สะพานแห่งกาลเวลา : ไปเที่ยวอวกาศกันเถอะ

ภาพ-SpaceX

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา มีการทดลอง “เดินเครื่อง” เครื่องยนต์ของยานอวกาศ “สตาร์ชิป ฮอปเปอร์” เป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จเสียด้วย

ยานอวกาศลำดังกล่าวเป็น “ต้นแบบ” ชนิดย่อส่วนของยานอวกาศตัวจริงที่ชื่อ “สตาร์ชิป” ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดย “สเปซเอ็กซ์” กิจการอวกาศของนักธุรกิจ “เจ้าไอเดีย” อย่าง อีลอน มัสก์ นั่นเอง

การทดสอบเดินเครื่องยนต์เป็นครั้งแรกดังกล่าวนั้นมีขึ้นในศูนย์การบินอวกาศของสเปซเอ็กซ์ ที่เมือง         โบคาชิกา ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

เป็นการทดลองเดินเครื่องยนต์จรวด 1 เครื่อง เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1 นาที โดยที่ตัวยานยังคงอยู่ในสภาพผูกโยงไว้กับฐาน เพื่อให้แน่ใจว่า สตาร์ชิป ฮอปเปอร์ จะแค่ขยับขึ้นจากพื้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Advertisement

ยานต้นแบบ “สตาร์ชิป ฮอปเปอร์” มีเครื่องยนต์เพียงตัวเดียว แต่ตัวยานจริงอย่างสตาร์ชิปนั้นจะติดตั้งเครื่องยนต์จรวดสำหรับขับเคลื่อนไว้กับตัวรวมทั้งหมดถึง 31 ตัวด้วยกัน

นั่นเพราะขนาดของยานต้นแบบกับยานอวกาศตัวจริงนั้น ใหญ่โตเทียบกันไม่ได้

เจ้า “ฮอปเปอร์” นั้นไม่ได้มีนักบินอยู่ด้วย แต่สตาร์ชิปจะมีทั้งนักบินและผู้โดยสาร ตามข้อมูลของสเปซเอ็กซ์ที่เผยแพร่ออกมาบอกว่า สตาร์ชิปจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 คนเลยทีเดียว

Advertisement

ถ้าถามอีลอน มัสก์ ว่าทำสตาร์ชิปขึ้นมาเพื่ออะไร คำตอบที่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาที่ถาม เพราะหลายต่อหลายครั้ง วัตถุประสงค์ของสตาร์ชิปจะเปลี่ยนไปมาอยู่เรื่อยๆ

ครั้งหนึ่ง มัสก์เคยบอกว่า สตาร์ชิปคือยาน “อพยพ” ขนคนจากโลกไป “ตั้งอาณานิคม” บนดาวอังคาร ในยามที่โลกมนุษย์ไม่สามารถรองรับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” ได้อีกต่อไปแล้ว จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่

บางครั้ง สตาร์ชิปจะกลายเป็นเหมือน “ยานสำหรับท่องเที่ยวอวกาศ” สำหรับใครก็ได้ที่ต้องการประสบการณ์ “จริง” ในห้วงอวกาศ อย่างเช่นการเดินทางไป “เที่ยวดวงจันทร์” แล้วกลับโลก เป็นต้น

ในหลายๆ ครั้ง คำตอบของมัสก์จะเป็นไปในทำนองว่า สตาร์ชิปคือยานโดยสารระหว่างดวงดาว จากอาณานิคมในห้วงอวกาศหนึ่งไปยังอีกห้วงอวกาศหนึ่ง จากอาณานิคมที่เป็นเหมืองแร่บนดวงจันทร์ ไปยังที่พักอาศัยใหม่ของมนุษย์บนดาวอังคาร เป็นต้น

แต่โดยสรุปแล้ว สตาร์ชิปในแนวคิดของมัสก์ก็น่าจะเป็นยานอวกาศ “โดยสาร” ระหว่างดวงดาวนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้โดยสารจะ “จ่ายเงิน” เดินทางไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ

ฟังดูก็เหมือนกับจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งวาดภาพในอนาคตไว้ว่า การเดินทางระหว่างดวงดาวทั้งหลายเป็นเรื่องสามัญปกติที่ใครๆ ก็สามารถทำได้เป็นพื้นฐานประการหนึ่งของสังคมยุคนั้น

การทดลองเดินเครื่องยนต์เพียงแค่ 1 นาทีของ “สตาร์ชิป ฮอปเปอร์” จึงมีนัยหนึ่งเป็นเหมือนก้าวย่างเล็กๆ บนเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างโลกในความเป็นจริงในปัจจุบันกับโลกในจินตนาการที่ว่านั้น

ทำให้ช่องว่างระหว่างความจริงกับจินตนาการที่เคยห่างกันจนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุดนั้น หดแคบลงอีกส่วนเสี้ยวหนึ่ง

ความจริงกับจินตนาการจะบรรจบกันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคลอีกเหมือนกันครับ

อย่างเช่นในกรณีของสตาร์ชิปที่ว่านี้ ในขณะที่หลายคนเชื่อว่า เป็นเรื่องที่ไกลออกไปมากเหลือเกิน แต่คนอย่าง ยากุสะ มาเอะซาวะ นักธุรกิจแฟชั่นระดับมีเงินเป็นพันพันล้านดอลลาร์ชาวญี่ปุ่นกลับเชื่อว่าเป็นจริงได้

ไม่เช่นนั้น มาเอะซาวะคงไม่จับจองเที่ยวบินเดินทางออกจากโลกมนุษย์ ไปวนอยู่รอบดวงจันทร์สักหลายรอบแล้วเดินทางกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในโตเกียวต่อไป

ตามแผนงานของสตาร์ชิปนั้น ยานโดยสารอวกาศลำนี้จะเริ่มต้นการเดินทางได้ในราวทศวรรษ 2020

เมื่อเดือนกันยายนปี 2018 ที่ผ่านมา มาเอะซาวะเดินทางไปทำความตกลงกับสเปซเอ็กซ์ถึงสำนักงานใหญ่ กำหนดเที่ยวบินท่องอวกาศกันไว้ในปี 2023

มาเอะซาวะบอกว่าจะชวน “ศิลปิน” คนหนึ่งไปด้วย

จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่า ใครคือคนที่มหาเศรษฐีญี่ปุ่นจะเอ่ยปากชวนว่า “ไปเที่ยวอวกาศกันเถอะ!” คนนั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image