สะพานแห่งกาลเวลา : รถยนต์ในอนาคต

(ภาพ AFP)

ระหว่างนี้กำลังมีงานมอเตอร์โชว์ใหญ่โตมากอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่เริ่มกันมาตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาเรื่อยไปจนถึง 25 เมษายนกันเลยทีเดียว

จีนเป็นตลาดใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่บรรดาผู้ผลิตทั้งหลายทั่วโลกให้ความสำคัญ ไปร่วมงานนี้กันคับคั่งพร้อมหน้าพร้อมตา

ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ การที่แนวคิดหรือมุมมองของตัวแทนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันเสียด้วย

เป็นการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของทางการจีน ที่พยายามผลักดันแนวความคิดใหม่ในการใช้รถยนต์ในอนาคต พร้อมๆ กับกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไปด้วยในตัว

Advertisement

ทำให้เห็นได้ชัดเจนอีกครั้งว่า อิทธิพลของตลาดจีนนั้นส่งผลต่อผู้ผลิตทั่วโลกได้อย่างไรบ้าง ด้วยความที่เป็นตลาดใหญ่ กำลังซื้อสูง ทำให้ทุกคนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดมหึมาในจีนด้วยกันทั้งนั้น

ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี ที่เข้าไปอยู่ในงานมอเตอร์โชว์ที่เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้ บอกว่าผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเกือบทุกค่าย มองการผลิตรถยนต์ในอนาคตว่าจำเป็นต้องผลิตออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางแบบ “ออนดีมานด์” ที่กำลังวิวัฒนาการรูปแบบให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ให้ได้ถึงจะสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดจีนได้

รถยนต์ที่ผลิตออกมาในอนาคต จะเป็นเพียงแค่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องมีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ ที่บางคนเรียกว่า “รถหุ่นยนต์” หรือ “โรบอท คาร์” ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา และในเวลาเดียวกันก็สามารถแบ่งปันการใช้รถคันดังกล่าวกับคนอื่นๆ ได้ ตามแนวความคิด “คาร์แชริ่ง” นั่นเอง

Advertisement

ตัวรถก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่นแทนที่จะเป็นรถครอบครัว ก็กลายเป็นรถที่สามารถรองรับผู้โดยสารตัวใหญ่ๆ ได้ เป็นต้น

การผลักดันรถยนต์ตามแนวคิดนี้ของทางการจีน เกิดจากสภาพความเป็นจริงในเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายในประเทศ ที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ นั่นคือสภาพรถราติดขัด การขับรถไปไหนมาไหนด้วยตัวเองกลายเป็นความทรมานประการหนึ่ง มากพอๆ กับเป็นความเสี่ยงที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน ทำให้คนจีนนิยมใช้บริการรถผ่านแอพพลิเคชั่นกันมาก

บริการเรียกใช้บริการรถยนต์ไฮเทคแบบที่เรียกกันว่า “ไรด์-เฮลลิง” ในจีนถึงทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ เฉพาะในปีที่แล้ว อุตสาหกรรมนี้ทำรายได้สูงถึง 28,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากอุตสาหกรรมเดียวกันของทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว

ที่สำคัญ สตาติสตา บริษัทวิจัยข้อมูลด้านการตลาดคาดการณ์ว่ายอดรายได้ที่ว่านั้นจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่าภายในปี 2565 หรืออีก 3 ปีข้างหน้านี่เอง

ผู้ที่ครองตลาด “ไรด์-เฮลลิง” ในจีนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ คือบริษัทจีนที่ชื่อ “ตีตี ซูชิง” ที่นำเอาโมเดลของ “อูเบอร์” มาประยุกต์ใช้ในจีนนั่นเองครับ

ทางการจีนเห็นประโยชน์จากธุรกิจนี้ ทางหนึ่งนอกจากจะลดจำนวนรถบนถนนลง อีกทางหนึ่งก็สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรถ และผลักดันให้เกิดระบบการเดินทางที่ทันสมัยได้

รัฐบาลจีนถึงได้กระตุ้นให้บริษัทผู้ให้บริการทำนอง “ตีตี” มีรถเป็นของตนเอง ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา ตีตีเปิดแผนร่วมมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตทั้งในจีนและในต่างประเทศ รวมทั้ง เรโนลต์, โตโยต้า และโฟล์กสวาเกน ให้ร่วมมือกันกำหนดทิศทางของรถยนต์ในจีนในอนาคต

ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีของจีน อย่างอาลีบาบา กับเทนเซนต์ ก็จับมือกับ

ผู้ผลิตอีกหลายรายเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเดินทาง “ออนดีมานด์” ในอนาคตเหมือนกัน

ตอนนี้ บีเอ็มดับเบิลยูก็เริ่มเปิดให้บริการแบบเดียวกันกับตีตี แต่ใช้รถหรูของตนให้บริการที่เมืองเฉิงตู ส่วนโฟล์กกับเมอร์เซเดสเบนซ์ ก็ชิมลางอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้เช่นเดียวกัน

สเตฟาน โฟลเลนสไตน์ ผู้อำนวยการโฟล์กสวาเกนจีน ถึงได้บอกว่า จะเป็นผู้ผลิตอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องคิดถึงโซลูชั่นทั้งหลายในระหว่างการเดินทาง และการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตไปพร้อมๆ กันด้วย

ทุกคนไม่อยากเสียโอกาส เหมือนกับที่เคยเสียโอกาสให้เรโนลต์ ที่เพิ่งเข้ามาในจีนใหม่ๆ แต่ก็ร่วมทุนกับบริลเลียนซ์ ออโต ของจีน ผลิต “มินิแวน” ตามสั่งของ “ตีตี” ได้รวดเดียว 600 คัน เมื่อต้นปีนี้

ไม่น่าแปลกใจอีกต่อไป ถ้าหากอีกปีสองปีจะมีรถยนต์ไร้คนขับให้บริการในเมืองใหญ่ๆ ของจีนกันจริงครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image