บทสรุป การเมือง ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำไม จึงแพ้ยับเยิน

การออกมายอมรับของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถึงผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย “แพ้ยับเยิน”

ถือได้ว่า “กล้าหาญ”

นี่ย่อมมิได้เป็นความพ่ายแพ้ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในลักษณะอันเป็น “ส่วนตัว” หากแต่ยังหมายถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทยในลักษณะอันเป็น “องค์รวม”

ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ไม่ว่าจะเป็น นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง

Advertisement

ยิ่งหากสาวลึกไปยังองค์ประกอบอื่นอันได้แก่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสำราญ รอดเพชร รวมถึง นายสุริยะใส กตะศิลา

ยิ่งเห็นสายสัมพันธ์ไปยัง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินจากเมื่อวันที่ 24 มีนาคม จึงมิได้ยับเยินเฉพาะพรรครวมพลังประชาชาติไทยเท่านั้น หากยังหมายถึงพรรคการเมืองใหม่

Advertisement

การทำความเข้าใจใน “ความพ่ายแพ้” จึงสำคัญ

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดประชุมที่มหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่

คำตอบคือ ต้องการ “ต่อยอด”

อาศัยความสำเร็จจากการสามารถระดมมวลชนเรือนแสนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาเป็นเหมือนกระดานหกในทางการเมือง

แปร “มวลชน”เป็น“คะแนน”เสียง

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ กปปส.นัดประชุมที่มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้น

คำตอบคือ ต้องการ “ต่อยอด”

อาศัยความสำเร็จจากการสามารถระดมมวลชนเรือนแสนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาเป็นเหมือนกระดานหกในทางการเมือง

แปร “มวลชน” เป็น “คะแนน” เสียง

ต่อกรณีของพรรคการเมืองใหม่ คำตอบมิได้อยู่ที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หรือ นายสุริยะใส กตะศิลา

หากอยู่ที่แม้กระทั่งความล้มเหลวในการเลือกระดับ “ท้องถิ่น”

ต่อกรณีของพรรครวมพลังประชาชาติไทย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ออกมายอมรับเองว่าประสบกับความพ่ายแพ้

มิใช่พ่ายแพ้อย่างธรรมดา หากแต่ “ยับเยิน”

นั่นสะท้อนให้เห็นว่ามวลชนเรือนแสนที่เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีเป้าหมายอย่างหนึ่ง

แตกต่างไปจากเป้าหมายของพรรคการเมืองใหม่

นั่นสะท้อนให้เห็นว่ามวลชนเรือนแสนที่เข้าร่วมกับ กปปส.มีเป้าหมายอย่างหนึ่ง แตกต่างไปจากเป้าหมายของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

นั่นก็คือ ดำเนินไปในแบบ “เฉพาะกิจ”

นั่นก็คือ เมื่อเกิด “รัฐประหาร” แล้วก็กลับบ้านใคร บ้านมัน

มีความจำเป็นที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจักต้องสรุป มีความจำเป็นที่ กปปส.จักต้องสรุปถึงจุด ร่วมและความสัมพันธ์ในทางการเมือง

ระหว่างการเข้าร่วม “ม็อบ” กับ “การเลือกตั้ง”

เหตุใดความสัมพันธ์ในห้วงที่เคลื่อนไหว กับ ความสัมพันธ์ในห้วงแห่งการเลือกตั้งจึงกลายเป็นคนละเรื่อง แตกแยกไปในแบบคนละทิศ คนละทาง

บทสรุปจาก “ความพ่ายแพ้” จึงทรงความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image