สะพานแห่งกาลเวลา : ‘หนังสือ’เล่มแรก ที่ใช้‘เอไอ’เขียน

ภาพที่ผมนำมาลงประกอบไว้นี้คือ หน้าปกของหนังสือ ซึ่ง สำนักพิมพ์สปริงเกอร์ เนเจอร์ ผู้จัดพิมพ์ อ้างว่าเป็นหนังสืองานวิจัยเล่มแรกที่เขียนโดย “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” ที่ใช้เทคโนโลยี “แมชีน เลิร์นนิง”

ผมเห็นเข้าถึงกับตาโต “เอไอ” เขียนหนังสือเล่มเขื่องได้แล้วหรือนี่?

สำนักพิมพ์สปริงเกอร์ เนเจอร์ เป็นสำนักพิมพ์สำหรับงานเชิงวิชาการ งานวิจัย อยู่ในเครือเดียวกับ เนเจอร์ พับลิชชิงกรุ๊ป ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร

หนังสือชื่อ “Lithium-Ion Batteries : A Machine-Generated Summary of Current Research” เล่มนี้ ไม่ได้เป็นงานที่รังสรรค์ขึ้นมาใหม่หมดแต่อย่างใด แต่เป็นไปอย่างที่ชื่อเรื่องบอกนั่นแหละครับ คือเป็นบทคัดย่อของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน แต่เป็นผลงานการคัดย่อที่ “สร้างขึ้นโดยเครื่องจักรกลคอมพิวเตอร์”

Advertisement

เนื้อหามีทั้งเนื้อความโดยสังเขปของงานวิจัยแต่ละชิ้น คำกล่าวอ้างที่ยกมาจากงานวิจัยฉบับเต็ม พร้อมทั้ง “ไฮเปอร์ลิงค์” เพื่อเชื่อมโยงไปยังงานวิจัยที่หยิบมากล่าวอ้างไว้ รวมทั้งข้อมูลอ้างอิงที่สร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน

ฟังแล้วก็ไม่ใช่หนังสือที่มีเนื้อหาที่อ่านเพลินแบบรวดเดียวจบ หรืออ่านปุ๊บติดหนุบหนับวางไม่ลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น

แต่คำกล่าวอ้างที่ว่า นี่คือหนังสือทั้งเล่มที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เขียนขึ้นมา ทำให้กลายเป็นหนังสือน่าสนใจ มีนัยสำคัญขึ้นมาโดยพลัน

เฮนนิง โชเนนเบอร์เกอร์ ตัวแทนสำนักพิมพ์ผู้เขียนคำนำในหนังสือเล่มนี้ (เป็นมนุษย์นะครับไม่ใช่เครื่องจักร) บอกเอาไว้ว่า “หนังสือในทำนองนี้” อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคใหม่ในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์” ได้เลยทีเดียว

โชเนนเบอร์เกอร์ชี้ประเด็นเอาไว้ว่า แค่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น มีรายงานผลงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ   ลิเธียม-ไอออน แบตเตอรี่ ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาทั่วโลกถึงกว่า 35,000 ฉบับ

กลายเป็นความท้าทายมหาศาลหากให้นักวิทยาศาสตร์สักคนไล่ตามอ่านทั้งหมดเพื่อให้สามารถไล่ตามทันความคืบหน้าในด้านนี้ให้ได้ทันท่วงที การใช้ “เอไอ” ที่สามารถสแกนและจัดทำบทคัดย่อผลงานวิจัยเหล่านั้นออกมาได้เอง จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประหยัดเวลาได้มหาศาล เพื่อใช้เวลาที่มีค่าเหล่านั้นไปกับงานวิจัยต่อไป

“ในเวลาเดียวกัน ถ้าหากจำเป็น ผู้อ่านก็สามารถพบไฮเปอร์ลิงค์แล้วคลิกเข้าไปดูแหล่งที่มาซึ่งเป็นต้นฉบับเดิมได้ตลอดเวลา หากต้องการข้อมูลหรือสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมากไปกว่านี้” โชเนนเบอร์เกอร์ระบุเอาไว้

ในเมื่อเนื้อหาไม่ใช่หนังสืออ่านเล่นเพลินๆ ถ้าอย่างนั้นในแง่ของทางวิชาการล่ะ ผลงานของเอไอ ที่สำนักพิมพ์ระบุเอาไว้บนปกว่า “เบต้า ไรเตอร์” เป็นอย่างไร?

เจฟฟ์ บิแกม รองศาสตราจารย์จากสถาบัน ฮิวแมน-คอมพิวเตอร์ อินเทอแรคชัน ของมหาวิทยาลัย คาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ตอบเอาไว้ว่า ก็ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่นัก

บิแกมชี้ว่า การรวบรวมคัดย่อผลงานวิจัยนั้นที่สำคัญก็คือต้องใช้ถ้อยคำที่มีคุณภาพสูง สรุปความได้ชัดเจนและมีความสอดคล้อง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันต่อเนื่อง ถึงจะถือว่ามีคุณค่า

แต่ในหนังสือของเอไอเล่มนี้ยังมีหลายอย่างที่เกินๆ และขาดความต่อเนื่องให้พบเห็นอยู่ไม่ยากนัก คำที่เลือกใช้ก็ไม่ครบถ้วนกระบวนความในเชิงวิทยาศาสตร์เสียทีเดียว

อันที่จริง โชเนนเบอร์เกอร์เองก็อ้างคำกล่าวของ รอสส์ กูดวิน ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีไว้ในบทนำของหนังสือว่า

“เมื่อเราสอนให้คอมพิวเตอร์เขียนหนังสือ คอมพิวเตอร์นั้นๆ ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนเรา เหมือนกับที่เปียโน ก็ไม่สามารถทดแทนนักเปียโนได้เช่นกัน

“ในทางหนึ่ง คอมพิวเตอร์ก็เป็นเสมือนเพียงปากกาของเรา ส่วนเราเองก็กลายเป็นยิ่งกว่านักเขียน เรากลายเป็นคนเขียน นักเขียนทั้งหลายขึ้นมาเท่านั้นเอง”

กล่าวโดยสรุปแล้ว งานเขียนของปัญญาประดิษฐ์ นับถึงตอนนี้ ก็ยังจำกัดจำเขี่ยอยู่มาก งานนวนิยายหรือบทกวีที่เคยมีการทดลองด้วยเอไอ ก็กลายเป็นเรื่องของการสร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ มากกว่าที่จะสร้างสรรค์เงื่อนปมซับซ้อนและเหตุผลลึกซึ้งที่ชวนอ่าน และสร้างความตื่นตาตื่นใจเหมือนกับนักเขียนที่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้ออยู่ดีครับ

นักเขียนทั้งหลาย คงโล่งอกไปได้อีกพักใหญ่เลยทีเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image