‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย’ ก้าวไกลสู่โลก : โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

ประเด็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นวาระหนึ่งในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่เตรียมจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 นี้ เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การประชุมระดับโลกในเวทีนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเข้มข้น และได้มีการลงมติกำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” หรือ UHC DAY (International Universal Health Coverage Day) ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อให้แต่ละประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการภายในประเทศของตนเอง รุกให้ประชากรทั่วโลกได้รับการดูแลสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทในเรื่องนี้ ทั้งเป็นแกนนำของกลุ่มประเทศเพื่อร่วมผลักดัน

ในอดีตเมื่อ 17 ปีก่อนหน้านี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกมองว่าเป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลาง เนื่องจากเป็นนโยบายที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลดำเนินการและอนาคตยังมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายบานปลายจนกลายเป็นภาระงบประมาณแบกรับไม่ไหว ทำให้รัฐบาลส่วนใหญ่หันหลังให้กับนโยบายนี้ แม้ว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ยังประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงอย่างแท้จริงก็ตาม

แต่จากการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาได้พิสูจน์แล้วว่า แม้จะเป็นประเทศที่มรายได้ปานกลางก็สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้เช่นกัน หากมีความมุ่งมั่นและพยายาม ซึ่งจากการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ปี 2545 ที่ได้ปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ ทำให้คนไทยกว่า 48 ล้านคน มีหลักประกันสุขภาพรองรับ มีสิทธิได้รับการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นจากภาครัฐ เปลี่ยนจากการสงเคราะห์เป็นสิทธิ

ด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในวันนี้ได้ทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาที่จำเป็น แม้จะเจ็บป่วยด้วยโรคค่าใช้จ่ายสูงที่ทำให้ล้มละลายก็ตาม อย่างโรคมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น รวมถึงโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องรับการรักษาต่อเนื่องที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายไปจนตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย และผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เกิดการคุ้มครองประชาชนจากความยากจนที่เกิดจากค่ารักษาพยาบาล ช่วยลดภาระหนี้สินจากค่ารักษา เพิ่มความมั่นคงให้กับครอบครัว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisement

ผลสำเร็จของประเทศไทยเกิดขึ้นได้ด้วย 3 การลงทุนที่สำคัญ คือ

1.การลงทุนทางด้านวิชาการก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้มีองค์ความรู้การบริหารจัดการ ทั้งในด้านงบประมาณและการจัดระบบบริการที่เหมาะสม สนองความจำเป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน

2.การลงทุนในระบบบริการสุขภาพที่เข้มแข็ง นอกจากหน่วยบริการส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ บุคลากรในระบบสาธารณสุขยังมีความเสียสละในการทำงานและเข้าใจถึงความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน

และ 3.การลงทุนด้านความกล้าหาญในการผลักดันและการกำหนดเป็นนโยบายประเทศ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนและร่วมบูรณาการ กระทั่งทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นจริงได้ในวันนี้

ลักษณะการทำงานแบบนี้เป็นการสั่งสมการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่เสนอกฎหมาย ทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบ หรือเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นตั้งแต่ปี 2545 การดำเนินงานต่อมาก็มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆ มาวางนโยบายในการกำหนดสิทธิประโยชน์ของประชาชนในขอบเขตต่างๆ

จากบทพิสูจน์นี้ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ รวมทั้งในระดับเวทีโลก ยกย่องให้เป็นต้นแบบของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และที่ผ่านมายังได้รับเชิญร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหลายเวทีระดับโลก เพื่อสะท้อนให้ทั่วโลกเห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ไม่มากก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นในการผลักดันและความจริงจังของรัฐบาลในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่ไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนระบบมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี

“เพราะยากจน จึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ Because we are poor, we cannot afford not to have universal health coverage. เป็นข้อความที่ถูกสื่อสารในทุกเวทีของ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ซึ่งกลับกันจากความเชื่อเดิมที่เคยมีว่า ต้องเป็นประเทศที่ร่ำรวยก่อนจึงจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ และคีย์เวิร์ดสำคัญนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกลุกขึ้นมาสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน รายได้ไม่มาก

ซึ่งหลังจากที่ไทยได้ดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่องและก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 แล้ว ได้สะท้อนให้ทั่วโลกเห็นว่า ถึงไม่ได้เป็นประเทศไทยร่ำรวยก็ดำเนินระบบนี้ได้ โดยปรับทัศนคติมองงบประมาณที่ลงสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องการลงทุนด้านสุขภาพให้กับประชาชน ไม่ใช่ภาระงบประมาณประเทศ ซึ่งการลงทุนด้านสุขภาพนอกจากทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 20% ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

ทั้งนี้ สิ่งที่คนไทยได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพตลอด 16 ปีที่ผ่านมานั้น อย่างแรกเลยคือได้สิทธิ เป็นการเปลี่ยนจากระบบสังคมสงเคราะห์มาเป็นการมีตัวตนมีจุดยืนบนประเทศ และเมื่อมีสิทธิก็นำไปสู่การมีชุดสิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ได้รับการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ ฯลฯ ประการต่อมาคือการได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่ใช่บริการชั้น 2 มีมาตรฐาน รวมทั้งได้รับการคุ้มครอง เป็นการคุ้มครองใน 2 ประเด็น คือ คุ้มครองไม่ให้ล้มละลายจากการรักษา สามารถนำเงินไปจ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นได้ และคุ้มครองสิทธิของตัวเองกรณีเกิดความผิดพลาดในการรักษาเพื่อลดความขัดแย้งต่างๆ

อีกหนึ่งข้อความสำคัญที่เป็นหัวใจของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นเสมือนเข็มทิศของระบบเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพประชากรทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ช่วยสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชากรในประเทศได้ โดยไทยอยู่ระหว่างการอุดช่องว่างในระบบเพื่อขยายการดูแลประชากรทุกกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่เป็นโจทย์ท้าทาย เช่น การดูแลกลุ่มชาวนาให้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น รวมถึงในกลุ่มคนชายขอบ
อื่นๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ไม่ได้เป็นระบบที่มุ่งเฉพาะการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ลดความเจ็บป่วยและอัตราการตายในประชากรทุกกลุ่มวัย อาทิ การจัดชุดสิทธิประโยชน์วัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิด ทำให้ประชากรประเทศมีคุณภาพ มีสุขภาพดีเป็นต้นทุน การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเพื่อดึงท้องถิ่นร่วมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชากรในพื้นที่ เป็นต้น

ความสำเร็จการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่ปรากฏนี้ สหประชาชาติมองว่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การวางรากฐานสำคัญให้กับโลกได้ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้ จึงเตรียมจัดเวทีเจรจาเอกสารผลลัพธ์การประชุมในเรื่องหลักประกันสุขภาพ
ถ้วนหน้า ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำประเทศต่างๆ ในการรับแนวทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปประยุกต์และปรับใช้เพื่อดูแลสุขภาพในประชากรประเทศตนเอง และเรื่องนี้ถือเป็นวาระสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประชากรครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้เล่นสำคัญในเวทีการหารือระดับสูงในการประชุมสหประชาชาติปลายปีนี้ … นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของไทยในเวทีโลก

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image