ก.ก.ต.เละ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อตอนที่คณะนายทหารกระทำการปฏิวัติรัฐประหาร โดยการสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการจัดชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า กปปส. เพื่อปูทางให้ตนเองมีเงื่อนไขในการทำรัฐประหาร ก็เคยให้สัญญาจนเป็นความเชื่อโดยทั่วไปสำหรับผู้ที่เกลียดรัฐบาลเก่าที่ถูกสร้างด้วยกระแสทางการเมืองว่า คณะรัฐประหารจะอยู่ไม่นาน เมื่อจัดการให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาพปกติแล้วก็จะไป ให้รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศต่อไป

เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านจากประชาชนและรัฐบาลต่างประเทศ เพราะเป็นการทำผิดเงื่อนไขของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ว่าด้วยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ลงนามรับรอง

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งควรจะทำโดยไม่ชักช้า แต่ด้วยต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความชอบจึงจัดให้มีการลงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น โดยมีปรัชญาในการร่างรัฐธรรมนูญว่า “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” โดยสลัดทิ้งทั้งความเป็นนักวิชาการและความเป็นครูอาจารย์ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญตามใจแป๊ะ

คนเราเมื่ออยู่ในอำนาจก็มักจะมีอะไรที่เปิดเผยไม่ได้เสมอ ความพอใจจากที่ได้ลิ้มรสการอยู่ในอำนาจจึงมักมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยศีลธรรมหรือจริยธรรมอยู่เสมอ หากลงจากอำนาจก็มักจะถูกขุดคุ้ยนำไปสู่การสอบสวนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่อธิบายที่มาไม่ได้ จึงมักจะถูกตาม “ยึดทรัพย์” ในภายหลัง ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา

Advertisement

ความพอใจที่อยู่ในอำนาจ ความเกรงกลัวกรณีจะซ้ำรอยเผด็จการหัวหน้าคณะรัฐประหาร ความพอใจผสมกับความจำเป็นที่จะต้องสืบทอดอำนาจให้ได้นานที่สุด จึงเป็นเหตุผลสำคัญของคณะเผด็จการทหาร คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ท่องบ่นอยู่ทุกวันว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ทำไปทำมาก็เกือบ 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังต้องการและมีความจำเป็นต้องอยู่ในอำนาจต่อไป โดยการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ “เผด็จการครึ่งใบ” เป็นเครื่องมือ เพื่อให้ระบอบเผด็จการของตนเป็นระบอบเผด็จการโดยกฎหมาย กฎหมายที่ใช้ในการปกครองซึ่งเป็นกฎหมายให้ความชอบธรรมกับตน เพื่อปกครองโดยการใช้กฎหมายหรือ rule by law ไม่ใช่ระบอบที่ปกครองโดยหลักของกฎหมายหรือ rule of law

แม้จะเขียนกฎหมายให้ตนได้เปรียบในการสืบทอดอำนาจเผด็จการ การจัดการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งควรจะเป็นอิสระและเป็นกลางในสายตาประชาชน แต่คณะรัฐประหารก็ไม่ฉลาดพอที่จะคงคณะกรรมการชุดเดิมเอาไว้ใช้เป็นปากเสียงให้ตน อย่างไรเสียองค์กรอิสระทั้งหลายก็ยังเกรงใจรัฐบาลที่ยังอยู่ในอำนาจเพราะอาจจะให้คุณให้โทษกับตนได้ แต่กลับใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดคณะกรรมการชุดเดิมแล้วแต่งตั้งชุดปัจจุบันที่ตัวสั่งได้มาแทน

เมื่อความชอบธรรมของการสืบทอดอำนาจต้องกระทำผ่านการเลือกตั้ง กกต.จึงมีความสำคัญขึ้นมาทันที ในการจัดการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนให้หัวหน้าคณะรัฐประหารได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เป็นเผด็จการรัฐประหารในรูปแบบที่มาจากการเลือกตั้ง การออกแบบการเลือกตั้งทั่วไปซึ่ง กกต.จะต้องกำหนดรายละเอียดตั้งแต่การแบ่งเขตการเลือกตั้ง การออกแบบบัตรเลือกตั้ง การกำหนดหมายเลขของผู้สมัครในแต่ละเขตของแต่ละพรรค

การให้พรรคต่างๆ มีเลขของผู้สมัครในแต่ละเขตแตกต่างกัน ไม่เป็นเลขเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ผู้ลงคะแนนเสียงจำชื่อและหมายเลขของผู้สมัครยากขึ้น จะได้ไม่ลงคะแนนเสียงยกพรรคโดยไม่สนใจตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังคำพูดที่ว่า เอาเสาไฟฟ้าลงที่ภาคใต้ประชาธิปัตย์ก็ได้รับเลือกตั้ง ที่ภาคเหนือและอีสานพรรคเพื่อไทยก็ได้รับเลือกเช่นกัน

“ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งเป็นระบบที่ต้องรอการรวมคะแนนเสียงจาก กกต. แต่เนื่องจาก กกต.ชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการรวมคะแนนเสียง รวมทั้งความไม่เข้าใจกฎหมายและวิธีการ ประธาน กกต.ออกมาให้สัมภาษณ์ผิดๆ ถูกๆ ว่าจะหยุดนับคะแนนเมื่อนับได้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์แล้ว คงไปนึกถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า เมื่อได้ชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 แล้ว ก็ให้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้

การจัดการเลือกตั้งที่สับสนวุ่นวาย การจัดส่งบัตรเลือกตั้งผิดที่ บัตรเลือกตั้งที่ส่งมาจากประเทศนิวซีแลนด์มาถึงก่อนวันเลือกตั้งกว่า 2 วัน การบินไทยแจ้งกระทรวงการต่างประเทศและ
กกต.แล้ว แต่ไม่มีใครมารับ ซึ่งเป็นเรื่องหลักการ เพราะบัตรลงคะแนนเสียงแล้วมีจำนวนไม่มากและอาจจะส่งไปยังเขตเลือกตั้งต่างๆ ไม่ทันอยู่ดี แต่ก็ทำให้เกียรติภูมิและความเชื่อถือของคณะกรรมการการเลือกตั้งคณะนี้หมดไป เพราะดำเนินการช่วยพรรครัฐบาลไม่แนบเนียนพอ ถูกผู้คนจับได้อย่างรวดเร็ว

เสียดายกรรมการ กกต.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงของประเทศ ไม่มีใครเชื่อว่าไม่ได้รับคำสั่งมาจากรัฐบาล อนุมานได้จากการเข้าชื่อถอดถอน กกต.ที่ต้องการเพียง 20,000 ชื่อ บัดนี้มีผู้มาลงชื่อไว้แล้วถึง 800,000 ชื่อ แต่ผู้รวบรวมต้องการให้ได้ถึง 1,000,000 ชื่อ เป็นการลงชื่อที่มีจำนวนมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา

การลงชื่อขับไล่ กกต.ถึง 800,000 ชื่อ เป็นการ “ตีวัวกระทบคราด” เป็นการส่งสัญญาณขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร และคณะรัฐประหารไปในตัว เพราะ กกต.แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหลังจากใช้อำนาจเผด็จการมาตรา 44 ปลดกรรมการขององค์กรอิสระ เช่น กกต., ป.ป.ช. ฯลฯ ชุดเดิมออก แล้วตั้งคนของตัวเข้าไปทำการแทน

จากจำนวนรายชื่อผู้ที่ต้องการขับไล่กรรมการ กกต.ที่มีจำนวนมากถึงเพียงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งควรละอายแก่ใจแล้วลาออกไปเสีย แม้ว่าไม่มีกฎหมายใดบังคับให้พ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อคนกว่า 800,000 และอาจจะถึง 1,000,000 คน จำนวนผู้คนที่มีตัวตนชัดเจนนี้แน่นอนมากกว่า “มวลมหาประชาชน” ของ กปปส.เสียอีก

ถ้าประเด็นไม่ไว้วางใจ กกต.จุดติด ซึ่งบัดนี้จุดติดแล้ว ผู้คนโดยทั่วไปเชื่อว่ารัฐบาลนี้ใช้ กกต.ชุดนี้โกงเลือกตั้ง จำนวนคะแนนเสียงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกัน กลายเป็น “คะแนนเขย่ง” กกต.อธิบายไม่ได้ ทำให้คนสงสัย เพราะไม่ยอมประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้ง การชี้แจงที่ออกมาก็สับสน

เป็นอุทาหรณ์ให้กับรัฐบาลเผด็จการ คสช.ว่าการกระทำอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่สามารถทำให้สอดคล้องทั้งระบบได้ การชี้แจงเพียงบางส่วนหรือหลายส่วน “ข้อเท็จจริงจะเขย่ง” ไม่ลงตัว เพราะกฎหมายจะตรวจสอบตัวเองเป็นระบบ สมัยก่อนอาจจะทำได้เพราะยังไม่มีระบบโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วและราคาถูก ผู้สื่อข่าวตัวแทนพรรคการเมือง และองค์กรอิสระสามารถควบคุมและตรวจสอบได้ เช่น บางหน่วยเลือกตั้งไม่ให้ถ่ายภาพคนกำลังเดินเข้าไปในคูหาลงคะแนนเสียง การกาลงไปในบัตร การพับบัตร นำบัตรหย่อนลงในหีบเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีกฎระเบียบห้ามไว้ แต่ในทันทีก็มีภาพออกทางโทรทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีและผู้คนระดับสูงมาลงคะแนนเสียง เห็นได้ต่อเนื่องตั้งแต่เดินเข้าหน่วยเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ รับบัตร กาบัตรและหย่อนบัตร เกิด 2 มาตรฐานขึ้นทันที กกต.ให้คำตอบไม่ได้ว่าทำไมเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่ให้ใครเข้าไปถ่ายรูปก็ต้องไม่ให้ทั้งหมด

เมื่อคณะกรรมการ กกต.ชุดนี้หมดความน่าเชื่อถือ จะเป็นผลเสียกับพรรคการเมืองฝั่งสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่จะเป็นผลดีกับฝ่ายประชาธิปไตย เป็นผลเสียกับฝ่าย “เอาตู่” เป็นผลดีกับฝ่าย “ไม่เอาตู่” ดังนั้นควรจะดำเนินการทางลับซึ่งก็เคยทำมามากแล้ว โดยให้ กกต.ชุดนี้ลาออกเสีย จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย กกต.ชุดนี้อาจจะถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ เพราะเคยมีกรณีแบบนี้มาแล้วในอดีตที่กรรมการการเลือกตั้งถูกตัดสินจำคุก

พูดถึงคนดีคนไม่ดี เป็นวาทกรรมที่ไม่มีประโยชน์ เป็นวาทกรรมที่เอาไว้ใช้เล่นงานนักการเมือง เพราะการกระทำที่มิชอบแล้วถูกตรวจสอบได้จะเป็นข่าวได้ง่าย แต่การ กระทำที่มิชอบของฝ่ายเผด็จการจะไม่เป็นข่าวเพราะความกลัวของสื่อมวลชน ถ้าสื่อมวลชนไม่มีความกล้าหาญในวิชาชีพของตน ยอมทำตัวรับใช้เผด็จการ ไม่เป็นปากเสียงให้ประชาขน แต่เป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ทำร้ายประชาชน ยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนกว่า 67 ล้านคนมาครองไว้อยู่ในมือของคนคนเดียว หรือคณะบุคคลเพียง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยผู้อื้อฉาว ทั้งกรณีนาฬิกาหรู ทั้งการซื้อเครื่องตรวจสอบระเบิด ทั้งบัลลูน ทั้งหมดได้ปรากฏความจริงแล้วว่าเป็นเรื่องเท็จ เป็นเรื่องหลอกลวงของผู้ขาย แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะเป็นการกระทำของคนดี

เมื่อพูดถึงคนดีคนไม่ดี ก็ไม่น่าจะมีอาชญากรรมอันใดชั่วร้ายไปกว่าการยึดอำนาจอธิปไตยจากประชาชนเจ้าของอำนาจ และการใช้อำนาจเอาเปรียบคู่แข่งขันในการจัดการเลือกตั้งผ่านทาง กกต. การสูญเสียทรัพย์สมบัติของปัจเจกชนโดยไม่จำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นความสูญเสียที่น้อยกว่าการสูญเสียของความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียอำนาจในการปกครองตนเอง จำต้องยอมให้คนดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้มาปกครอง แต่อ้างว่าเป็นคนดีโดยตรวจสอบไม่ได้

คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกไปเถิด

 

เกาะติดการเมือง กับ Line@มติชนการเมือง

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image