การตีความกฎหมาย : โดย โสต สุตานันท์

สืบเนื่องจากขณะนี้สังคมไทยกำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับสูตรการคิดคำนวณหา ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 91 จึงขอนำแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องการตีความกฎหมายมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยน เผื่อว่าอาจจะมีส่วนช่วยทำให้การตีความบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองเราเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

หลักการสำคัญในการตีความกฎหมายมี 2 ประการ คือ

1.การตีความตามตัวอักษร แยกพิจารณาได้ 3 ประการคือ

• ถ้อยคำภาษาทั่วไป ดูความหมายในพจนานุกรมเป็นหลัก

Advertisement

• ภาษาทางวิชาการหรือภาษาเทคนิค ถือความหมายตามที่เข้าใจในวงวิชาการนั้นๆ

• ศัพท์เฉพาะทางกฎหมายที่ก่อตัวและพัฒนา โดยวิชานิติศาสตร์หรือคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในแวดวงนักกฎหมาย เช่น นิติกรรม โมฆียกรรม ครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

• ถ้อยคำที่กฎหมายประสงค์ให้มีความหมายเป็นพิเศษ ดูคำนิยามศัพท์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

Advertisement

2.การตีความตามเจตนารมณ์ มี 2 ทฤษฎี คือ

• ทฤษฎีอำเภอจิต เห็นว่า สามารถค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายจากเจตนารมณ์ของผู้บัญญัติกฎหมาย โดยศึกษาค้นคว้าจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่บันทึกไว้ เช่น รายงานการประชุมสภา คณะกรรมาธิการ อนุกรรมการ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างคือเจตนารมณ์ของกฎหมาย

• ทฤษฎีอำเภอการณ์ เห็นว่า ต้องค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นเองว่ากฎหมายมีความมุ่งหมายอย่างไร โดยอาจผันแปรไปตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกฎหมายทุกฉบับมีเจตนารมณ์อยู่ในตัวมันเอง

กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามตัวอักษรมีความหมายชัดเจนแน่นอน ไม่อาจแปลเป็นอย่างอื่นไปได้ ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมเป็นไปตามความหมายของตัวอักษรนั้นๆ แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง ต้องยอมรับว่าการใช้ถ้อยคำภาษาของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติ ภาษาใด ย่อมมีข้อจำกัดอยู่ในตัวที่ไม่สามารถเขียนกฎหมายให้มีความหมายที่ครอบคลุมชัดเจนโดยละเอียดทุกเรื่องทุกประเด็นได้

ดังนั้น การตีความกฎหมายส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยหลักการตีความตามเจตนารมณ์ประกอบด้วยเสมอ

เจตนารมณ์สำคัญสูงสุดของกฎหมาย คือ “ความยุติธรรม” การตีความกฎหมายทุกฉบับจึงต้องยึดถือความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง อย่างไรก็ตาม คำว่าความยุติธรรมนั้น มีลักษณะเป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องสัมผัสหรือมองเห็นได้ด้วยสายตา อีกทั้งยังมีปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ ให้ต้องพิจารณามากมาย การที่จะตัดสินชี้ขาดว่าอย่างไรเรียกว่ายุติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องตัวบทกฎหมายที่มีความสลับซับซ้อน มีอำนาจ ผลประโยชน์ ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย แม้แต่เรื่องง่ายๆ พื้นๆ ธรรมดาๆ เช่น พ่อแม่แบ่งส้มให้ลูกสองคนๆ ละครึ่ง ก็อาจมีข้อถกเถียงเรื่องความยุติธรรมได้ ลูกคนโตอาจจะบอกว่า ผมโตกว่าร่างกายต้องการสารอาหารมากกว่า จึงควรจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า ขณะที่ลูกคนเล็กก็อาจจะเถียงว่า ผมตัวเล็กกว่าต้องกินเยอะๆ เพื่อจะได้โตไวๆ

อาจกล่าวได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงความยุติธรรมที่บริบูรณ์แท้จริง ทุกคนทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันและยอมรับโดยดุษฎี ไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านใดๆ เป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะเป็นไปได้คำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่แท้จริงไม่มีในโลก” จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินความจริง ความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นหากจะมีได้ก็คงจะได้แก่ “การให้ความยุติธรรมต่อตัวเอง” ด้วยการนำหลักการแนวคิดแห่งศาสนามาปรับใช้ เช่น การรู้จักปล่อยวาง ให้อภัย มีเมตตา เสียสละ ฯลฯ เป็นต้น

แม้ความยุติธรรมที่บริบูรณ์แท้จริงจะเป็นได้เพียงแค่อุดมการณ์ในฝัน แต่ทุกสังคมก็ต้องพยายามสร้างความยุติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยที่สุดต้องอยู่ในระดับที่ทำให้พออยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทะเลาะขัดแย้ง ต่อสู้แย่งชิง จนถึงขั้นใช้กำลังทำร้ายเข่นฆ่ากันเยี่ยงสัตว์ การตีความกฎหมายของผู้มีหน้าที่บังคบใช้กฎหมายทั้งหลาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในอันที่จะสร้างความยุติธรรมและความสงบสุขให้เกิดมีขึ้นในสังคม

ทฤษฎีการตีความตามเจตนารมณ์ทั้งสองทฤษฎีดังกล่าวข้างต้น มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็งทฤษฎีอำเภอจิตมีจุดแข็งคือ มีความชัดเจนแน่นอนในเหตุผลที่มาของกฎหมายว่า เพราะเหตุใดถึงบัญญัติไว้เช่นนั้น มีเป้าหมายหรือจุดประสงค์เพื่อสิ่งใด

แต่ก็มีจุดอ่อน คือ สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเมื่อกาลเวลาผ่านไป ตรรกะเหตุผลแบบเดิมในขณะร่างกฎหมายอาจโบราณล้าสมัยไม่สามารถสนองตอบต่อเป้าหมายหรือจุดประสงค์ตามที่ต้องการในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ อีกทั้งอาจมีปัญหาบางเรื่องที่ขณะร่างกฎหมายคณะผู้ร่างคาดไม่ถึงหรือไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีนี้กฎหมายได้ตายลงในทันที เมื่อร่างเสร็จมีผลบังคับใช้

นอกจากนั้น ยังมีข้อน่าสังเกตอีกคือ หากผู้ร่างกฎหมายมีเจตนาที่ไม่สุจริตตั้งแต่แรกพยายามหมกเม็ดเล่นกลหรือสร้างกับดักวางแผนโดยมีเป้าหมาย เพื่อสนองตอบซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตนเอง ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถตีความบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม

ส่วนทฤษฎีอำเภอการณ์มีจุดอ่อนคือ ขาดแหล่งอ้างอิงและความแน่นอนชัดเจนในเหตุผลที่มาของกฎหมาย หากไม่ระมัดระวังให้ดีก็อาจกลายเป็นอำเภอใจของผู้ดีความบังคับใช้กฎหมายไปได้ แต่ก็มีจุดแข็งคือ มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ผูกมัดตายตัวอยู่กับเหตุผลของผู้ร่าง สามารถปรับใช้กฎหมายให้มีความเป็นธรรมสอดคล้องสัมพันธ์กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมหรือบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ

ทฤษฎีนี้จะทำให้กฎหมายมีชีวิตหรือจิตวิญญาณ (Spirit) สามารถเจริญเติบโตได้

จากที่กล่าวมาจึงเห็นว่า การตีความกฎหมายที่ดีมีความยุติธรรมสูงสุด ควรนำทั้งสองทฤษฎีมาผสมผสานปรับใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมลงตัว โดยยึดถือหลักที่ว่ากำจัดจุดอ่อนเสริมสร้างจุดแข็ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเราต้องยอมรับความจริงกันว่า ไม่ว่าจะแปลความกฎหมายแบบไหนอย่างไร ย่อมมีทั้งคนได้คนเสีย คนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเสมอ ดังเหตุผลดังที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น

เหนือสิ่งอื่นใดที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทุกคนทุกฝ่ายต้องพึงตระหนักและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด คือ การทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระทั้งจากภายในและภายนอก ภายในคือความเป็นอิสระจากอคติทั้งสี่ อันได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ภายนอกคือ อิสระจากการแทรกแซงสั่งการของผู้มีอำนาจอิทธิพลหรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

การทำหน้าที่อย่างสุจริต เปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา จะช่วยนำพาให้ชาติบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤตและพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะมีผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วยก็ตาม อีกทั้งยังจะเป็นเกราะคุ้มกันภัยตนเองได้ดีที่สุด

การตีความบังคับใช้กฎหมายที่วิปริตแปรปรวน ขาดตรรกะเหตุผลที่ดีที่ถูกต้องชอบธรรมรองรับ ขัดแย้งสวนทางกับความคิดความรู้สึกของวิญญูชนคนส่วนใหญ่ แฝงเร้นด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะส่งผลทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกร้าวฉานและนำพาไปสู่วิกฤตที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 33 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2524 มาฝากเป็นแง่คิด

“…กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย…”

และขออ้างอิงคำกล่าวของลอร์ด เดนนิ่ง (Lord Denning) อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของอังกฤษ มาฝากเป็นข้อเตือนใจ

“Justice is what the right minded members of the community those who have the right spirit within them believe to be fair… ความยุติธรรม ได้แก่ เรื่องที่บุคคลในสังคมซึ่งเป็นบุคคลที่มีเหตุผล มีความรู้สึกผิดชอบ เชื่อมั่นว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม”

โสต สุตานันท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image