มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การสร้างความกินดีอยู่ดี และการจำกัดบทบาทของชาวต่างชาติ พม่าไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งวงศ์วานว่านเครือของฝ่ายสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียต รวมทั้งประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนเป็นโต้โผใหญ่

ท่าทีเมินเฉยต่อการ “เข้าสังคม” ของพม่าสร้างความรำคาญใจให้จีนอยู่เนืองๆ ดังที่ทราบกันดีว่าประเทศในกลุ่มสังคมนิยมมักจัดเทศกาลแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเน้นความสมัครสมานของกลุ่มของตน แต่พม่าไม่เคยต้องการประกาศตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายโซเวียต-จีน ความสัมพันธ์ระหว่างเน วินกับผู้นำจีนเริ่มต้นด้วยมิตรภาพที่แน่นแฟ้น ในช่วงที่พม่ากับจีนมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับจีน เน วิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีบทบาทในการเจรจายุติข้อพิพาทนี้กับจีน จึงไม่น่าแปลกที่ในช่วงแรกๆ ผู้นำจีนจะมองว่าเน วินเป็นมิตรสหายที่ไว้ใจได้ เมื่อเน วินทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้ส่งสารมาแสดงความยินดีกับเน วินและยังกล่าวทิ้งท้ายว่าเขามั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติจะยิ่งแน่นแฟ้นภายใต้การบริหารงานของเน วิน

แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดูจะไปได้ดี ปลอดอุปสรรคใดๆ ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลจีนหวาดระแวงท่าทีของพม่า ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมวิถีพม่า เป้าหมายหลักของพม่าคือการกำจัดอิทธิพลของธุรกิจชาวต่างชาติผ่านการโอนกิจการของชาวต่างชาติทั้งหมดมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะกิจการของชาวตะวันตกและชาวอินเดีย แต่กิจการของชาวจีนโพ้นทะเล ทั้งที่เป็นร้านค้าทั่วไป ธนาคารพาณิชย์ โรงเรียนจีน และหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ก็โดนหางเลขไปด้วย นอกจากนี้ จีนยังไม่พอใจกับนโยบายเป็นกลางของพม่าเป็นอย่างมาก ตลอดทศวรรษ 1960 จีนมีข้อพิพาทระหว่างประเทศหลายครั้ง อาทิข้อพิพาทด้านเขตแดนกับอินเดีย บทบาทของจีนในสงครามเวียดนาม และการเผชิญหน้าระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในเหตุการณ์ “กอนฟรอนตาซี” (Konfrontasi, ค.ศ.1963-1966) แต่พม่าก็มิได้แสดงออกมาว่าสนับสนุนจีนภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดเหล่านี้เลย จีนต้องการใช้เวทีการประชุมแอฟริกา-เอเชีย (ที่เริ่มต้นจากการประชุมที่บันดุงในปี 1955 และมีการประชุมต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง) เพื่อสะท้อนปัญหาข้อพิพาทกับอินเดีย ยิ่งนานวันเข้า เน วินยิ่งรู้สึกไม่พอใจท่าทีของจีนที่เจ้ากี้เจ้าการเรียกร้องให้พม่าสนับสนุนตนในเวทีการเมืองระดับโลก จึงยั่วยุพม่าผ่านการเผยแพร่แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลเน วิน มีใจความประณามการบริหารงานของเน วิน และยังกล่าวหาว่าการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของเน วินนั่นแหละที่เป็นเหตุให้สงครามกลางเมืองในพม่ายืดเยื้อยาวนาน

Advertisement

การเผยแพร่คำประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในครั้งนั้นเกิดขึ้นในโอกาสที่รัฐบาลจีนเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 15 ปี ในปี 1964 รัฐบาลพม่าประท้วงปักกิ่งผ่านช่องทางทางการทูต แต่รัฐบาลจีนตอบโต้ว่าตนมีความชอบธรรมที่จะเผยแพร่ข้อความจากประเทศหรือกลุ่มบุคคลใดก็ได้ที่ให้การสนับสนุนจีน แม้จีนจะไม่สามารถโน้มน้าวให้พม่ามาอยู่ฝั่งเดียวกับตนได้ แต่ก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน 1965 เพียงเดือนเดียว โจวเอินไหลและคณะ หยุดแวะพักที่ย่างกุ้งถึง 3 ครั้ง และยังมีบุคคลสำคัญๆ ที่ไปเยือนพม่าอีกหลายครั้ง ทั้งหมดนี้เพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้นำรัฐบาลพม่าหันมาสนับสนุนจีนให้จงได้

ไม้ตายของจีนที่จะให้พม่าเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ของประเทศสังคมนิยม (Socialist Solidarity) คือการอ้างถึงสงครามเวียดนาม ว่าประเทศสังคมนิยมทั้งหลายควรรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนเวียดนามของโฮจิมินห์ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมและการเอารัดเอาเปรียบของชาติตะวันตก จีนรู้ดีว่าเน วินและพม่ามี “ปม” หรือบาดแผลจากระบอบอาณานิคม/จักรวรรดินิยม แต่ก็ยังไม่สามารถตรึงให้เน วินมาเป็นพันธมิตรของตนได้ ถึงแม้ว่าพม่าจะหวาดระแวงสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษ แต่พม่าก็ยังยืนยันวางตัวเป็นกลางในสงครามเวียดนาม อย่างไรก็ดี ในปลายปี 1965 มีหลักฐานว่าเน วินเริ่มพิจารณาการหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะเห็นว่านโยบายโดดเดี่ยวตัวเองยิ่งทำให้เศรษฐกิจพม่าย่ำแย่ลง จึงมีดำริจะรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากขึ้น เน วินเริ่มเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ มากขึ้น

ทั้งประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่จีนกลับมองว่าเน วินเข้าหาสหรัฐอเมริกามากกว่าตน ปักกิ่งจึงเริ่มใช้นโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวขึ้นเป็นลำดับกับพม่า จนก่อให้เกิดการประท้วงจีนครั้งใหญ่ในพม่าในปี 1967 ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในสัปดาห์หน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image