สถานีคิด : รำลึกพฤษภาฯ : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเกินครึ่งแล้ว มีเหตุการณ์ต่างๆ ให้รำลึกไม่น้อย

อย่างพฤษภาทมิฬ ปี 2534 ที่กลายเป็นจุดจบของคณะรัฐประหารที่ประกอบด้วยนายทหารที่โด่งดังที่สุดแห่งยุคชุดหนึ่ง

เริ่มต้นจากยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง เชิญคนนอกมาเป็นนายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจัดเลือกตั้ง

คณะรัฐประหารยืนยันไม่สืบทอดอำนาจ แต่สุดท้ายยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” รับเป็นนายกฯ

Advertisement

เกิดการชุมนุมประท้วง ทหารเข้าสลาย ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย

สุดท้ายด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ฝ่ายทหาร และแกนนำผู้ชุมนุมยอมถอย เหตุการณ์จึงคลี่คลายไป

พฤษภาฯที่สูญเสียมากกว่า คือการสลายม็อบ 7-19 พฤษภาฯ 2553 ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Advertisement

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประท้วงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบในปี 2551

เกิดการพลิกขั้ว เกิดรัฐบาลใหม่ที่ ปชป.เป็นแกนนำ

กลุ่มสนับสนุนพรรคพลังประชาชนจัดชุมนุมในเดือนเม.ย.2552 ขับไล่รัฐบาล ปชป. ถูกสลาย และกลับมาชุมนุมใหม่ในเดือนมี.ค.ปี 2553

จนกระทั่งเกิดการสลายม็อบในเดือนพ.ค. เสียชีวิต 99 หรือ 100 ศพ บาดเจ็บนับพันคน สื่อต่างชาติเสียชีวิตไป 2 คน บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

ฝ่ายปราบปรามอ้างว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ จึงใช้กระสุนจริงเข้าสลาย ยึดพื้นที่คืน

มีความพยายามเอาผิดกับผู้สั่งใช้ความรุนแรง อัยการฟ้องร้องต่อศาลอาญา ต่อมาในปี 2560 ศาลฎีกาชี้ว่าคดีนี้ต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่ง ป.ป.ช.เคยมีมติไปก่อนหน้านั้น ไม่ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาว่าสั่งการ และเมื่อทาง นปช.ไปยื่นหนังสือให้ฟื้นคดีใหม่

ป.ป.ช.มีมติในปี 2561 ว่าไม่รื้อคดีตามคำขอ

เหตุการณ์ปี 2553 มีรายละเอียดมาก มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย มีผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้หลายแง่มุม แต่ยังไม่ได้ข้อยุติอย่างเป็นทางการว่าใครผิดใครถูก

ก็ต้องเสาะแสวงหากันต่อไป และในเดือนพ.ค.ของทุกปี ก็มีการรำลึกกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปีนี้ด้วย

ส่วนพฤษภาฯที่สดๆ ร้อนๆ มีอายุ 5 ขวบปีพอดี คือ 22 พ.ค.2557 ที่ คสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

คำถามที่เกิดขึ้นตลอดมา คือความคุ้มค่าของการหยุดระบบปกติเอาไว้ ซึ่งยังมีความเห็นต่างกันอยู่ว่า เราได้อะไรเสียอะไรจาก 5 ปีที่ผ่านมา

แต่อย่างน้อยที่สุด ผลเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็บอกกล่าวถึงสาระบางอย่าง

ส่วนจะเชื่อหรือจะฟังกันแค่ไหน อย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image