ผลการเลือกตั้ง : วีรพงษ์ รามางกูร

รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกประหลาดพิสดารอยู่หลายเรื่อง บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรอ เช่น ผลการเลือกตั้ง ซึ่งปกติแล้วพวกเราประชาชนผู้ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งก็จะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการทันที ไม่นานหลังจากปิดหีบเลือกตั้ง ส่วนผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งมักจะไม่มีผลถึงกับเปลี่ยนตัวผู้ชนะการเลือกตั้งกลายเป็นผู้แพ้นั้นมีไม่มาก หรืออาจจะไม่มีเลย ดังนั้นหลังปิดหีบเลือกตั้งพวกเราก็กลับบ้าน รอฟังผลการเลือกตั้งอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์

แต่การเลือกตั้งคราวนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่กฎหมายเลือกตั้งไปกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งบ้าง คุณสมบัติพรรคการเมืองบ้าง กำหนดแม้แต่จำนวนใบปลิวแผ่นพับขนาดกว้างยาว รูปคนนอกคนในพรรคบนแผ่นป้ายหาเสียง ห้ามคนนอกพรรคเข้ามาบงการกิจกรรมของพรรคการเมือง

วุ่นวายไปหมดจนจำกันไม่ได้ว่าอะไรทำได้บ้าง อะไรทำไม่ได้บ้าง มิฉะนั้นจะโดนใบส้มใบแดง ถูกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งๆ ที่ตัวผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็มาจากการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพรรคของรัฐบาล เตรียมการสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป

เมื่อ “ตั้งธง” ว่านายกรัฐมนตรีคนเดิมจะสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยใช้คะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงมาช่วยลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อตั้งรัฐบาลเผด็จการครึ่งใบ ซึ่งก็คงไม่มีปัญหา

Advertisement

เพราะนายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ต้องการเสียงจากสภา
ผู้แทนราษฎรเพียง 126 เสียงก็ได้เสียงข้างมากในการได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว แต่รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา

แม้จะต้องรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสียงก็ยังไม่พอ เดือดร้อนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าประกาศตรงไปตรงมา โดยการใช้สูตรตามที่กฎหมายกำหนดก็เกรงว่ารัฐบาลจะไม่ได้เสียงข้างมากในสภา ถ้าได้ก็จะเป็นเสียงปริ่มน้ำ เสถียรภาพของรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของใครจะต้องกังวล ถ้าจะบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ก็เป็นเรื่องของผู้สืบทอดอำนาจ ความกังวลของ กกต.ดังกล่าวจึงมีความพยายามจะให้ผู้สมัครพรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งได้คะแนนเสียงต่ำกว่า 71,000 คะแนน ได้เป็น ส.ส.เข้าไปลงคะแนนเสียงช่วยรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ด้วย

กกต.ก็ไม่แข็งจริง โอนเอนไปมา ทำท่าเหมือนจะช่วยรัฐบาลในการสืบทอดอำนาจ แต่ไปไม่รอด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถูกบริภาษอย่างรุนแรงและอาจจะถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญา ใจไม่ถึงพอจนต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ ความโกลาหลจึงสงบเงียบลงบ้าง เพื่อรอคอยว่า กกต.จะเสนอสูตรการคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร ก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม คงจะได้เห็นการกระทำแปลกๆ ในการแจกใบแดงใบส้ม

Advertisement

จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าที่สื่อมวลชนก็ดี ผู้คนและพรรคการเมือง ผู้คนที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนการสืบต่ออำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ต้องการเอาหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจอธิปไตยจากประชาชนมาทำการปกครองประเทศเป็นเวลาเกือบ 5 ปี นานกว่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรในหลายประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทุกประเทศทั่วโลกเขามีสิทธิมีเสียงในการเลือกรัฐบาลของเขาเอง ไม่ใช่ถูกกดลงให้เป็นผู้อยู่ใต้บังคับหรือ subject ของรัฐบาลเผด็จการทหาร

ไม่มีเหตุผลอันใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะปิดบังผลการเลือกตั้งเอาไว้ แม้แต่คะแนนของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งกรรมการนับคะแนนแต่ละหน่วยได้ประกาศและมีการเก็บไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้ว

การนับคะแนนเสียงการเลือกตั้งแบบมาราธอนอย่างที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด ผู้คนต่างก็คาดกันได้ว่าจะต้องมีอะไรแปลกๆ ออกมาอีก

การสืบทอดอำนาจโดยฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยหรือมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ การซื้อตัว ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ประมาณตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนเดิมอยู่ในอำนาจต่อไป จึงเป็นปัญหาหลักของระบอบการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบัน

หากฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช.ได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกมาโยนหินถามทาง ถ้าตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบแปลกๆ หรือการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้ขัดรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพราะต้องการให้รัฐบาลฝ่ายทหารที่อาศัยเสียงจากวุฒิสภาเพื่อให้มีความชอบธรรมว่าตนมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร นอกเหนือจากคะแนนเสียงที่มาลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคบริวาร ว่ามีคะแนนเสียงกว่า 8 ล้านคะแนน สูงกว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใดๆ เมื่อผู้สืบทอดอำนาจต้องการความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ผู้ที่เดือดร้อนที่จะต้องตีความกฎหมาย กำหนดสูตรจำนวน ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ การให้ใบเหลืองใบส้มใบแดงใบดำ ย่อมทำให้มีผลต่อการตัดสินใจขององค์กรอิสระต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่องค์กรอิสระที่เคยเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของประชาชน

การที่ทางการยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง จะเก็บไว้ตรวจสอบคุณสมบัติก่อน ถ้าจะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งซ่อมหลายๆ เขต โอกาสที่จะสามารถมีพระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามกำหนดก็อาจจะทำไม่ได้ แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังยืนยันว่าสามารถทำได้ตามกำหนด

การไม่ประกาศผลการเลือกตั้งทันทีในกรณีของประเทศไทย จำไม่ได้ว่าเคยมีหรือเปล่า เมื่อการประกาศผลการเลือกตั้งทอดเวลาออกไปนาน ความรู้สึกก็ดี กระแสความคิดเห็นหรือ public opinion ในเรื่องต่างๆ ก็ย่อมเปลี่ยนไป

การเลือกตั้งซ่อมในบางหน่วยของเขต ผลของการลงคะแนนเสียงอาจจะเปลี่ยนไป กลายเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมอีกแบบหนึ่ง

การที่ กกต.สร้างความสงสัยว่ามีใบสั่งจากรัฐบาลหรือไม่ เพราะความโลเลของตน เพราะความที่ตนไม่มั่นใจว่าตนกระทำการอย่างที่ฝ่ายสืบทอดต่ออำนาจต้องการแล้ว ตนจะอธิบายได้ครบวงจรหรือไม่ เพราะข้อมูลจะเขย่ง อธิบายไม่ได้ กรณีจะคล้ายๆ กับ กกต.ชุดที่ 2 ซึ่งในที่สุดก็ถูกฟ้องและถูกศาลสั่งจำคุก

คณะกรรมการการเลือกตั้งถ้าเชื่อโดยสุจริตว่าสูตรของตนเองถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็ไม่น่าจะต้องเกรงกลัวว่าจะมีการมาฟ้องร้อง “การฟ้องร้องนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ” ถ้าจะต้องตัดสินใจแล้วกลัวถูกฟ้องร้องก็เท่ากับว่าผิดไปครึ่งตัวแล้ว ถ้ายังมีความกลัวอยู่ก็แสดงว่ากำลังคิดอะไรผิดปกติ การดำรงตำแหน่งสาธารณะนั้นต้องไม่กลัวถูกฟ้อง ต้องไม่กลัวใครโกรธ ต้องไม่กลัวถูกกลั่นแกล้งถูกทำร้ายร่างกาย ต้องไม่กลัวอะไรที่จะมากดดันทั้งนั้น

หากรู้สึกว่ามีความกลัวก็ควรลาออกจากตำแหน่งที่จะต้องตัดสินใจไปเสีย เพราะการตัดสินใจในฐานะใดก็ตามที่เป็นประเด็นสาธารณะย่อมมีคนได้คนเสีย คนชอบและไม่ชอบ การตัดสินใจในเรื่องของสาธารณะต้องตัดความรู้สึกรักโลภโกรธหลงและความกลัวออกจากตัว มิฉะนั้นการตัดสินใจดังกล่าวจะไม่เป็นกลางจากความรู้สึก จะทำให้การตัดสินใจผิดพลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความกลัวที่จะพ้นจากตำแหน่ง”

ความกลัวอันหลังสุดหรือความกลัวที่จะพ้นจากตำแหน่ง เป็นความรู้สึกที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำให้งานสัมฤทธิผล ยกตัวอย่างเช่น เคยมีปณิธานว่าจะ “ปราบโกง” หรือปราบคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เมื่อตอนที่ยังทำตามแผนหรือ road map การทำงานก็น่ามีประสิทธิภาพ แต่พอมีความคิดเรื่องจะสืบทอดอำนาจ จุดหมายปลายทางจึงเปลี่ยนจาก “ปราบโกง” มาเป็น “ขอเวลาอีกไม่นาน” ไปเรื่อยๆ แทนที่จะคืนความสุข กลับกลายเป็นกำลังสร้างความทุกข์ให้กับคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

ความแตกแยกก็ดี ความปรองดองก็ดี ความเกลียดชังกันเองก็ดี เกิดขึ้นจากการก่อให้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของฝ่ายทหารกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ปฏิเสธการเลือกตั้ง คว่ำบาตรการเลือกตั้ง การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญในสมัยนั้น มาจนถึงการจัดตั้ง กปปส. ความแตกแยกก็ดี ความเกลียดชังกันก็ดี มาจากการสร้างวาทกรรมเกลียดชังกัน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ภาคเหนือและภาคอีสานก็ยังเลือก ส.ส.จากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ดี

หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีจากวุฒิสภาแล้ว คอยดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image