สถานีคิดเลขที่ 12 : วาระ‘ประชาธิปัตย์’

อาจบางที รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยจริงๆ
พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กำหนดการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เช่นเดียวกันกับการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรคตัวแปร ประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น
ประชาธิปัตย์เลือกหัวหน้า ได้แม่ทัพคนใหม่ชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
กระบวนการต่อสู้ ชิงหัวหน้า สะท้อนภาพการแบ่งขั้ว และความสามัคคีกลมเกลียวภายในชัดยิ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคนนอกแทรกซึม ถือหางแคนดิเดตบางคน
คาดหวัง งานง่ายในภายภาคหน้าอันใกล้
แต่เสียงประชาธิปัตย์แท้ ที่สืบทอดมรดกเจ้าหลักการก็ผนึกแผ่น หนุนส่งอู๊ดด้า หัวหน้าพรรค
สกัดขัดขวาง การขยายอิทธิพลของอดีตคนใน มิให้ขยายใหญ่ ต่อท่อกุมการนำพรรค ชักใย ตัดสินใจอย่างไรก็ได้
การที่เก้าอี้หัวหน้าพรรคอยู่ในมือจุรินทร์ มีเงาร่างบรรดาผู้อาวุโส ผู้ไม่เคียดแค้นแต่รู้เจ็บ รู้จำมิลืมลงทาบทับ
เหตุความตกต่ำวันนี้เกิดจากปัจจัยภายในความไม่เป็นเอกภาพ และการถูกบี้บดในสนามเลือกตั้งอย่างรุนแรงมิเคยปรากฏมาก่อน
ย่อมซึมซาบแก่ใจคนในประชาธิปัตย์

พลันที่ปรากฏเงาร่างจุรินทร์ ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ได้ยากว่า ประชาธิปัตย์จะตอบรับเทียบเชิญ ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐหรือไม่
หรือจะตอบรับ อย่างปฏิเสธ ตั้งเงื่อนไขสูงลิ่ว จนพลังประชารัฐไม่อาจรับได้
เพราะลากยื้อมาถึงขั้น มีอำนาจต่อรองสูงสุดเพียงนี้
หากไม่มีอะไรเป็นเงื่อนไข ก็อาจผิดฟอร์มประชาธิปัตย์ พรรคเจนจัดการเมือง
อย่าลืมเด็ดขาดว่า พรรคนี้ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งการทำประชามติมาแล้ว อีกทั้งยังประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯของพรรคพลังประชารัฐ
หากการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนั้นเล่า ประชาธิปัตย์ก็ถูกขนาบข้าง เผชิญหน้ากับการแข่งขันรุนแรง แบบจัดพิเศษ
ผลปรากฏว่า ได้มาเพียง 52 ที่นั่ง ตกต่ำ ติดฟลอร์
การตัดสินใจว่า จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ จึงอาจไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากต้องมองทางยาว
การกอบกู้ ฟื้นฟูพรรคด้วย
ระหว่างร่วมรัฐบาล กับการเป็นฝ่ายค้าน ฝั่งใดจะเล็งเห็นอนาคตได้มากกว่า ประชาธิปัตย์คงต้องขบคิดหนัก

จริงอยู่การเป็นรัฐบาลนั้นมีด้านดีหลายประการ แต่ก็ต้องตอบโจทย์ วาระการแก้ปัญหาพรรคไปพร้อมๆ กัน
มองในมุมนี้ พรรคแม่พระธรณี ก็อาจต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง หรือหลายอย่าง หากจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ
เพื่ออาศัยใบบุญอำนาจนั้น ทะลุทะลวง สร้างผลงาน สร้างการยอมรับ ซึ่งเท่ากับ การสร้างพรรคให้เข้มแข็งขึ้นมาใหม่
ประชาธิปัตย์ พรรคระดับสถาบันการเมืองเก่าแก่ หากจะเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ จึงไม่น่าเดินเข้าทำเนียบตัวเปล่า แต่หากอาจเข้าด้วยการตั้งเงื่อนไขสูง ที่มิใช่ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีอันเป็นธรรมดาการเมือง การฟอร์มรัฐบาลแบบไทยๆ
แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น
เรื่องที่สามารถพลิกฟื้นพรรคได้อย่างฉับพลันทันที อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย

แต่การเมืองนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน
อย่างที่มักพูดกันว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนเสมอในทางการเมือง
เพราะในขณะที่ประกาศไม่เอาบิ๊กตู่ ประชาธิปัตย์ก็ประกาศไม่ร่วมหอลงโรงกับเพื่อไทยด้วยในขณะเดียวกัน
เป็นเพื่อไทยที่หากพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล เพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ไม่ร่วมรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน
อยู่ฟากเดียวกัน
แต่การจุดพลุเรื่องฝ่ายค้านอิสระก็น่าคิด
หรือว่านี่คือ นวัตกรรมใหม่ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะวางตัวอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ขั้ว?

Advertisement

จะอย่างไรก็ตาม เมื่อประชาธิปัตย์ยังไม่มีคำตอบชัดใดๆ
ความเป็นไปได้ ยังมีทั้งสองทาง
คือรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่ก็รัฐบาลเสียงข้างมากปริ่มน้ำ
แต่พลังประชารัฐได้ฟังการวิเคราะห์ของ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล คงหนาวสะท้าน ร้อนรุ่ม
อดีต ส.ส.กระบี่ชี้ว่า ผลเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เสียงไม่เอาบิ๊กตู่ชนะทุกกระดาน
ทุกกระดานของจุรินทร์ ก็มีจุดยืนเหมือน ชวน หลีกภัย
เฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็ทางเดียวกัน นั่นคือไม่เอาบิ๊กตู่
แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่เอาเพื่อไทยด้วยเช่นกัน
ที่พลังประชารัฐฝัน-มั่นใจลึกๆ ก็อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ฝ่ายค้านอิสระไม่เคยมี ไม่มีอยู่จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image