เมื่อประชาชนไม่ต้องการ “รัฐประหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน”ในซูดาน

ก่อนเข้าสงกรานต์ปีนี้ ข่าวการทำรัฐประหารในซูดานกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา เพราะเป็นการทำรัฐประหารที่ยากจะอธิบายถึงทิศทางว่าตกลงการทำรัฐประหารครั้งนี้ “สำเร็จ หรือ ล้มเหลว”

และสุดท้ายการทำรัฐประหารครั้งนี้จะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร

ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่าการติดตามข่าวสารของประเทศซูดานจากคนภายนอกนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก ข่าวในสำนักข่าวต่างประเทศไม่ค่อยมี ในประเทศก็ถูกปิดกั้นอยู่ไม่ใช่น้อย

ซูดาน หรือสาธารณรัฐซูดาน เป็นประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อยู่ติดกับ อียิปต์ ลิเบีย เอธิโอเปีย และซูดานใต้ (ซึ่งเพิ่งแยกตัวเองออกไปเมื่อ ค.ศ.2011 นี้เอง)

Advertisement

ซูดานเป็นประเทศใหญ่อันดับสามของแอฟริกา มีประชากรสามสิบกว่าล้านคน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและเชื่อมต่อกับอิทธิพลและวัฒนธรรมอาหรับ เพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มประเทศอาหรับ ข้ามแม่น้ำแดง

นอกจากนั้นซูดานยังเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมื่อได้รับเอกราช ซูดานมีระบอบการเมืองแบบประธานาธิบดี และมีการเมืองที่ไร้เสถียรภาพและแกว่งไปมาระหว่าง ประชาธิปไตยที่ไม่ค่อยเข้มแข็ง กับระบอบรัฐประหารที่แม้จะครองอำนาจอย่างยาวนาน แต่ก็ลงไม่ค่อยสวย นอกจากนั้นซูดานยังประกาศใช้กฎหมายศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับประชาชนทางส่วนใต้ของประเทศ ที่นับถือความเชื่อท้องถิ่น และคริสต์ศาสนา สงครามกลางเมืองหลายครั้งและความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นำไปสู่การทำประชามติแยกประเทศ ของซูดานใต้ เมื่อปี ค.ศ.2011

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ น่าจะย้อนไปประมาณสัก 30 มิถุนายน ค.ศ.1989

Advertisement

เมื่อนายพล โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการเมืองระหว่างซูดานเหนือและใต้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

นายพลอัล-บาเชียร์ นั้นครองอำนาจอย่างยาวนาน และมือเปื้อนเลือดจากสงครามกลางเมืองหลายครั้ง ที่สำคัญก็คือ สงครามกลางเมืองที่ฝั่งตะวันตกของซูดานในปี 2003 ที่ดาร์โฟร์ (Darfur) และนำไปสู่ความสูญเสียมากมายของประชาชน และข้อหาอาชญากรสงคราม จากศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งการคว่ำบาตรอย่างยาวนานของสหรัฐอเมริกา

ข้อหาอาชญากรสงครามของนายพลอัล-บาเชียร์ นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยในการทำรัฐประหารในรอบนี้ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ ตามที่กองทัพต้องการ

นายพลอัล-บาเชียร์ นั้นอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน เกือบจะสามสิบปีอยู่รอมร่อ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำระดับต้นๆ ของโลกที่อยู่อย่างยาวนานเช่นนี้ และดังที่ทฤษฎีเผด็จการได้อธิบายเอาไว้ว่า เผด็จการที่เน้นตัวบุคคลนั้น มักจะลงไม่ค่อยสวย และเมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ก็ต้องใช้เวลายาวนาน

ส่วนสำคัญที่ทำให้นายพลอัล-บาเชียร์ อยู่ในอำนาจได้นานนั้น อาจจะพูดได้ว่ามาจากเงื่อนไขสองประการ

หนึ่งก็คือ นายพลอัล-บาเชียร์ นั้นได้รับการสนับสนุนจากกองทัพมาอย่างยาวนาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมือง เพราะการแทรกแซงของทหารต่อการเมือง ที่เรียกว่าการทำรัฐประหารนั้น ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่มีการเตรียมการอย่างยาวนาน

นอกจากนั้น การทำรัฐประหาร ยังมีรูปแบบที่หลากหลาย นอกจากการทำรัฐประหารแบบทั่วไป คือ ทหารเข้าสู่การเมือง

ยังมีการทำรัฐประหารประเภทอื่นด้วย เช่น การทำรัฐประหารซ้อน ซึ่งหมายถึงกองทัพที่อยู่ในการเมืองไปแล้วนั้น ทำรัฐประหารอีกครั้ง ในความหมายของความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ทหารเอง ซึ่งเรื่องนี้บางส่วนแย้งกับทฤษฎีการถอยของทหารออกจากการเมือง ที่เชื่อว่า ถ้ากองทัพเกิดความแตกแยกกันเมื่ออยู่ในอำนาจ กองทัพอาจมีแนวโน้มที่จะถอยออกจากการเมือง เพื่อรักษาเอกภาพของกองทัพเอาไว้

การทำรัฐประหารอาจมีอีกประเภทก็คือ ผู้นำรัฐประหารเดิมที่อยู่ในอำนาจการเมืองตัดสินใจทำรัฐประหารตัวเอง เพื่อขจัดกลุ่มบางกลุ่ม หรือนักการเมืองออกจากเครือข่ายอำนาจ เพราะเคลียร์กันไม่ลงตัว

เงื่อนไขที่สองของการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของนายพลอัล-บาเชียร์ มาจากการที่บาร์ซีย์ลงรับเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ.2010 และอยู่ในอำนาจทางการเมืองในแบบนายพลหัวหน้ารัฐประหารที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นแหละครับ เขามาตามกติกาจะไปว่าอะไรเขาได้ และก็มาจากกติกาอีกครั้งในปี 2015 ในการเลือกตั้งที่ฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะร่วมลงแข่งด้วย

ดังนั้น บางประเทศที่เชื่อว่าผู้นำรัฐประหารนั้นเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วจะทำให้ประเทศเดินหน้า และเป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ นั้นไม่ง่ายนัก การที่ผู้นำประเทศนั้นกลายร่างจากการยึดอำนาจด้วยกำลังทหารแล้วจะมาเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่ได้ให้หลักประกันในการทำให้กองทัพถอยออกจากการเมือง และไม่ได้ให้หลักประกันของคุณภาพประชาธิปไตย

การแยกตัวของซูดานใต้เมื่อ ค.ศ.2011 นั้น ทำให้ซูดานนั้นประสบปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจ เพราะน้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของซูดานร้อยละ 75 มาจากทางใต้ สิ่งนี้ถือว่ากระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจของซูดานซึ่งโดนบอยคอตจากสหรัฐ อันเนื่องมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของระบอบบาร์ซีย์ที่ดาร์โฟร์

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และมาตรการของรัฐบาลที่ลดการสนับสนุนประชาชนลงนั้น ท้ายสุดนำไปสู่การประท้วงรัฐบาลอย่างต่อเนื่องยาวนาน และการจับกุมคุมขังผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่าพันคนในเรือนจำ ไม่นับที่เสียชีวิตไปอีกไม่น้อยในการปราบปราม

แม้ว่าสหรัฐจะยกเลิกการบอยคอตซูดานเมื่อปลายปี ค.ศ.2017 แต่เศรษฐกิจของซูดานก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่ หนึ่งเดือนก่อนการลุกฮือของมวลมหาประชาชนในสงครามครั้งสุดท้ายเพื่อขับไล่นายพลอัล-บาเชียร์ เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อในซูดานพุ่งขึ้นถึงเกือบ ร้อยละ 70 และรัฐบาลก็ยังรัดเข็มขัดและลดการช่วยเหลือเรื่องอาหารและน้ำมันกับประชาชน

การชุมนุมประท้วงที่เริ่มจากความไม่พอใจทางเศรษฐกิจถูกยกระดับกลายเป็นการเรียกร้องทางการเมืองให้นายพลบาเชียร์ ออกจากตำแหน่ง ในช่วงแรกนั้นนายพลอัล-บาเชียร์ ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวในการจัดการกับผู้ชุมนุม เช่นการประกาศภาวะฉุกเฉิน การปลดผู้ว่าราชการจังหวัด และใช้คนจากกองทัพเข้าไปนั่งแทนผู้ว่าฯทั้งหมด ต่อมาเมื่อแรงต้านหนักขึ้น นายพลอัล-บาเชียร์ ประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจจนครบเทอมคือปีหน้า และจะไม่ลงเลือกตั้งต่อ แต่ประชาชนก็ไม่เชื่อน้ำคำ เพราะนายพลบาร์ซีย์เคยให้คำสัญญาแบบนี้มาก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น

แกนนำในการชุมนุมในรอบนี้นั้นมาจากสมาคมวิชาชีพแห่งซูดาน (Sudanese Professionals Association) ที่มีแพทย์ และทนายความ นอกจากนั้นคนจำนวนมากที่ออกมาชุมนุมนั้นเป็นผู้หญิง เพราะเริ่มไม่พอใจกับความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม และยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุม

ในวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา การชุมนุมถูกยกระดับ โดยที่มวลมหาประชาชนเคลื่อนพลไปล้อมกองบัญชาการของกองทัพซึ่งอยู่ใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี

แม้ว่ากองทัพจะใช้แก๊สน้ำตาและจับกุมประชาชน แต่ตำรวจไม่เอาด้วย เพราะตำรวจยืนยันว่าการชุมนุมของประชาชนนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ นอกจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ในกองทัพเองจำนวนหนึ่งก็ไม่ต้องการใช้กำลังกับประชาชน ขณะที่สายคุมกำลังทั้งหลายนั้นพร้อมจะจัดหนักกับประชาชนผู้เห็นต่าง

เหตุการณ์การชุมนุมยืดเยื้อมาจนวันที่ 11 เมษายน รัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหาร นายพลอาวัด

อิบิน อูฟ ก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และจับกุมนายพลอัล-บาเชียร์ นอกจากนั้นนายพลอูฟยังให้คำมั่นสัญญาว่า ขอเวลาอีกไม่นาน แค่สองปี จะให้มีการเลือกตั้ง แต่ในตอนนี้ขอประกาศภาวะฉุกเฉินไปก่อนเป็นเวลา 3 เดือน และจะปล่อยนักโทษการเมืองออกมาจากคุก

เรื่องราวไม่ง่ายขนาดนั้น มวลมหาประชาชนไม่ยอมและไม่เชื่อ พวกเขายังปักหลักชุมนุมต่อไป เพราะมองว่านายพลอูฟนั้นเป็นพวกเดียวกันกับนายพลอัล-บาเชียร์ เพราะเป็นทายาททางการเมืองของนายพลอัล-บาเชียร์ และระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านที่อ้างนั้นยาวนานเกินไป (สำนักข่าวบางสำนักอ้างว่า นายพลอูฟได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดีด้วย)

มิพักต้องกล่าวถึงว่านายพลอูฟก็ไม่ได้มีประวัติที่ขาวสะอาด เพราะตัวเองนั้นก็อยู่ในรายชื่อที่ถูกอายัดทรัพย์สินและห้ามเดินทางเข้าประเทศสหรัฐ เพราะนายพลอูฟนั้นเป็นบุคคลสำคัญในการเข่นฆ่าประชาชนในดาร์โฟร์นั่นเอง

และก็ตามคาด สหภาพประเทศในแอฟริกา (African Union) ก็ออกมาประกาศการเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์ต่อซูดาน ด้วยการไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร และกดดันให้คณะรัฐประหารคืนอำนาจให้กับประชาชน เพราะประชาชนมองว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่ทางออก ส่วนหนึ่งเพราะว่าคณะรัฐประหารกับรัฐบาลของนายพลอัล-บาเชียร์ ก็เป็นพวกเดียวกัน อย่างนายพลอูฟนั้น ก็เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่างกรอง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการค้ำยันระบอบอัล-บาเชียร์เอาไว้

เพียงหนึ่งวันของการทำรัฐประหาร นายพลอูฟนั้นก็ต้องลงจากตำแหน่งเพื่อแสดงความจริงใจ และคณะรัฐประหารก็แต่งตั้งนายทหารอีกรายหนึ่ง ซึ่งมีประวัติที่ดีกว่า คือ นายพลอับเดล ฟัตตาห์ อับเดลราห์มัน เบอร์ฮาน ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้บัญชาการทหารบกขึ้นสู่อำนาจเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้มีประวัติที่เปื้อนเลือดเท่ากับนายพลอูฟ ต่อมานายพลอูฟก็ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และบุคคลสำคัญในตำแหน่งความมั่นคงของระบอบอัล-บาเชียร์ ก็ถูกปลดลง โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง และอัยการสูงสุด การจับกุมผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลอัล-บาเชียร์ มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การชุมนุมในนครคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ยังดำเนินต่อไป คณะรัฐประหารพยายามหาทางต่อรองกับประชาชน โดยการลดเวลาเปลี่ยนผ่านลง ปลดข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวพันกับระบอบอัล-บาเชียร์ ออกไป รวมทั้งไม่ให้พรรครัฐบาลของอัล-บาเชียร์ เข้าร่วมในการพูดคุยเพื่อสร้างกระบวนการรัฐบาลปรองดอง (แต่ไม่ตัดสิทธิในการลงเลือกตั้งครั้งหน้า) แต่ประชาชนก็กดดันให้กองทัพยอมให้รัฐบาลเปลี่ยนผ่านนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนมากกว่ารัฐบาลที่บริหารโดยกองทัพ

พวกเขารับไม่ได้และไม่ยอมรับการตัดสินใจแทรกแซงทางการเมืองใดๆ ที่ไม่ได้สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน

อีกเรื่องราวที่ทำให้ความไม่ไว้ใจของประชาชนมีต่อคณะรัฐประหารก็คือ คณะรัฐประหารยืนยันจะดำเนินคดีกับนายพลอัล-บาเชียร์ ในประเทศ โดยไม่ส่งตัวนายพลอัล-บาเชียร์ ไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ และจนป่านนี้ ก็ยังไม่ปรากฏภาพของนายพลอัล-บาเชียร์ ที่ทางคณะรัฐประหารอ้างว่าถูกจับและสอบสวนอยู่ในเรือนจำแห่งหนึ่ง ประชาชนเห็นแต่ภาพของการเปิดโปงทรัพย์สินมหาศาลของนายพลอัล-บาเชียร์ แต่ก็นั่นแหละครับ ใครจะทราบว่านั่นคือทรัพย์สินทั้งหมดจริงๆ ของนายพลอัล-บาเชียร์ หรือไม่

บทเรียนสำคัญของการทำรัฐประหารเพื่อการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ก็คือ การเปลี่ยนผ่านในการครอบงำของกองทัพนั้นเป็นไปไม่ได้ง่ายนัก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการครองอำนาจอย่างยาวนานของนายพลอัล-บาเชียร์ ที่ลากเอากองทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ประชาชนไม่แน่ใจในความจริงใจของทหารว่าจะทำการเปลี่ยนผ่านจริง หรือเป็นเพียงเกมอำนาจภายในของกองทัพกันเอง

เรื่องที่สองคือ บทเรียนจากการลุกฮือโค่นรัฐบาลในอาหรับหลายประเทศ รวมทั้งอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นง่ายๆ ว่าการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการจะเกิดขึ้นเพียงแค่การขับไล่ผู้นำเท่านั้น ผู้นำหลายคนที่ถูกดำเนินคดี ก็มีชีวิตที่สุขสบาย และการเข้าครองอำนาจหลังการโค่นล้มเผด็จการนั้นยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน กว่าประชาธิปไตยจะตั้งมั่นและมีคุณภาพ พ้นไปจากการครอบงำของกลุ่มคนบางกลุ่มที่สุดท้ายก็กลายตัวเองเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นกรณีของ Muslim Brotherhood ในอียิปต์

เรื่องที่สาม การเข้าร่วมของคนรุ่นใหม่ในการต่อสู้ (ทั้งวัย และคนที่เข้าร่วมประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรก) ทำให้การต่อสู้ไม่เป็นเรื่องเพียงแค่การต่อรองอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำ

เรื่องที่สี่ เอาเข้าจริงบทบาทการแทรกแซงจากต่างประเทศนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การทำรัฐประหารนั้นสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ก็มีส่วนลดทอนความชอบธรรมของระบอบรัฐประหารได้ แม้จะไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดก็ตาม อย่างกรณีการไม่ยอมส่งนายพล

อัล-บาเชียร์ ไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็มีส่วนทำให้ความเคลือบแคลงและความชอบธรรมต่อระบอบรัฐประหารใหม่นั้นเกิดขึ้น

เรื่องสุดท้าย กองทัพในหลายประเทศในโลกเมื่อทำการรัฐประหารและมีบทบาททางการเมือง สิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ คือ ไม่เอาตัวเองเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน หรือไม่ประกาศให้ประชาชนเป็นผู้ไม่หวังดีหรือเห็นต่างกับรัฐ การเข้าสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วและไม่สืบทอดอำนาจจึงเป็นเงื่อนไขในการดำรงเกียรติภูมิของกองทัพไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image