ดุลยภาพดุลยพินิจ : หากมีรัฐบาลใหม่แล้วการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร

รัฐสภาครั้งนี้จะมี ส.ส. ประเภทที่ไม่เคยมีกันมาก่อน รวมทั้งคนหนุ่มสาว ไม่ใช่เฉพาะแต่อนาคตใหม่ แต่จากพรรคอื่นๆ เช่นประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และยังมีกลุ่มใหม่ๆ เช่น LGBTQ นักเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน ผู้สนใจสิทธิสตรี ผู้สนใจระบบสวัสดิการสังคมสมัยใหม่ รัฐสภานี้จะหลากหลายกว่ากลุ่มแคบๆ ที่เป็นมาในอดีต ซึ่งส่วนมากเป็นชายกลางคน เป็นนักธุรกิจหรือข้าราชการเกษียณ จึงเป็นความท้าทาย

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังทำให้สังคมมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงหลายด้านสูงขึ้นเพื่อให้สังคมก้าวหน้าและสันติสุข

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น เป็นห่วงว่าเราอยู่ในภาวะไม่แน่นอน และเพราะว่าผลการเลือกตั้งกำกวมไม่ชัดเจนสร้างความกังขาและความกังวล เป็นสถานการณ์ที่โอกาสความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้

ผลการเลือกตั้งแสดงว่าทัศนคติของคนในประเทศมีความหลากหลาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เราไม่สามารถ ให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมดได้ เมื่อรัฐบาล คสช. เถลิงอำนาจได้พูดถึงสร้างความปรองดองและนำความสุขมาสู่สังคม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ความขัดกันยังอยู่ ในสถานการณ์เช่นนี้การทะเลาะ โต้เถียง หรือการสร้างสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรม จะยิ่งเกิดความขัดกัน จะดีกว่าถ้าเราพยายามจะเข้าใจกัน

Advertisement

เมื่อเลือกตั้งแล้วทุกกลุ่มมีตัวแทนในรัฐสภา อันเป็นสถาบันสำหรับอภิปรายถกเถียงกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะประนีประนอม ไม่หาเรื่องมาขัดกันเพิ่ม เช่น การใช้กฎหมายเพื่อแก้ความขัดกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วควรจะพูดคุยปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ความขัดนั้น

ความคาดหวังของประชาชนที่จะมีสันติสุขหลังการเลือกตั้ง จึงต้องการการประคับประคองจากทุกฝ่าย ที่จะใช้รัฐสภาเป็นที่สร้างความปรองดองและการตกลงกันนำประเทศก้าวไปข้างหน้า ภายใต้กฎเกณฑ์และวัฒนธรรมของรัฐสภา ไม่เกิดความรุนแรง ไม่รำนอกม่าน ถ้าปฏิบัติได้ ประเทศเราจึงจะก้าวหน้าไปได้ แม้จะค่อยเป็นค่อยไปแต่ดีกว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

นี่จึงเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่ เป็นอย่างมาก

Advertisement

แต่ความปรองดองและสันติสุข ยังขึ้นอยู่กับสถาบันอื่นๆ อีกนอกจากสองสถาบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทหาร

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดังที่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะก้าวหน้าไปไม่ได้อย่างราบรื่น หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ชัดเจนในฐานะทหารอาชีพในด้านการป้องกันประเทศ แต่ไม่ใช่ในด้านการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน ผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ เข้าแข่งขันกันเสนอตัวและนโยบายสนองความต้องการของประชาชนภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดแน่นอน

จากประสบการณ์ของหลายประเทศในโลก พบว่า หากทหารลงมาเล่นการเมือง เป็นอันตรายต่อสถาบันทหารเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรง

แม้จะมีรัฐบาลใหม่ มีรัฐสภาใหม่ที่เป็นความหวังของประชาชน แต่ถ้าสถาบันทหารไม่ถอนตัวออกจากการเมือง สังคมไทยจะอยู่ในกับดักของความขัดกัน และอาจจะไม่สามารถมีสันติสุขได้ดังหวัง หรือไม่

นี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image