ท่ามกลางการเจรจายุติสงครามการค้า ‘ทรัมป์’สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีน 2 แสนล้านเหรียญ โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การเจรจายุติสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐเกิดการพลิกผัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 2 แสนล้านเหรียญอย่างกะทันหัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม

(หมายเหตุ – บทความเขียนวันที่ 9 พฤษภาคม)

ดูประหนึ่งว่า สหรัฐฉวยโอกาสระหว่างการเจรจาใกล้จะสำเร็จ เพื่อให้ฝ่ายจีนถอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะของจีนก็ยังทยอยกันเดินทางไปสหรัฐเพื่อประชุมตามวาระคือ 10 พ.ค.

Advertisement

สอดคล้องด้วยคำพังเพยของจีน “แม้รู้ว่าป่ามีเสือ ก็ยังมุ่งหน้าเข้าป่า”

ทั้งนี้ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการครหาของสหรัฐในกรณีผิดนัดการประชุม

การที่สหรัฐและจีนเปิดการประชุมเพื่อหารือข้อยุติสงครามการค้า ก็เพราะสงครามการค้ามีผลกระทบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในยามที่ผลการเจรจามีความคืบหน้าตามลำดับและใกล้จะสำเร็จ ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมีการตอบสนองที่ดีและกระเตื้องขึ้น สหรัฐคงถือว่ามีต้นทุนมากขึ้น จึงทำการกดดันจีนเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ที่มากขึ้น

Advertisement

หากเป้าหมายการเจรจาอยู่ที่แก้ไขปัญหาความขาดดุล ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่ทำไม่ได้ แต่ถ้าสหรัฐมีเจตนาสกัดกั้นการพัฒนาของประเทศจีน ความแตกแยกก็ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย

เมื่อเดือนธันวาคม 2018 การประชุมสุดยอดระหว่าง “สี จิ้นผิง-โดนัลด์ ทรัมป์” ณ ประเทศอาร์เจนตินา ได้ตกลงยินยอมชะลอการปรับขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าไปพลางก่อน ต่อมาผู้แทนทั้ง 2 ประเทศได้มีการเจรจารวมหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้พูดหลายครั้งว่า การเจรจาดำเนินไปด้วยความ “ราบรื่นอย่างยิ่ง” ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐกระเตื้องขึ้น

การประชุมครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ณ กรุงปักกิ่ง หลังการประชุมเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวแถลงว่า คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

เวลาผ่านไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็กลับคำจากที่เคยพูดว่า “ใกล้เวลาบรรลุความสำเร็จแห่งสัญญาประวัติศาสตร์” กลายเป็น “ไม่พอใจการเจรจา เพราะเกิดความล่าช้า”

จึงสั่งเพิ่มภาษีสินค้าจีนจาก 10% ให้เป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมเป็นต้นไป

ไม่แปลกที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับลำอย่างกะทันหัน เพราะเป็นความกลับกลอกของเขาโดยสันดาน ดูตัวอย่างเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2018 ผู้แทนจีน-สหรัฐได้บรรลุกรอบแห่งการเจรจาทางการค้าไประดับหนึ่งแล้ว ต่อมา “ทรัมป์” ก็ประกาศสงครามการค้ากับจีน

บรรดาสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ “ทรัมป์” ให้ยกเลิก อาทิ

สัญญาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

สัญญานิวเคลียร์สหรัฐ-รัสเซีย “Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty” เป็นต้น

ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างประเทศมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ยังยกเลิก

ส่วนการเจรจายุติสงครามการค้านั้น ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาข้อตกลง

ถ้าจะยกเลิกการเจรจาหรือข้อตกลงใด สำหรับทรัมป์นั้น ก็คือ

“A Piece of Cake” (ทำสำเร็จได้ง่ายมาก)

การดำรงอยู่ของปัญหาการเจรจายุติสงครามการค้าขณะนี้ ไม่ต่างไปจากสภาพการประชุมขั้นสุดยอดครั้งล่าสุดระหว่าง “คิม จอง อึน-โดนัลด์ ทรัมป์” ความเสี่ยงการแตกแยกมีสูงอยู่

“โดนัลด์ ทรัมป์” อาจจะใช้วิธีเดียวเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อ “คิม จอง อึน” เพราะเหตุการณ์ที่ดำรงอยู่ใกล้เคียงกัน ขณะนั้นประชาคมโลกมองว่า อย่างน้อยทั้งสองประเทศก็คงสามารถบรรลุข้อตกลงบางประการ โดยมิได้คาดคิดมาก่อนว่า ต้องเกิดความแตกแยกในปริโยสาน

“โดนัลด์ ทรัมป์” ได้กล่าวหาว่าเป็นความผิดของ “คิม จอง อึน” โดยอ้างว่า เกาหลีเหนือขอให้สหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด สหรัฐยอมรับมิได้

แต่สื่อสหรัฐและเกาหลีเหนือรายงานว่า ความจริงคือทั้งสองฝ่ายได้ทำการทบทวนข้อตกลงความยินยอมและเป็นที่รับรู้ร่วมกันว่า “ทำการปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับมาตรการคว่ำบาตรตามสัดส่วนตามลำดับและตามขั้นตอน”

ทว่า เมื่อถึงนาที “เข้าด้ายเข้าเข็ม” โดนัลด์ ทรัมป์ กลับยื่นเงื่อนไขใหม่ โดยขอให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธทั้งหมด แต่ คิม จอง อึน เห็นว่าสหรัฐมีเจตนาร้าย

ฉะนั้น “คิม จอง อึน” จึง Walk out !

บัดนี้ การเจรจายุติสงครามการค้าก็มาถึงนาที “เข้าด้ายเข้าเข็ม”

“โดนัลด์ ทรัมป์” อ้างว่าต้องการให้สรุปผลเร็วที่สุด แต่ไม่ได้ดังใจ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยมแบบเดิม เหมือนที่เคยใช้กับ “คิม จอง อึน”

ฉะนั้น จึงประกาศให้ปรับขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีน เพื่อข่มขู่กดดันจีนให้ยอมถอยก้าวใหญ่ โดยกล่าวหาว่า “ประเทศจีนมีความประสงค์ให้เริ่มเจรจาใหม่” หากเป็นการปรักปรำ

หลายเดือนที่ผ่านมา สื่อตะวันตกรายงานว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าจีน-สหรัฐเป็นไปในทางที่น่าพอใจ อาทิ จีนซื้อสินค้าสหรัฐมากขึ้น ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายโอนเทคนิค ล้วนดำเนินไปในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ

กล่าวโดยรวมจีนยอมถอยให้สหรัฐเกือบทุกประเด็น เว้นแต่ “รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ” จีนยอมมิได้ เพราะเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ทำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

รัฐบาลจีนเห็นว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจำนวน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในครั้งนี้ ไม่มีเหตุผล การกระทำใดๆ ควรต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย สหรัฐทำได้ จีนก็มีสิทธิทำได้เช่นกัน ตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจาทั้งจีนและสหรัฐเห็นพ้องกันว่า ทันทีที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลง ก็จะทำการยกเลิกมาตรการแห่งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าซึ่งกัน

การประกาศปรับขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในครั้งนี้จึงเป็นการ “ตีปลาหน้าไซ”

ในทางตรรกะ ปีหน้าสหรัฐจะมีการเลือกตั้งทั่วไป วันนี้รีบขจัดเมฆหมอกแห่งสงครามการค้าย่อมเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในการป้องกันแชมป์

แต่เขากลับใช้ “เล่ห์เหลี่ยม” แบบเดิมๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง “มาดนักการพนัน” ของเขาแต่เก่าก่อน ขาดความสง่างามในการเป็นประธานาธิบดีประเทศมหาอำนาจ

อีกประการ 1 ก็ดูเหมือนว่า ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐแข็งตัวขึ้น จึงมีอาการ “เล่นตัว”

หากทบทวนผลกระทบจากสงครามการค้า ประเทศจีนได้รับมากกว่าสหรัฐ ในขณะที่ระบบการเมืองมีความแตกต่างกัน แต่จีนมีความอดทนสูงกว่า สามารถดูได้จากในยามสงครามการค้ากระทบเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อใด “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ยินดีเจรจา แต่เมื่อการเจรจาใกล้แล้วเสร็จ ตลาดหุ้นกระเตื้องขึ้น เศรษฐกิจแข็งตัว ทำเนียบขาวก็ถือว่ามีทุนมากพอที่จะกดดันจีน
ปัญหาจึงเกิด

การเจรจายุติสงครามการค้าได้เกิดการพลิกผันหลายครั้งหลายหน เป็นเหตุให้สังคมมองว่า สหรัฐมิเพียงประสงค์ลดการขาดดุล หากยังเป็นการสกัดกั้นความเจริญเติบโตของจีนอีกด้วย

แม้ว่า “ทรัมป์” ประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าก่อนการประชุมสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมก็ตาม แต่คณะของจีนนำโดย “หลิว เหอ” ประมาณ 100 คน ก็ยังเดินทางไปสหรัฐเพื่อประชุมตามวาระที่กำหนดไว้เดิม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้สหรัฐกล่าวหาว่า “ทำลายการเจรจา”

พออนุมานได้ว่า การเจรจาครั้งนี้ หากสหรัฐเรียกร้องประเด็นที่ไร้เหตุผล เชื่อแซนด์วิชกินได้เลยว่า จีนไม่มีทางยอมถอย เหตุการณ์อย่าง “คิม จอง อึน” ก็ต้องเกิดขึ้นแน่ คือ Walk out !

ทั้ง “หลิว เหอ” และ “คิม จอง อึน” ก็เป็น “ศิษย์เอกเด็กในคาถา” ของ “สี จิ้นผิง” เช่นกัน

เมื่อ “คิม จอง อึน” ทำได้ “หลิว เหอ” ก็ยิ่งต้องทำได้

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image