ทรราชของผู้เชี่ยวชาญ : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ขอแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปไตยทุกพรรค ผมตั้งใจใช้คำว่าประชาธิปไตยเพื่อแยกพรรคเหล่านี้ออกจากพรรคอื่น คนเราไปร่วมรัฐบาลเผด็จการของคณะรัฐประหารมาไม่รู้จะกี่ปี จู่ๆ ก็ไม่อยากถูกเรียกเป็นพรรคการเมืองอื่นนอกจากประชาธิปไตย คุณได้ทำลายสิ่งดีๆ ในประเทศไทยมาแทบจะหมดแล้ว เหลือความหมายในภาษาไทยไว้สักเรื่องเถิดครับ

ส่วนบรรดาพรรคนักเสียบ ระบอบประชาธิปไตยไม่มีความหมายอะไรแก่พวกเขา เป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อการเสียบ และเสียบไม่เลิกตั้งแต่จุติในวงการเมืองจนบัดนี้ ก็คงไม่เกี่ยวอะไรกับบทความนี้เช่นกัน

ผมมีของขวัญแห่งความยินดีด้วย แต่ไม่มีเงินจะซื้อแจกแก่ทุกท่านได้ จึงขอเพียงแนะนำเท่านั้น นั่นคือหนังสือชื่อ The Tyranny of Experts ของ William Easterly

อันที่จริงหนังสือเรื่องนี้วางจำหน่ายมา 6 ปีแล้ว แต่เล่มปกอ่อนซึ่งผมเข้าถึงได้ออกในภายหลัง

Advertisement

ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์พัฒนา เคยทำงานกับธนาคารโลกมา 15 ปี จึงได้บรรลุความจริงว่า แท้จริงแล้ว นโยบายพัฒนาของธนาคารโลก ซึ่งกลายเป็นนโยบายพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ผิด เพราะไปเชื่อว่าเทคโนโลยีเท่านั้นที่สามารถทำให้ประเทศยากจนเปลี่ยนเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้

ฐานคิดแบบนี้เอื้อต่อระบอบเผด็จการ เพราะหากจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ระบอบอำนาจนิยมเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้าม ระบอบประชาธิปไตยเสียอีก ซึ่งให้เสรีภาพในการประท้วงคัดค้านไปจนถึงมีการเลือกตั้ง ย่อมทำให้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาไม่ได้ หรือไม่เต็มที่

ทั่วทั้งโลก เกิดจอมเผด็จการทั้งที่โหดเหี้ยมหรืออ้างว่าทรงธรรมทั่วไป ในลาตินอเมริกา, แอฟริกา, และเอเชียเต็มไปหมด และทั้งหมดต่างอ้างว่าอำนาจเด็ดขาดที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลนี้แหละจำเป็นสำหรับความสำเร็จในการพัฒนา และจอมเผด็จการทุกคนต่างทำงานร่วมกับธนาคารโลก และแหล่งทุนที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอื่นๆ ทั้งๆ ที่หลายคนสังหารผู้คนเป็นเรือนพันเรือนหมื่น หรือจับฝ่ายค้านเข้าคุกอีกจำนวนมาก

Advertisement

เรามักลืมหรือยกให้เป็นข้อยกเว้นเสมอว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ เกิดขึ้นคู่เคียงกับการขยายตัวของเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ประชาธิปไตยนั่นแหละที่ทำให้คนขาวสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ไกลสุดกู่อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ แต่      “ผู้เชี่ยวชาญ” คนขาวกลับเห็นว่า ในหมู่คนผิวสีอื่น จะประสบความสำเร็จในการพัฒนา ต้องอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมเท่านั้น ประชาธิปไตยไม่จำเป็น ซ้ำยังอาจขัดขวางการพัฒนาเสียอีก

ฟังดูประหนึ่งว่าลัทธิเหยียดเชื้อชาติ Easterly แสดงให้เห็นจากเอกสารประวัติศาสตร์ว่า ไม่ใช่เพียง “ฟังดูประหนึ่ง” เท่านั้น แต่เป็นความจริงเลยทีเดียว ต้นกำเนิดของลัทธิพัฒนาที่ไร้เสรีภาพนั้น เกิดขึ้นจากทรรศนะเหยียดเชื้อชาติของนักล่าอาณานิคม

สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเริ่มขึ้นในยุโรปไม่นาน อังกฤษก็มองออกแล้วว่า อาณานิคมของตนในแอฟริกาอาจจะหลุดลอยไปได้ หากไม่ปรับแก้นโยบายอาณานิคมของตนเสียใหม่ คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้เสนอว่า ต้องเลิกนโยบายเหยียดผิวทั้งหมด แล้วหันมา “พัฒนา” อาณานิคมของตนในทางเศรษฐกิจ เมื่ออาณานิคม “พร้อม” แล้ว จึงจะให้เอกราชแก่อาณานิคม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยังไม่ให้เสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่ประชาชนอาณานิคม แต่จะใช้เทคโนโลยีเข้าไปทำให้อาณานิคมเกิดรายได้มากขึ้น (ไม่ได้พูดถึงการแบ่งสรรรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้อย่างไร)  ส่วนประชาชนก็ยังถูกควบคุมเหมือนเดิมโดยไม่มีคำระคายหูต่างๆ เช่น ในเอกสารรัฐบาล ควรเลิกใช้คำว่า niggers หรือแม้แต่ natives แต่ให้ใช้คำ indigenous people (ผู้อยู่อาศัยหรือเกิดในพื้นถิ่น) แทน

แม้อังกฤษไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาอาณานิคมแอฟริกาของตนไว้ได้ แต่มรดก “แนวทางการพัฒนา” ของอังกฤษก็ยังอยู่สืบมา ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า รัฐเอกราชในแอฟริกาจำนวนมากลงเอยที่เผด็จการอำนาจนิยม ที่เหี้ยมโหดโดยสันดานบ้าง หรือโดยนโยบายพัฒนาบ้าง สืบต่อมาอีกนาน

ที่สำคัญ มรดกเช่นนี้ยังสืบทอดต่อมาในบรรดาองค์กรโลกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ยิ่งระหว่างสงครามเย็น องค์กรเหล่านี้ต้องการเสถียรภาพทางการเมืองเสียจนละเลยเสรีภาพของเอกบุคคลไปโดยสิ้นเชิง แม้ประสบความล้มเหลวในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก็หาเหตุแก้ตัวไปต่างๆ นานาได้สืบมาจนบัดนี้

ไม่เฉพาะแต่องค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น ที่รับมรดกอาณานิคมมา หากรวมถึงผู้นำของประเทศกำลังพัฒนาด้วย เผด็จการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” แขนงต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ เราจะเห็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้เข้าไปรับใช้เผด็จการในเมืองไทยมาทุกยุคทุกสมัย เพราะพวกเขาต่างสมาทานลัทธิพัฒนา ที่ถือว่าการพัฒนาคือเทคโนโลยี ไม่เกี่ยวกับเสรีภาพของเอกบุคคล

Easterly เชื่อว่าตรงกันข้ามเลยทีเดียว ความสำเร็จในการพัฒนานั้นไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่เกิดจากการที่บุคคลแต่ละคนแต่ละกลุ่มตอบสนองเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองไปในทางที่ตนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด การตอบสนองนี้อาจเป็นความขยันหมั่นเพียร, การคิดค้นหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม, การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ, การเอาชนะในการแข่งขัน, และ ฯลฯ

ความสำเร็จในการพัฒนามาจาก spontaneous response หรือการตอบสนองเงื่อนไขเฉพาะหน้า ไม่ใช่มาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ความสามารถเช่นนี้จะมีได้ก็ต้องมีเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระงับเสรีภาพไว้ก่อนจนกว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจสำเร็จคือนโยบายอาณานิคมของมหาอำนาจ        จึงล้มเหลวมาแล้วในทุกประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่มีความสำคัญเสียเลย รัฐคืออำนาจที่คอยกำกับให้เสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การกระทำเช่นนี้ บางครั้งหมายถึงการลงทุนด้านโครงสร้าง      พื้นฐาน แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของประชาชน เช่น ถนนที่ขยายเข้าสู่หมู่บ้าน ย่อมขยายตลาดของพืชผลการเกษตรอย่างแน่นอน แต่จะสร้างถนน, เขื่อน, โรงไฟฟ้า, โรงพยาบาล, โรงเรียน, ฯลฯ อย่างไร ประชาชนต้องตัดสินใจเอง ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจเอง และอำนาจรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ไม่มีใครสามารถละเมิดเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนอื่น

รัฐที่ผนวกเอานายทุนประชารัฐไว้เป็นผู้ร่วมถืออำนาจมีอันตรายที่สุดก็ตรงนี้แหละครับ เพราะเท่ากับเปิดการผูกขาดโดยพฤตินัยให้แก่นายทุนหยิบมือเดียว โอกาสทางเศรษฐกิจของคนอื่นหายไปในพริบตา เป็นสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาแน่ แต่เป็นภูเขาแห่งเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นอันขาดไม่ได้ของการพัฒนาทีเดียว

ส่วนความเชื่อที่แพร่หลายมากว่า ประเทศเผด็จการไม่ว่าจะทรงธรรมและป่าเถื่อนล้วนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งนั้น ความเชื่อนี้เกิดขึ้นจากความหูหนาตาเล่อ (ignorance) เพราะประเทศเผด็จการที่ล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจคือส่วนใหญ่ของเผด็จการ ที่ประสบความสำเร็จมีเพียงไม่กี่ประเทศ และน้อยกว่าประเทศประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเทียบกันไม่ได้

ดังนั้น การลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจโดยยอมจำนนให้แก่อำนาจที่ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล และยอมระงับสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงเหมือนการเล่นพนันที่เสี่ยงมากๆ โอกาสที่จะถูกรางวัลมีนิดเดียว ซ้ำร้ายนอกจากไม่ถูกรางวัลแล้ว ยังอาจถูกกักขังทรมานอย่างป่าเถื่อนได้ง่ายๆ อีกด้วย

อีกทั้งไม่มีนักเศรษฐศาสตร์หน้าไหนสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเผด็จการเกิดขึ้นจากผู้นำหรือรัฐอำนาจนิยม เพราะปัจจัยอื่นๆ อีกหลายสิบอย่างที่ช่วยให้ประเทศนั้นประสบความสำเร็จมักไม่ถูกพูดถึง ยกตัวอย่างจีนซึ่งกลายเป็นต้นแบบและความชอบธรรมให้แก่เผด็จการในปัจจุบันก็ได้ ความสำเร็จของจีนเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยประชาชนให้หลุดจากการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดเป็นอย่างมาก เช่น ชาวนาจีนประสบความสำเร็จในการติดสินบนเจ้าหน้าที่ในการใช้เวลาส่วนใหญ่ผลิตเพื่อตลาด แทนที่จะสูญเสียเวลาไปกับนารวมอย่างสมัยเหมา จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงยอมออกกฎหมายรับรองการผลิตของครอบครัวอย่างอิสระ คือเริ่มให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน

ความสำเร็จของจีนมาจากเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (แม้ไม่ใช่เสรีภาพทางการเมือง) แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง กลับไปพูดถึงเติ้ง เสี่ยวผิง และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าการกระทำของเขามีส่วนสัมพันธ์กับความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งนี้เพราะพูดอย่างนี้ย่อมสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของธนาคารโลก และระบอบเผด็จการซึ่งกลายเป็นลูกค้าใหญ่ของธนาคารมากกว่า

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่มีส่วนช่วยให้เผด็จการบางประเทศประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือจังหวะเวลาและความบังเอิญบางอย่างในภูมิภาค (Easterly ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขเฉลี่ยต่อรายหัวประชากรมีแนวโน้มขึ้นลงทั้งภูมิภาคมากกว่าในแต่ละประเทศ ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจกำลัง “ขึ้น” ด้วยปัจจัยอื่นๆ มากกว่าผู้นำหรือรัฐ) และภาวะเศรษฐกิจโลก

เขาใช้หน้ากระดาษอีกมาก เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเกาหลี, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, และจีนว่าเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้นำเผด็จการ หรือระบอบอำนาจนิยม แต่อย่างใด (หมายความว่าถึงเป็นประชาธิปไตย ก็จะประสบความสำเร็จเหมือนกัน หรืออาจจะมากกว่าก็ได้)

ผมเสนอของขวัญชิ้นนี้แก่ ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยก็เพราะ ในเมืองไทย เราถูกวัฒนธรรมเผด็จการทั้งของทหารและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ ตอกย้ำเสมอว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นไม่เกี่ยวกัน แท้จริงแล้วทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกันโดยแท้ บางคนอ้างว่าคนจนใส่ใจแต่เรื่องปากท้อง ไม่แคร์หรอกว่าจะมีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยหรือไม่ แต่งานวิจัยความต้องการของคนจนในแอฟริกาและลาตินอเมริกาหลายชิ้น กลับได้ผลตรงกันข้าม เพราะคนจนในสองทวีปนั้นกลับอยากมีเสรีภาพเท่าเทียมกับคนอื่นเป็นอันดับแรก

บางครั้ง นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเองก็อาจ “หลุด” คือไปยอมรับข้ออ้างของทรราช “ผู้เชี่ยวชาญ” ว่า เรื่องปากท้องต้องมาก่อน ผมก็เห็นใจนะครับ เพราะท่ามกลางการล้างสมองของ “ผู้เชี่ยวชาญ” มาเป็นเวลากว่าศตวรรษ ย่อมยากที่จะคิดเป็นอื่นได้ เราจึงไม่ควรลืมเป็นอันขาดว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคลกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และถ้าใครอ้างว่าสามารถคิดแทนคนจนได้ว่าปากท้องต้องมาก่อน พึงตระหนักไว้เถิดว่าคนผู้นั้นต้องการได้อำนาจไว้กับตัวมากกว่าต้องการให้คนจนหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image