ไทยพบพม่า : พม่ากับปักกิ่ง (9)

เน วิน กับหลิว เส้าฉี ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีนคนที่ 2 ภาพถ่ายเมื่อปี 1966

ปักกิ่งให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก (ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย) มาตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือกำเนิดขึ้นในปี 1949 แต่กับประเทศที่มีชายแดนติดกันอย่างพม่า ประเด็นที่จีนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างลับๆ กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ ที่สร้างความเหินห่างและความขัดแย้งระหว่างจีนกับพม่ามาตลอดยุคสงครามเย็น เมื่อใดก็ตามที่เกิดข้อพิพาทขึ้น จีนจะตอบโต้พม่าอย่างรุนแรงผ่านการระดมสรรพกำลัง ทั้งเม็ดเงิน อาวุธ และกำลังคนบางส่วน ให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่านำไปก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลพม่า เหมือนจงใจ “ประชด” พม่า ทัศนคติของนายกรัฐมนตรี เน วิน ที่มีต่อจีนเองก็ไม่ดีนัก ในปี 1970 เน วินเคยเปรยว่าภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่าสมัยใหม่ไม่ใช่กองกำลังของชนกลุ่มน้อยที่กำลังต่อสู้จนยิบตากับรัฐบาลพม่า…แต่เป็นจีนต่างหาก

ตลอดทศวรรษ 1960 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่มีฐานที่มั่นหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดชายแดนจีน มีเหตุปะทะกับกองกำลังรัฐบาลพม่าอย่างต่อเนื่อง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สามารถชนะกองทัพพม่าได้ เพราะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามีความขัดแย้งกันเอง เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในจีนในปี 1966 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ซึมซับแนวคิดการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง นำไปสู่การลอบสังหารแกนนำคนสำคัญๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าระหว่างปี 1967-1968 รวมทั้งผู้นำคนสำคัญที่สุดอย่างตะขิ่น ถั่น ทุน (Thakin Than Tun) ที่ถูกทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์พม่าลอบสังหาร ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กองทัพพม่าเห็นเป็นโอกาสดีจึงปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ติดต่อกันหลายครั้ง ผู้นำกองทัพที่เคยผ่านการอบรมจากปักกิ่งมาอย่างดีถูกจับกุม และเสียชีวิตหลายคน

รัฐบาลเน วิน รู้ดีกว่าการกำราบพรรคคอมมิวนิสต์พม่าผ่านการใช้กำลังเพียงอย่างเดียวไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หลังเน วินเป็นไม้เบื่อไม้เมากับปักกิ่งมานาน เขาเริ่มตกผลึกทางความคิดและแสดงความเป็นมิตรกับรัฐบาลจีนมากขึ้น แม้ทางจีนยังส่งกองกำลังของตนเข้าไปแทรกซึมในพม่าอย่างต่อเนื่อง ในปลายปี 1970 ปักกิ่งส่งกองกำลังมากถึง 9,000 นาย ไปประจำในเขตชายแดนจีน-พม่า และพม่ายืนยันว่าจะวางตัวเป็นกลางต่อไป ไม่เข้าร่วมกับทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต

สัญญาณในเชิงบวกที่เน วิน ส่งไปถึงปักกิ่งว่าทั้งสองชาติควรกลับมามีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนเกิดขึ้นในปี 1970 เมื่อรัฐบาลพม่าส่งนายทหารระดับสูงหลายคนไปเข้าร่วมงานเลี้ยงที่ทูตทหารจีนจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 43 ปีแห่งการสถาปนากองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1966 ที่เน วินส่งสาร ส่วนตัวไปหาโจว เอินไหล เพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 21 ปี ในปีเดียวกันนั้น พม่าส่งเอกอัครราชทูตของตนกลับไปประจำที่ปักกิ่ง และจีนก็ส่งตัวแทนของตนกลับเข้าไปประจำที่ย่างกุ้งในปีถัดมา

Advertisement

ในทศวรรษ 1970 ท่าทีของพม่าต่อสถานการณ์ในโลกและการวางตัวท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วอำนาจดูผ่อนคลายลงมาก หลังการจลาจลระหว่างชาวจีนกับชาวพม่าในปี 1967 ผ่านไป 4 ปี เน วินเดินทางไปเยือนปักกิ่งอีกครั้ง แต่ท่าทีของพม่าในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากช่วงก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง เน วิน พยายามหารือกับโจว เอินไหล หลายครั้ง และให้คำมั่นว่าพม่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของจีนต่อไป ทั้งสองชาติจะกลับมามีความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง หรือ “เป้า พอ” (Puak-Phaw) คงเดิม เน วินพยายามไม่พูดถึงเหตุการณ์การจลาจลในพม่า ที่ทำให้มีชาวจีนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และโจว เอินไหลก็เลือกจะไม่พูดถึงการแอบสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน การหารือระหว่างผู้นำระดับสูงของจีนและพม่าในครั้งนั้นถือเป็นการ “เซต ซีโร่” ในทางการทูต

ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างจีนกับพม่าเกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิตของโจว เอินไหล ผู้เข้ามารับไม้ต่อสานสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศแทนโจวคือเติ้ง เสี่ยวผิง เน วินประทับใจเติ้ง เสี่ยวผิง ตั้งแต่เติ้งยังเป็นรองประธานาธิบดี ถึงแม้ว่าจีนกับพม่าจะกลับมาสานความสัมพันธ์กันอีกครั้ง แต่จีนยังคงให้การช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์พม่าต่อไปอย่างเปิดเผย จนกระทั่งเหมา เจ๋อตุง และโจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 ท่าทีของปักกิ่งต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในพม่าก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำคอมมิวนิสต์สายกลาง เข้ามาเป็นผู้นำประเทศต่อในปี 1978 นโยบายของเขาแตกต่างออกไปชัดเจน และพรรคคอมมิวนิสต์ในพม่า ที่มีผู้นำปวารณาลัทธิเหมามาโดยตลอด ก็เสื่อมความศรัทธาพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้เติ้ง เสี่ยวผิง ไปด้วย

รัฐบาลจีนภายใต้เติ้งทยอยถอนการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็มาถึงจุดจบในปี 1979 ทำให้รัฐบาลจีนกับพม่ากลับมาคบหากันอย่างสนิทใจขึ้น ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเน วินกับเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ดีมาก จนทำให้เน วินเป็นประมุขของประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เพียงประเทศเดียวที่สามารถเดินทางเข้าไปในกัมพูชาในยุคเขมรแดง (รัฐบาลจีนสนับสนุนเขมรแดง) ได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน เติ้ง เสี่ยวผิง ไปเยือนพม่าเป็นครั้งแรก และได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ (อาจจะยิ่งใหญ่กว่าประมุขของรัฐคนใดๆ ที่เคยไปเยือนพม่า) เขาเรียกร้องให้พม่าร่วมกับจีนต่อต้านเวียดนาม สนับสนุนกัมพูชา แต่เน วินไม่รับปากจีนในข้อนี้ เขาเห็นด้วยกับประเทศในอาเซียนอื่นๆ ว่าชาติในอาเซียน รวมทั้งพม่าที่ในขณะนั้นยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในซึ่งกันและกัน

Advertisement

ในยุคของเติ้ง พม่ามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมากกับจีน แต่ปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่ คือยังมีผู้นำในรัฐบาลจีนบางส่วนที่เห็นชอบกับการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า จริงอยู่เมื่อถึงทศวรรษ 1980 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่การสนับสนุนศัตรูของรัฐบาลพม่าชี้ให้เห็นว่าพม่ายังไม่สามารถไว้ใจรัฐบาลจีนได้ทั้งหมด ในช่วงเดียวกันนี้ พม่าประกาศนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง และยื่นข้อเสนอให้กับกลุ่มติดอาวุธ ทั้งที่เป็นชนกลุ่มน้อยและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา สถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้นตามลำดับ แต่ตราบใดที่รัฐบาลทั้งสองประเทศยังหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และยึดมั่นกับผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นหลัก โอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติย่อมเป็นไปได้ยาก

ในสัปดาห์ต่อไป บทความว่าด้วยพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าจะดำเนินมาถึงตอนจบ ทั้งสองประเทศจะประคับประคองความสัมพันธ์กันมาอย่างไรในยุคหลังการล่มสลายของสงครามเย็น ต้องมาติดตามกันต่อ

ลลิตา หาญวงษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image