รัฐบาลเดินหน้า รัฐบาล คสช. รัฐบาล-ปริ่มน้ำ

กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหน้าเดิน

และเดินหน้าไปตาม “โรดแมป”

ของบางกลุ่มบางฝ่ายอย่างชัดเจน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตจำนวน 349 คน ในเย็นวันที่ 7 พฤษภาคม

Advertisement

กระบวนการอื่นๆ ก็ทยอยตามมา

10.00 น. 8 พฤษภาคม

ศาลรัฐธรรมนูญออกแถลงการณ์ กรณีคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

Advertisement

โดยผลการลงมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า

แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียด
หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วน เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

โดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรให้ครบ 150 คนดังปรากฏรายละเอียดตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ (7)

ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคหนึ่งและวรรคสามแล้ว

จึงวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91

จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ออกมาก่อนการประกาศผลรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะตามมาบ่ายเดียวกัน

รายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจะออกมาตามแนวทางที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเคยวางแนวเอาไว้

อันหมายถึงพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าจำนวน “พึงมี” ซึ่งในครั้งนี้คือประมาณ 71,000 คะแนน

จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อด้วย

ส่งผลให้มีพรรคการเมืองจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ทั้งสิ้น 27 พรรค

และพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนมีจำนวน 13 พรรค

อันหมายถึงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วพรรคพลังประชารัฐ

สดใสชัดเจนขึ้น

ประการหนึ่ง นอกจากจะมีรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทยอยลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเตรียมตัวรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาชุดต่อไป

อันจะมีส่วนการเข้ามาร่วมลงมติเลือกตัวนายกรัฐมนตรี

ประการหนึ่ง เสียงของขั้วพลังประชารัฐในสภาผู้แทนราษฎร ก็มีแนวโน้มจะ “เกินครึ่ง” ขึ้นมาได้

นับนิ้วคำนวณก็คือพลังประชารัฐ 117, ประชาธิปัตย์ 52, ภูมิใจไทย 51, ชาติไทยพัฒนา 10

รวมพลังประชาชาติไทย-ชาติพัฒนาที่จับมือกันแน่นเหนียว 8, พรรคเล็กพรรคน้อย 13

เศรษฐกิจใหม่ที่ไม่มีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ 5

และอาจจะมี “งูเห่า” ที่มาจากขั้วเพื่อไทยอีก 5-6 คน

ส่งผลให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขั้วพลังประชารัฐ “น่าจะ” อยู่ที่ 260 บวก/ลบ

อันจะส่งผลต่อการเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร

และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่ถึงกระบวนการหน้าเดินจะเดินหน้าไปเช่นนี้

ก็ยังมีความเสี่ยงหลายประการที่พึงระวัง

ประการหนึ่ง ความสง่างามและความชอบธรรมในฐานะรัฐบาล ที่ต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งและอำนาจ

ไม่ว่าเสียงที่ไม่ได้เลือกมาจากประชาชน หรือการสนับสนุนให้เกิดการ “ทรยศ” ต่อความไว้ใจของประชาชน

ประการหนึ่ง เสถียรภาพอันง่อนแง่นของรัฐบาล “ร้อยพ่อพันแม่” ที่เสียงปริ่มน้ำ

การผูกพันกันด้วยผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ พิสูจน์มาโดยตลอดว่าไม่เคยอยู่ยั้งยืนนาน

ลำพัง “เสียงแตก” ในประชาธิปัตย์พรรคเดียว ก็ล้มรัฐบาลได้แล้ว

ประการหนึ่ง ความหมิ่นเหม่ในทางกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นความกับพรรคการเมืองที่ “เสียงตกน้ำ” ร่วม 1 ล้านเสียง

เพราะสูตรการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

เส้นทางการตั้งรัฐบาลของ คสช. พลังประชารัฐ และพันธมิตร

มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image