ลอตเตอรี่คือภาษีจากคนจน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สองสามวันที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล กับรายได้และลักษณะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน

เรื่องที่ค้นพบไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึงแต่อย่างใด นั่นก็คือ คนจนเล่นหวย คนรวยเก็บออม ตามที่มีการกล่าวกันไว้

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมดหรอกครับ รายละเอียดคือ คนจนเล่นหวยเยอะกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้และค่าใช้จ่าย และออมน้อยกว่าคนรวย

ข้อมูลเมื่อสองปีที่แล้ว ชี้ว่า คนจน (ครัวเรือน) ที่สุด 10% ซื้อสลาก 3.7% และออม 12% ของรายได้

Advertisement

ขณะที่คนรวยที่อยู่ที่ยอดพีระมิด 10% ซื้อสลาก 0.8% และออม 28% ของรายได้ โดยรวมคนไทย 47% ซื้อหวย หรือครึ่งหนึ่งนั่นแหละ (ไม่แน่ใจว่า จำนวนนี้รวมหวยใต้ดินด้วยไหม) และ 9 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนซื้อหวยจาก 3,407 บาท มาเป็น 4,660 บาท คือเพิ่มขึ้นกว่า 37%

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ โอกาสถูกสลากมีเพียง 1.4% (รวมทุกรางวัล) และรางวัลที่หนึ่งนั้น มีโอกาสถูกแค่ 0.0001% (ขณะที่ในมุมคนซื้อ เขาเชื่อว่ามีโอกาสถูก 44%) ซึ่งนี่ก็ถือว่าปรานี เพราะเรามีหวยเลขเดียวกัน 30 ใบ ซึ่งนี่ก็คือที่มาของหวยชุดนั่นแหละครับ และในอีกด้านหนึ่ง หวยใต้ดินมีโอกาสถูกมากกว่าคือ 0.4-2% (คนซื้อเชื่อว่าจะถูกรางวัลเลขท้ายถึง 78%)

มิพักต้องกล่าวถึงว่าการที่หวยใต้ดินนั้นเลือกซื้อเลขได้ด้วย ไม่ต้องถูกโก่งราคาหน้าแผงแบบที่กองสลากตาบอดว่าไม่เคยเห็นการขายเกินราคา

Advertisement

ตัวเลขสุดท้ายที่สำคัญคือ ในปี 2560 นั้น สองสลากมีรายได้ส่งแผ่นดิน 30,947.72 ล้านบาท !!! (ตัวเลขเฉลี่ยที่คนไทยซื้อหวยคือ 250,000 ล้านบาทต่อปี)

ผมขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อน มาชวนคุยเรื่องบางเรื่องจากประสบการณ์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่คลั่งสลากไม่แพ้เราประเทศหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายปีหลังนี้มีข้อถกเถียงเรื่องนี้อยู่มากโดยเฉพาะเมื่อมีรางวัลขนาดมหึมา อันเกิดมาจากการรวมตัวของสลากกินแบ่งของแต่ละมลรัฐ ที่ชื่อว่า Powerball ซึ่งล่าสุดนี้รางวัลอยู่ที่ 166 ล้านเหรียญ และบางช่วงเวลาสูงถึงพันล้านก็มี

และโดยทั่วไป จาก 50 มลรัฐนั้น มีถึง 43 มลรัฐ (บ้างว่า 44) ที่มีการออกสลากเป็นของตนเอง และสลากยอดนิยมก็จะมีทั้งเลือกตัวเลข และ สลากแบบขูด โดยที่สลากแบบขูดนั้นเล่นได้ทุกวัน

ข้อค้นพบสำคัญในสหรัฐอเมริกาก็เกิดขึ้นในทำนองที่คล้ายกับของเรา กล่าวคือคนจนนั้นซื้อสลากกินแบ่งของมลรัฐมากกว่าคนรวย คนที่จนที่สุด 5% ซื้อมากที่สุดและเล่นทุกวัน แต่คนที่พอมีอันจะกินจะเล่นน้อยกว่า คือสักสิบกว่าวันจะเล่นที

นอกจากนั้นมีการค้นพบว่าในบรรดาครัวเรือนที่จนที่สุดนั้น 1/3 ของคนเหล่านั้นซื้อสลากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนสลากทั้งหมดที่ขาย และการซื้อหวยนั้นจะมีมากสุดในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของแต่ละมลรัฐ

รายได้รวมของสลากในสหรัฐในปี 2014 คือ 70.5 billion หรือเจ็ดแสนกว่าล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่ารายได้จากกีฬา ภาพยนตร์ เกม และหนังสือรวมกัน ถ้าคิดเป็นรายหัวก็ประมาณ 300 เหรียญต่อคนโดยประมาณ (ประมาณหมื่นบาท)

ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คนรวยจะเข้ามาเล่น เมื่อรางวัลราคาสูงขึ้น (ถ้าไม่ถูกในงวดนั้น ก็จะทบรางวัลไปงวดต่อไป) แต่คนจนนั้นเล่นทุกงวดหรือเกือบทุกงวด แถมบางแบบเล่นได้ทุกวัน

มีเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวกับความเห็นจากข้อค้นพบดังที่ได้กล่าวมา ส่วนสำคัญก็คือ ความเห็นของนักวิชาการและนักวิเคราะห์วิจารณ์จำนวนไม่น้อยที่พยายามชี้ว่า เราควรต้องตั้งคำถามกับพฤติกรรมของคนจนที่ซื้อหวย ด้วยเหตุผลสองประการ

หนึ่ง พวกเขาไม่มีการศึกษา เขาไม่เข้าใจว่าโอกาสถูกนั้นมีน้อยมาก คนจนวกวนเล่นหวยพวกนี้เป็นพวกเสพติด และคิดเลขไม่เป็นเลยไม่สามารถเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นได้

สอง นอกจากพวกนี้ไม่มีการศึกษาและลงทุนไม่เป็นแล้ว คนจนพวกนี้ก็คือคนที่พึ่งพาเงินสวัสดิการแห่งรัฐด้วย ดังนั้น จึงควรต้องคิดแล้วว่า ตกลงยังควรจะให้สวัสดิการแห่งรัฐกับคนเหล่านี้ไหม เพราะเงินพวกนี้ก็กลับมาที่หวยอยู่ดี เพราะคนจนนั้นจะเอารายได้ของตนที่มีน้อยนิดเจียดมาเล่นหวย ในนามของการลงทุน และถ้าไม่ได้ผลตอบแทน เขาก็จะลงทุนซ้ำลงไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าครั้งหน้าเขาจะถูก เพราะเขาไม่มีความหวังในการลงทุนจากทางอื่น

กล่าวอีกอย่างก็คือ ในทางจิตวิทยา มุมมองของตนเองว่ายืนอยู่ตรงไหนในสังคมนั้นมีผลต่อการซื้อสลาก ยิ่งรู้สึกว่าสิ้นหวัง เข้าไม่ถึงทรัพยากรก็จะยิ่งซื้อบ่อย แม้ว่าแต่ละครั้งจะไม่มาก นอกจากนี้ถ้าคนรอบตัวเล่น และชุมชนนั้นมีเครือข่ายในการเล่น ก็จะยิ่งเล่นมากขึ้น

ความเห็นอีกด้านหนึ่งในเรื่องของสลากนั้นไม่ได้โทษคนจนที่ซื้อสลากซะทีเดียว แต่มองว่า สลากนี้เป็นเสมือนภาษีที่จัดเก็บกับคนจน และเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับภาษีก้าวหน้าที่คนรวยจ่ายมาก

ด้วยว่าสลากนั้นเป็นภาษีคนจนประเภทที่ยิ่งจนยิ่งจ่ายมาก เป็นภาษีเพราะคืนเงินกลับไปให้รัฐบาล ทั้งที่คนเหล่านี้คือคนที่ควรจะต้องได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด

การวิจารณ์ในมุมนี้ชี้ให้เห็นว่า จากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการเกิดสลากในสหรัฐนั้น เกิดขึ้นจากรัฐบาลมลรัฐที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการให้กับพลเมือง และถ้าจะขึ้นภาษี ก็จะเจอวิกฤตความชอบธรรมเพราะจะเสียฐานคะแนนในการได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก

การสร้างสลากขึ้นมาจึงเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดและปลอดภัย ในฐานะการระดมทุนเพื่อจัดการปัญหาในพื้นที่ แถมยังได้รายได้เข้ารัฐอีกต่างหาก

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่รัฐเองก็รู้ดีว่าคนจนนี่แหละคือลูกค้าสำคัญ เคยมีการค้นพบว่า ฝ่ายการตลาดของมลรัฐโอไฮโอนั้นเคยมุ่งเน้นซื้อเวลาโฆษณาสลากไปเจาะกลุ่มคนที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ และข้อความของหน่วยงานรัฐเหล่านี้นำไปสู่การก่อรูปทางทัศนคติว่าสลากนั้นคือทางออกในการพ้นไปจากความยากจนและความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ

มีการศึกษาว่าในสหรัฐนั้น ความเฟื่องฟูและขยายตัวในกิจการของสลากนั้นเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 ที่เศรษฐกิจนั้นถดถอย และการเลื่อนชั้นทางสังคมนั้นทำได้ลำบาก หรือแม้จะมีเศรษฐกิจดี แต่ก็จะตามมาด้วยประเด็นที่จะต้องเผชิญหน้าระหว่างการไม่อยากจ่ายภาษีกับความต้องการสวัสดิการแห่งรัฐ

ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า เหตุผลที่คนจนซื้อสลากนั้น ไม่ใช่ว่าเขาโง่ หรือ คิดเลขไม่เป็นในเรื่องการลงทุน แต่เป็นเพราะว่าเขาเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิถูกเท่ากัน การซื้อสลากนั้นเป็นการลงทุนที่เป็นธรรมที่สุด และเอาเข้าจริงพวกที่เล่นประจำนี้มีความเข้าใจโอกาสในการ

ชนะมากน้อยมากกว่าพวกที่ซื้อสลากขำๆ เล่นๆ เสียอีก แถมเขายังรู้สึกว่าเขาไม่ได้สูญเสียอะไรมาก (จากที่ทุกวันก็สูญเสียมามากพออยู่แล้วกับชีวิต)

ดังนั้น แบบแผนการซื้อสลากของคนจนจึงไปเป็นแนวซื้อน้อย ซื้อบ่อย และเน้นรางวัลไม่มาก แต่โอกาสถูกมาก ก็คงคล้ายๆ กับบ้านเราที่เล่นหวยใต้ดินนั่นแหละครับ คนจนจะไปซื้อสลากของรัฐที่โอกาสถูกน้อยกว่าหวยใต้ดินนั้นก็ใช่เรื่อง

ดังนั้น จะมองว่าคนจนไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนเสียเลยก็เห็นจะไม่ได้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าจากมุมมองของพวกเขาแล้ว เขาเลือกที่จะลงทุนในด้านนี้เพราะมันคือความหวังเดียวที่จะออกจากสภาพรอบตัวเขา ที่ไม่มีหนทางอื่นในการขยับเลื่อนขั้นทางสังคมเศรษฐกิจ

แม้ว่ารายได้จากสลากจะมีส่วนนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม แต่คำถามก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้นทำได้จริงแค่ไหน และทำให้ความยากจนลดลงและระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้มากแค่ไหน

ในส่วนของคำอธิบายที่ว่าการซื้อสลากนั้นจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไรนั้น ในบางประเทศเช่นอังกฤษ มีการสร้างทางเลือกให้ผู้ซื้อสลากเข้าไปเลือกที่จะระบุได้ว่ารายได้จากสลากนั้นจะถูกส่งไปช่วยเหลือมูลนิธิใดบ้าง และมีแผนที่และเว็บไซต์ของมูลนิธิเหล่านั้นให้ศึกษาได้ด้วย

บางกรณีนั้น การสร้างสลากในระดับท้องถิ่นด้วยการอนุญาตจากรัฐบาลกลาง ก็เป็นวิธีหนึ่งของท้องถิ่นที่จะระดมทุนและสร้างความเจริญในท้องถิ่น ดังในกรณีการแพร่กระจายตัวของสลากและการเล่นแบบ Chase the Ace ในบางพื้นที่ของแคนาดาที่มีการเล่นต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ และทำให้มีคนต่างถิ่นเข้ามาเยี่ยมเยือนพื้นที่เพื่อจะเสี่ยงโชค และสร้างปรากฏการณ์สำคัญให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

ส่วนในระดับชาตินั้น ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งยังเชื่อว่าการสร้างสลากนั้นจะเป็นหนทางในการระดมทุนในการพัฒนาได้ อาทิ กรณีนามิเบียที่พยายามศึกษากรณีของศรีลังกาในฐานะตัวแบบแห่งความสำเร็จของรายได้และเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ข้อวิจารณ์ว่าการมีสลากนั้นจะเป็นการพัฒนาโดยใช้เงินคนจนก็ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเขายังกังวล

ในบ้านเรานั้น เรื่องราวของสลากซับซ้อนกว่ามาก เพราะว่ามีหวยบนดิน (สลาก) หวยใต้ดิน และยังมีการทำบุญทำทานประเภทที่เชื่อว่าทำเพื่อเป็นการลงทุนสู่อนาคตอีกมากมาย (อันนี้ไม่ได้หมายถึงการทำบุญในอีกหลากหลายความหมาย) และงานวิจัยแต่โบราณก็ชี้ว่าคนจนนั้นทำบุญบ่อยและทำมากกว่าคนรวยในแง่ของสัดส่วน แถมยังไม่ได้ลดหย่อนภาษีอีกด้วย ทั้งนี้ไม่นับอุตสาหกรรมการใบ้หวยและหาเลขทุกรูปแบบในบ้านเมืองนี้ที่ทำให้คนจนใช้จ่ายในเรื่องนี้อีกหลายทาง

ส่วนจะมองว่ากองสลากฯและการบริหารสลากเป็นรัฐพันลึก และหวยใต้ดินเป็นสังคมพันลึก ก็สุดแล้วแต่มุมมองแหละครับ (ฮา)

ในประวัติศาสตร์ไทยนั้นเรื่องของการออกสลากนั้นมีมานาน สมัยแรกต่างชาติมารับสัมปทาน ต่อมารัฐพยายามทำเอง และออกเป็นครั้งคราวเพื่อการระดมทุนตามวาระพิเศษ จนกระทั่ง 2482 ถือเป็นวันสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีการออกสลากอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด

สิ่งที่ร้อยเรียงมาให้อ่านนี้ น่าจะเปิดมุมมองให้เราได้เห็นกันว่า การที่คนจนเล่นหวย หรือ ซื้อสลากนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจกว่าการมองว่าเรื่องหวยเป็นเรื่องงมงายและคิดไม่ได้ของคนยากจน

แต่ด้วยเงื่อนไขการเมืองเศรษฐกิจและสังคมบางประการนั้น ก็มีส่วนสำคัญทำให้หวยและสลากนั้นดำรงอยู่กันต่อไปในบ้านเราครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image