“ภาพลวง”ว่าด้วยพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

การเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้จะถูกจดจำในฐานะการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมและไม่เสรีครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเหตุผลหลายประการ รวมทั้ง “ระบบการเลือกตั้ง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ข้อวิจารณ์ของนักวิชาการและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในเรื่องนี้ก็ไม่เที่ยงตรงนัก ในประเด็นที่เชื่อมโยงกัน 2 ประการ

1) ระบบการเลือกตั้งนี้ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ “เสียเปรียบ” หรือ “ลงโทษพรรคการเมืองขนาดใหญ่” หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือ ระบบการเลือกตั้งถูกออกแบบมาเพื่อทำลายพรรคที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือที่ระบุเอกลักษณ์กันว่า พรรค “เครือข่ายทักษิณ”

2) เพื่อแก้เกมกติกาเลือกตั้งที่ไม่ธรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต้องเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic voting) คือเสนอว่า การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ไม่ใช่เพียงไปเลือก “คนที่รักพรรคที่ชอบ” แต่หากต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้ง “ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น”

ความเข้าใจที่มีปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สื่อออนไลน์บางสำนักได้เผยแพร่ “วิธีการสืบค้นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ 2562” ในโค้งสุดท้าย ดังนั้น เพื่อแก้ไข “ภาพลวง” ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจหรือขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงนี้ บทความนี้จึงขอเสนอเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ ระบบการเลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้งไทย 2540-2560 และปัญหาของการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

Advertisement

ระบบการเลือกตั้ง

เราสามารถเข้าใจ “ระบบการเลือกตั้ง” ได้ในฐานะการผสมกันของสองสิ่ง คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งและวิธีการนับคะแนน ซึ่งสามารถผสมกันได้หลากหลายรูปแบบ โดยวิธีการแบ่งเขตมี 2 รูปแบบคือ 1) การแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งแยกเป็น เขตเดียวหลายคนหรือ “รวมเขต” (multi members constituency) กับ เขตละหนึ่งคน หรือ “แบ่งเขต” (single member constituency) และ 2) การไม่แบ่งเขตเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งเดียว

ส่วนวิธีการนับคะแนน มี 2 รูปแบบหลักเช่นกัน คือ

Advertisement

(1) ระบบเสียงข้างมาก ซึ่งแยกย่อยเป็น เสียงข้างมากทั่วไป (simple majority system) ที่ผู้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดตามจำนวนที่กำหนดให้มีในเขตนั้นเป็นผู้ชนะ และ เสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority system) ผู้ได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหรือ 50 % จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ส่วนวิธีการได้มาซึ่งเสียงข้างมากเด็ดขาดนั้น อาจใช้การเลือกตั้งสองรอบ กรณีไม่มีผู้สมัครได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งในรอบแรกก็ให้มีการลงคะแนนใหม่ในรอบสอง หรือใช้การเลือกตั้งแบบทางเลือก คือ เลือกผู้สมัครที่ต้องการมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและต้องการน้อยลงมาตามอันดับ เช่นมีผู้สมัคร 3 คน ก็เลือกอันดับ 1, 2 และ 3 (ระบบเสียงข้างมากใช้ร่วมกับการแบ่งเขตแบบคนเดียวหรือหลายคน)

ระบบเสียงข้างมากทั่วไป เป็นวิธีการเลือกตั้งที่ง่ายที่สุด แต่ผู้ชนะอาจได้คะแนนเสียงน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง มีคน “ไม่เลือก” มากกว่าคนเลือก ทำให้มี “ความเป็นตัวแทนของประชาชน” น้อย การใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดพอจะช่วยบรรเทาปัญหาความชอบธรรมนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากไม่ว่าแบบทั่วไปหรือเด็ดขาด มีลักษณะร่วมกัน คือ ส่งเสริมพรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือระบบสองพรรค พรรคการเมืองรองๆ ลงมาจะไม่มีโอกาสได้ผู้แทนในระบบนี้ แต่นี่ไม่สำคัญเท่ากับปัญหาว่า ประชาชนไม่น้อย (บางครั้งคือส่วนใหญ่ของเขตเลือกตั้งนั้น) ที่ไม่ได้เลือกผู้ชนะเลือกตั้งจะไม่มีตัวแทนเลย หรือที่เรียกว่า “เสียงตกน้ำ” ไม่มีความหมายในการเลือกตั้งนั่นเอง

(2) วิธีการนับคะแนนแบบสัดส่วนหรือระบบสัดส่วน (proportional representation system) ถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของระบบเสียงข้างมาก โดยเชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่ายมากที่สุด กล่าวคือ พรรคการเมืองจะได้ที่นั่งตามสัดส่วนคะแนนเสียงจริงๆ ที่ได้รับจากประชาชน วิธีนี้จะส่งเสริมพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือกลุ่มเฉพาะให้มีโอกาสสะสมคะแนนที่กระจัดกระจายมาเป็นที่นั่งในสภาได้ (การนับคะแนนแบบสัดส่วนใช้ร่วมกับการแบ่งเขตหลายคนหรือเขตเลือกตั้งเดียวทั้งประเทศก็ได้)

ระบบการเลือกตั้งไทย 2540-2560

การเลือกตั้งก่อนหน้านี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2534 มีรูปแบบเดียว ที่เรียกว่า “เขตใหญ่เรียงเบอร์” คือ แต่ละเขตมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน (จังหวัดหรือเขตที่มีประชากรน้อยลง อาจจะ 2 คน หรือ 1 คนก็ได้) นับคะแนนแบบเสียงข้างมากทั่วไป พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครและประชาชนลงคะแนนเสียงได้ตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีในแต่ละเขต โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองเดียวกัน การเลือกตั้งแบบนี้ทำให้ พรรคการเมืองหลายพรรคมีบทบาทสำคัญ กระจายกันไปตามความนิยมในภูมิภาคต่างๆ

ด้วยปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบเดิม และการปฏิรูปการเมืองที่ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญ 2540 ได้เพิ่มการเลือกตั้งแบบสัดส่วนเข้ามา กลายเป็นระบบคู่ขนาน คือ 1) ระบบเขต มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตละ 1 คน 400 เขต และ 2) ระบบสัดส่วน หรือ “บัญชีรายชื่อ” ใช้เขตเลือกตั้งเดียวคือเขตประเทศ อีก 100 คน ทำให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันกันเชิงนโยบาย ความเป็นพรรคและคณะผู้นำสำคัญมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือ มีพรรคการเมืองหนึ่งได้ที่นั่งเกือบครึ่งและเกินหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยความกลัวและอคติต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 พยายามถ่วงดุลและลดบทบาทพรรคการเมืองลง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกับสิ่งที่นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยหรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองขนาดใหญ่วิจารณ์ไว้

เอาเข้าจริงที่ผ่านมา พรรค“เครือข่ายทักษิณ” ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมากกว่าคะแนนเสียงที่ได้จริงมาตลอด ไม่ว่าจะคำนวณคะแนนจากเขตเลือกตั้งรวมกันหรือบัญชีรายชื่อ ที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุหลักมาจากการเลือกตั้งในระบบเขตที่นับคะแนนแบบเสียงข้างมาก ที่ผู้ชนะเอาไปหมด ไม่ว่าจะชนะกี่คะแนนก็ตาม

สิ่งที่ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามแก้เกม คือ การทำให้ได้สัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงที่ได้รับกับจำนวนที่นั่งหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป้าหมายนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรในตัวมันเอง และเป็นสิ่งที่ควรเป็นมากกว่า “ได้เสียงเท่าไหร่ก็เอาไปเท่านั้น”

ระบบที่สร้างขึ้นใหม่นี้ถูกเรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment)” กล่าวคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเขต เขตละ 1 คน 350 เขต และบัญชีรายชื่อ เขตประเทศ อีก 150 คน ประชาชนจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวให้กับผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นผู้ชนะในเขตนั้นไป แล้วค่อยนำคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ก็จะได้จำนวนคะแนนเสียงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน เช่น หากมีผู้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองทั้งหมด 40,000,000 คน เมื่อหารด้วย 500 คน ก็จะได้ 80,000 คะแนน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน

ต่อมาก็นำ 80,000 ไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ จะได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “พึงมี” ของแต่ละพรรค จากนั้นค่อยกลับไปดูว่าพรรคการเมืองนั้นๆ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเขตไปเท่าไรแล้ว เอาจำนวน “พึงมี” ลบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้จากเขตเลือกตั้ง ก็จะได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคจะได้เพิ่มจากบัญชีรายชื่อ เพื่อจะให้พรรคการเมืองได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่ากับสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้จริง

ดังนั้น แน่นอนว่าในบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองบางพรรคอาจจะได้มากได้น้อย หรือไมได้เลย เมื่อเทียบกับคะแนนความนิยมที่ประชาชนมอบให้จากทั่วประเทศ แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่า จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด คือทั้งจากเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ จะได้เท่ากับสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้

ไม่มีอะไรเลยที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เสียเปรียบหรือได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าจำนวนเสียงที่ได้จริง

การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

หากระบบการเลือกตั้งนี้จะมีปัญหาก็จะอยู่ตรงที่เอาคะแนนจาก “บัตรใบเดียว” ที่เลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง มาคำนวณสัดส่วนหรือจำนวนที่พรรคการเมือง “พึงมี” และจะไม่เป็นปัญหาอย่างใดเลย ถ้ามีบัตรเลือกตั้งอีกใบหนึ่งที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้กับพรรค แล้วนำคะแนนนี้ ไปคำนวณแทน

พรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงคือ พรรคการเมืองขนาดเล็กที่จำเป็นต้องรวบรวมเสียงจากทั่วประเทศเพื่อจะได้มีสมาชิกผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ ที่ต้องส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งให้ครบทุกเขต เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวซึ่งไม่ง่ายเลย

ตรงข้าม พรรค “เครือข่ายทักษิณ” ไม่เพียงไม่ถูกลงโทษ แต่ยังมีทรัพยากรเพียงพอที่จะหาช่องทางให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าที่ “พึงมี” ซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร โดยการ “แตกแบงค์พัน” แตกกิ่งก้านสาขาหลายพรรค พรรคหลัก คือ เพื่อไทยส่งผู้สมัครในระบบเขต 250 เขตที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ ส่งผู้สมัครในระบบเขตอีก 175 เขต เพื่อรวบรวมคะแนนเสียงตกน้ำแปรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ

น่าเห็นใจและเสียดายโอกาสสำหรับนักการเมืองรุ่นใหม่และน้ำดีในพรรคไทยรักษาชาติ การเสนอชื่อบุคคลเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ถูกแซ่ซ้องว่า “เหนือชั้น” ในตอนเช้า กลายเป็น “ฝันร้าย” ของพวกเขาในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และนำไปสู่การยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารด้วยเหตุผลค่อนข้างประหลาด

ถึงตอนนี้ อะไรคือความหมายที่แท้จริงของการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์? คำตอบคือ การเพิ่มคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยให้ชนะในเขตเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งอาจจะมากกว่าจำนวน “พึงได้” ของพรรคเอง หรือเหลือคะแนนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่การเยียวยาชดเชยจากการถูกรังแกลงโทษจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ เพราะอย่างไรเสียก็จะได้ไม่น้อยกว่าจำนวน “พึงมี” อย่างเด็ดชาด

สำหรับผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจหรือเชียร์พรรคการเมืองอื่น แล้วตัดสินใจเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ตามข้อเสนอให้กับพรรคเพื่อไทย แทนที่จะเลือกกับพรรครองๆ ที่เป็นพันธมิตรกันในขณะนี้ ก็เท่ากับไปลดคะแนนและจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคเหล่านั้น ในความหมายนี้ จึงไม่มีการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีแต่ของ “เครือข่ายทักษิณ” เท่านั้น

และมีแต่ผู้ไม่ซื่อตรงเท่านั้นที่จะกล่าวว่า ผู้ที่ไม่ทำตามข้อเสนอการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ “โง่ฉิบหาย”

ดังนั้น ไม่แปลกใจเลยที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เพราะพวกเขาได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้ แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่กลุ่มนั้น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งหรือการวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องตรงไปตรงมานักนี้ กำลังจะทำลายหรือลดคะแนนเสียงพรรคขนาดกลางหรือเล็กไปโดยไม่รู้ตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image